Healthy Sex EP.01 เซ็กซ์เท่าไหร่ถึงจะพอ(ดี)

25 กุมภาพันธ์ 2020 1,141 ครั้ง

Healthy Sex EP.01 เซ็กซ์เท่าไหร่ถึงจะพอ(ดี)

เรื่องบนเตียงที่ใคร ๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตคู่ ว่าแต่มันต้องมากน้อยแค่ไหน ถึงจะเรียกว่า พอดี ก่อนที่จะมีฝ่ายหนึ่งต้องบอกว่า "พอแล้วววว"

เรื่องบนเตียงที่ใคร ๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตคู่ ว่าแต่มันต้องมากน้อยแค่ไหน ถึงจะเรียกว่า พอดี ก่อนที่จะมีฝ่ายหนึ่งต้องบอกว่า "พอแล้วววว"

 

เพศสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่ แต่ความพอเหมาะพอดี ความพึงพอใจของสองฝ่ายอยู่ตรงไหน ช่วงวัยของคู่สำคัญหรือไม่ มีปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องอีกบ้าง คุยเรื่องนี้กับ ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

  • การมีเซ็กซ์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชีวิตคู่ในทุกช่วงชีวิต ใช่หรือไม่

แต่ละครอบครัวมีพื้นฐานในเรื่องนี้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของชีวิตแต่ละครอบครัว แต่มีความสำคัญเพราะเป็นการสืบเผ่าพันธุ์ของแต่ละครอบครัว หากครอบครัวไหนสามารถจูนเข้าหากันได้ มีเซ็กซ์ได้ตามปกติถือว่ามีความสมบูรณ์ สมดุล และพอดี แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความต้องการไม่สมดุลกันอาจเกิดปัญหาขึ้นมาได้ ในขณะเดียวกันบางครอบครัวอาจยอมรับได้ในความต้องการที่ไม่เท่าเทียมกันก็สามารถอยู่ด้วยกันได้จนแก่เฒ่า จึงต้องมีความเข้าใจในเงื่อนไขของแต่ละคนด้วย

  • เมื่อมีปัญหาเรื่องความต้องการมีเซ็กซ์ ควรจะบอกซึ่งกันและกันไหม

เป็นเรื่องแฟร์มากถ้ามีการบอกกันตรง ๆ ระหว่างสามีภรรยาว่าพร้อมหรือไม่ ทำให้เกิดความสมดุล ดีกว่ายอมตามใจโดยไม่สมยอมหรือปล่อยให้ไปมีเซ็กซ์กับคนอื่น การสื่อสารต่อกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดในครอบครัวคือการไม่สื่อสารกัน

  • คนที่มาปรึกษาคุณหมอเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัว มักจะมีปัญหาเรื่องใด

มีหลายรูปแบบ เช่น ผู้ชายต้องการมากเกินไป ในขณะที่ผู้หญิงไม่พร้อมที่จะมีจึงเกิดความทรมานเวลามีเพศสัมพันธ์ หรือผู้หญิงมีความต้องการแต่ผู้ชายไม่รู้สึกอยากมี หรือต่างฝ่ายต่างไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ นี่แค่ปัญหาของชายหรือหญิง ยังมีปัญหานอกจากนี้อีกเช่น ผู้ชายชอบผู้หญิงแล้วเปลี่ยนใจไปชอบผู้ชาย หรือผู้หญิงชอบผู้ชายแล้วไปชอบผู้หญิงอีกคน หรือไปชอบผู้ชายคนอื่น มีหลากหลายมาก 

  • คู่สามีภรรยา ควรมีเพศสัมพันธ์กันไปถึงเมื่อไร

คู่ที่มีความรักแต่งงานกันเป็นครอบครัวและต้องการมีลูก ความถี่และสม่ำเสมอในการมีเพศสัมพันธ์คือ วันละ 2-3 ครั้งจะเหมาะสมที่สุดในการทำให้เกิดปฏิสนธิขึ้นได้ เพราะอสุจิจะอยู่ในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิงได้ 2-3 วัน ในขณะที่ไข่ของผู้หญิงจะสามารถผสมพันธุ์ได้ 1 ชั่วโมง ถึง 1 วัน เมื่อไรที่มีการตกไข่จะต้องมีการผสมเลย เป็นการสืบเผ่าพันธุ์ตามครรลองที่ธรรมชาติให้ไว้คือมีองคชาตและช่องคลอดที่แมตช์กัน แต่ปัจจุบันมีการทำเด็กหลอดแก้ว อยากเลือกเพศลูก ซึ่งถือเป็นเรื่องนอกเหนือธรรมชาติ 

 

ส่วนเรื่องจะสามารถมีเซ็กซ์ไปได้ถึงเมื่อไหร่ มีได้ตราบเท่าที่ช่องคลอดและองคชาตยังไม่หมดอายุ แต่ธรรมชาติจะสร้างให้ความต้องการทางเพศของคนสูงอายุมีน้อยลงอยู่แล้ว ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดระดูหรือสภาวะวัยทองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ช่องคลอดเริ่มแห้งเวลามีเพศสัมพันธ์อาจเกิดการบาดเจ็บ ทำให้ความต้องการทางเพศของทั้งสองฝ่ายลดน้อยลงไปด้วย แต่สามารถช่วยได้โดยการใส่ฮอร์โมนเพื่อให้ช่องคลอดมีความชุ่มชื้น กระชับมากขึ้น ลดความเจ็บปวดหรือบาดเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ได้ การใช้ตัวช่วยอย่างเจลป้ายที่ช่องคลอดหรือองคชาตก็สร้างความหล่อลื่นหรือชุ่มชื้นได้ การเล้าโลมอาจทำให้ผู้หญิงมีสารคัดหลั่งออกมาได้บ้าง หรือการออรัลเซ็กซ์ก็มีสารหล่อลื่นธรรมชาติอย่างน้ำลายทำให้มีการหล่อลื่นที่ดีได้

  • การหย่อนสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย ต้องมีตัวช่วยอะไรทำให้ดีขึ้นไหม

ทำได้เพื่อความสบายใจแต่ไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าสิ่งที่เป็นยาโด๊ปช่วยได้จริงหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่สารที่กินแล้วเกิดผลเสียแก่ร่างกายก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเสาะหาวิถีธรรมชาติมาช่วย สามีภรรยาต้องมานั่งคุยกันว่ายังต้องการมีเซ็กซ์กันอยู่หรือเปล่า บางครั้งการมีเซ็กซ์ไม่จำเป็นต้องถึงจุดออกัสซัมแต่แค่ได้จูบกอด ได้สื่อถึงความผูกพันต่อกันเป็นสัญลักษณ์ของการมีเซ็กซ์ของทั้งคู่ก็มีความสุขได้แล้ว ในคู่สมรสวัยชราบางคู่สามารถมีความสุข พึงพอใจกับการมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องถึงจุดสุดยอดเลย

  • มีคำแนะนำอย่างไร สำหรับคนมีคู่ที่ต้องมีเพศสัมพันธ์

เซ็กซ์เป็นหนึ่งในกระบวนการในการใช้ชีวิตของคน คนเรามีเซ็กซ์เพื่อการสืบพันธุ์เพียงไม่กี่ครั้งในชีวิต นอกนั้นเป็นการมีเพื่อความสุขให้กับชีวิต การมีเซ็กซ์ที่มีความสุขไม่ได้ลงเอยด้วยการถึงจุดสุดยอดทางเพศเสมอไป แต่เริ่มตั้งแต่การได้แสดงความรักซึ่งกันและกัน ได้สื่อสารด้วยวิธีการต่าง ๆ และการยอมรับของทั้งคู่ว่าต้องการอะไรและพอเพียงพอดีหรือเปล่า คนที่สามารถให้คำปรึกษาในเรื่องเหล่านี้ได้มีจิตแพทย์ หมอสูตินรีเวช หมอศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะที่ส่วนหนึ่งสามารถดูแลเรื่องการไม่แข็งตัวขององคชาตได้

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER