On the Way Home EP.10 ความตายในดินแดนแห่งเสรีภาพ

01 พฤษภาคม 2020 151 ครั้ง

On the Way Home EP.10 ความตายในดินแดนแห่งเสรีภาพ

สถานการณ์โควิด-19 กับความตายที่ลุกลามจนบานปลายอย่างไม่มีใครคาดคิด โดยเฉพาะประเทศที่มีดัชนีความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข อันดับ 1 ของโลก อย่างสหรัฐอเมริกา เหตุใดยอดผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มสูงขึ้นมากขนาดนี้

สหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพที่ได้รับการขนานนามว่ามีมาตรฐานทางการแพทย์ดีที่สุดในโลก ได้รับการจัดอันดับโดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ให้เป็นประเทศที่มีดัชนีความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขอันดับ 1 ของโลก ในขณะที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 6 แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กลับสวนทางกับการจัดอันดับนั้นอย่างมากมาย ในอีพีนี้จะพาไปดินแดนแห่งเสรีภาพ ไปดูความตายของที่นี่ ความตายที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่ามันจะลุกลามบานปลายได้ถึงขนาดนี้

 

เริ่มจากเมื่อวันที่ 24 เมษายน หนุ่มน้อยวัย 23 ที่ชื่อจอห์น มอนเดลโล เป็นพนักงานงานด่วนฉุกเฉินของการช่วยเหลือสถานการณ์โควิด จอห์นทำงานอยู่ที่นั่น เขาเห็นชีวิตแล้วชีวิตเล่าที่ถูกจากพรากไปต่อหน้าต่อตาโดยที่เขาไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย ในการทำงานของเขาทุก ๆ วัน เขาเห็นแต่คนเจ็บและคนตายเต็มไปหมด พอเห็นหนัก ๆ เข้า เขาก็จิตตก ตระหนก และซึมเศร้า จนในที่สุดเขาก็ฆ่าตัวตาย โดยใช้ปืนของพ่อซึ่งเป็นนายตำรวจ

 

จากนั้น ในวันที่ 26 เมษายน ลอร์นา บรีน คุณหมอวัย 48 ของโรงพยาบาลที่นิวยอร์กซึ่งทำงานรับมือกับโควิด-19 ก็ฆ่าตัวตายไปอีกคน ไม่มีการระบุว่าเธอฆ่าตัวตายด้วยวิธีการใด แต่พ่อวัย 71 ของคุณหมอ ขอให้ช่วยเขียนบอกว่าคุณหมอ ลอร์นา บรีน เป็นฮีโร่ พ่อบอกว่า เธอพยายามที่จะทำงานของเธอให้ดีที่สุด แต่งานของเธอกลับฆ่าเธอ คุณหมอลอร์นา เป็นผู้อำนวยการของห้องฉุกเฉิน ติดโควิดจากการทำงาน แล้วก็รักษาจนหาย จากนั้นอีกอาทิตย์ต่อมาเธอก็กลับไปทำงานที่โรงพยาบาลเพราะว่าเป็นห่วงอยากช่วยเหลือผู้ป่วย แต่เนื่องจากว่ายังมีอาการอ่อนเพลียโรงพยาบาลเลยส่งเธอกลับบ้าน แล้วก็สั่งให้เธอพัก 

 

คุณพ่อของคุณหมอ มารับคุณหมอออกจากบ้านที่นิวยอร์กเพื่อพาไปบ้านเกิดที่รัฐเวอร์จิเนีย พ่อของคุณหมอบอกว่า คุณหมอไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคจิตหรือโรคซึมเศร้ามาก่อนเลยในชีวิต และที่ผ่านมาคุณหมอก็เล่าให้พ่อฟังถึงประสบการณ์การทำงานรับมือกับไวรัสโควิด-19 ที่นิวยอร์กว่า ในแต่ละวันเธอพบผู้คนล้มตายมากมาย เรียกว่ายังไม่ทันจะช่วยก็ตายกันแล้วเป็นจำนวนมาก มีศพที่เก็บแบบอัดแน่นในรถหวอ พอเปิดประตูหลังรถกันแต่ละที ศพก็จะทะลักกันออกมา คุณหมอยังเล่าให้พ่อฟังอีกว่า เธอเองซึ่งอายุ 48 ทำงานเป็นหมอมานานหลายปี ไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อนเลย แต่พ่อของคุณหมอก็คงไม่คาดคิดว่า 2-3 วันหลังจากนั้น คุณหมอฆ่าตัวตาย 

 

ทั้ง ๆ ที่คุณหมอได้ชื่อว่าเป็นคนที่ร่าเริง ชอบเต้นระบำซัลซา มีงานใหญ่ทุกปีบนหลังคาตึกที่นิวยอร์กที่เธอพักอยู่ โดยจะมีการเชิญเพื่อน ๆ มาร่วมกันเต้นซัลซา เธอมีเพื่อนเยอะ มีกิจกรรมสนุก ๆ กับเพื่อน ๆ อยู่เสมอ เป็นคนร่าเริงแจ่มใส นอกจากการเต้นระบำซัลซา คุณหมอยังเป็นสมาชิกของคลับสกีหิมะ โดยจะเดินทางไปเล่นสกีทุกครั้งที่มีโอกาส ในขณะที่ทางโรงพยาบาลก็บอกว่า คุณหมอจะไม่ได้รับตำแหน่งบริหารฉุกเฉินสูงถึงขั้นไดเรกเตอร์ของห้องฉุกเฉินเป็นอันขาดหากว่าเธอไม่เก่งจริง ในขณะที่คุณพ่อของคุณหมอก็บอกว่า คุณหมอก็คือเหยื่ออีกหนึ่งรายของโควิดนั่นเอง 

 

นี่เป็นเพียง 2 รายที่ฆ่าตัวตายเพราะความกดดันในหน้าที่การงาน ทางสถาบันจอห์น ฮอปกินส์ ซึ่งติดตามสถานการณ์ตัวเลขของผู้ที่ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาในสหรัฐฯ บอกว่า ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาสูงกว่ายอดทหารที่เสียชีวิตจากสงครามเวียดนามแล้ว ทหารอเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามเวียดนามมีจำนวน 58,220 ราย แต่สงครามเวียดนามใช้เวลาในการสู้รบยืดเยื้อถึง 16 ปี แต่ไวรัสโควิด-19 ใช้เวลาคร่าชีวิตชาวอเมริกันเกือบ 60,000 ราย ภายในเวลาเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น 

 

จากที่เริ่มมีการบันทึกผู้เสียชีวิตรายแรก ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ จากนั้นพอถึงปลายเดือนเมษายน ยอดผู้เสียชีวิตชาวอเมริกันจากโควิด-19 ก็พุ่งสูงขึ้นแซงหน้ายอดผู้เสียชีวิตของทหารในสงครามเวียดนามไปเรียบร้อย แล้วก็มากกว่าทหารอเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามเกาหลีเมื่อปี 2493-2496 ซึ่งมีจำนวน 36,516 ราย เฉพาะเดือนเมษายนมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่นิวยอร์ก 20,000 กว่าคนหรือประมาณ 800 คนต่อ 1 วัน อันนี้ยังไม่นับผู้ป่วยโควิดที่ตายที่บ้านโดยไม่ได้รับการตรวจซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะมีอีกจำนวนไม่น้อย

 

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจำนวนคนตายที่นิวยอร์กจะค่อย ๆ ลดน้อยลงแต่ก็มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการศพ เพราะว่ามีศพมากมายก่ายกองที่ทับถมจนนิวยอร์กหมดที่เผา ไม่มีที่ฝัง มีศพอยู่ที่บ้าน อยู่ในสถานที่เก็บศพ มีแต่ศพที่รอคอยการจัดการ บ้างก็กองอยู่ใต้ถุน บ้างก็เก็บไว้ในห้องรับแขก บ้างก็เก็บไว้ในสำนักงาน แล้วก็เปิดเครื่องทำความเย็นสูง ๆ เพื่อที่จะเก็บรักษาศพเอาไว้ หรือบ้างก็ถูกทิ้งเอาไว้ในรถตู้เย็นเป็นอาทิตย์ ๆ และบ้างก็เน่าอยู่นรถโกดังกลางถนน เช่น ข่าวเมื่อวันที่ 30 เมษายน 

 

สำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างถึง เอบีซีนิวส์ ระบุว่ามีชาวเมืองร้องเรียนว่าได้กลิ่นเหม็นเน่ามาจากรถขนส่งที่จอดหน้าสถานฌาปนกิจ พอมีการไปตรวจสอบก็พบว่ากลิ่นที่ว่านั้น มาจากศพนับร้อยที่เน่าอยู่ในรถคันดังกล่าว ซึ่งเป็นรถที่ทางโรงพยาบาลนำมาจอดไว้ สาเหตุที่เน่าเป็นเพราะว่าปกติแล้วรถจะมีเครื่องทำความเย็น แต่บังเอิญเครื่องทำความเย็นเสีย ก็เลยทำให้ศพที่อยู่ในนั้นประมาณ 100 ศพเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นจนชาวเมืองพากันร้องเรียน รอยเตอร์บอกว่าไม่มีใครทราบว่ามีการเก็บศพอยู่ในรถดังกล่าวมานานแค่ไหนแล้ว 

 

นอกจากนั้นมีผู้เสียชีวิตที่บ้านอีกมากมายที่มีการจัดงานศพที่บ้าน ดังนั้นชาวบ้านชาวเมืองที่อยู่ติดใกล้กับบ้านงานศพ จึงได้กลิ่นเหม็นจากกลิ่นศพเป็นเรื่องปกติ นี้ยังไม่นับปัญหาของการค้นหาศพ คือมีปัญหาว่าญาติหรือครอบครัว หาศพกันไม่เจอหรือบางทีก็สับสนไปหมดว่าศพไหนอยู่ห่อไหน หรืออยู่ในรถคันไหน อยู่สถานที่เก็บศพที่ไหน หรือหากพบแล้วบางทีก็ทำอะไรไม่ได้ เช่น มีกรณีศพของครอบครัวเดียวกัน พ่อ แม่ ลูก ตายไล่เลี่ยกัน เพราะโควิด-19 แต่ศพอยู่กันคนละที่คนละทาง หากันโกดังต่อโกดังจนวุ่นวายเดือดร้อนกันไปหมดทั้งคนเป็นและคนตาย 

 

ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐฯ น่าจะมีจำนวนมากกว่าที่มีการรายงาน เนื่องจากรัฐต่าง ๆ จะนับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรงพยาบาลและบ้านพักคนชราแต่จะไม่รวมถึงผู้ที่เสียชีวิตในบ้าน สถิติระบุว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา เฉลี่ย 2,000 รายต่อวัน ทางด้านมหาวิทยาลัยวอชิงตันระบุว่า จากการสร้างแบบจำลอง น่าจะมีชาวอเมริกันเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากกว่า 74,000 ราย ภายในวันที่ 4 สิงหาคม ซึ่งมากกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่คาดกันไว้ในระดับ 67,600 ราย 

 

ในขณะที่คนอเมริกันล้มตายราวใบไม้ร่วง การประท้วงการต่อต้านล็อกดาวน์ของคนอเมริกันกลับลุกลามไปหลายรัฐมากขึ้น อย่างการประท้วงที่รัฐแอริโซนา กลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคนมองว่าการล็อกดาวน์เป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เป็นการทำลายเศรษฐกิจ ชาวเมืองกลุ่มนี้พากันบุกไปที่ศาลากลางของรัฐ อยากให้เลิกการล็อกดาวน์ แต่ปรากฎว่ามีนางพยาบาล 5 คน สวมชุดสครับ (ชุดสครับคือชุดปฏิบัติงานในห้องผ่าตัดอาจจะมีสีเขียวหรือสีฟ้า) แล้วก็สวมหน้ากาก N95 ออกมายืนขวางกลุ่มผู้ประท้วงที่หน้าศาลากลาง นางพยาบาลทั้ง 5 คนยืนเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ประท้วงด้วยวิธีอหิงสา คือไม่ตอบโต้แต่ก็ไม่ถอย กลุ่มผู้ประท้วงก็พยายามยั่วยุนางพยาบาลเหล่านี้ เรียกพวกเธอว่าไวรัสบ้าง บอกว่าเป็นพยาบาลปลอมบ้าง บอกว่าเป็นนักแสดงที่ทางรัฐจ้างมาบ้าง แต่จริง ๆ แล้วพวกเธอคือพยาบาลจริง ๆ 

 

หนึ่งในนั้นมีอยู่คนหนึ่งชื่อว่า ลอเรน ลีนเดอร์ เป็นพยาบาลอยู่ที่ Banner UniversityMedical Center ซึ่งอยู่ห่างจากจุดชุมนุมประท้วงประมาณ 6 กิโลเมตร ลอเรนบอกว่าเธอกับเพื่อน ๆ มาที่นี่เพื่อจะแสดงจุดยืนที่จะปกป้องผู้ป่วยและคนในสังคมที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือว่ามีโรคประจำตัว ซึ่งมีความเสี่ยงในการที่จะเสียชีวิตสูงถ้าติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา ลอเรนบอกว่าทุกวันนี้เธอกับเพื่อน ๆ ต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง แต่เธอก็ยินดีที่จะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ขอแค่ให้ประชาชนเข้าใจการทำงานของทีมแพทย์ แล้วก็ให้ความร่วมมือเท่านั้นเอง ภาพของลอเรนที่ยืนประจันหน้ากับชายผู้ประท้วงร่างใหญ่ กลายเป็นภาพที่มีการเผยแพร่ไปทั่วโลก 

 

ไม่น่าเชื่อจริง ๆ ว่านี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีความมั่นคงปลอดภัยทางสาธารณสุขอันดับ 1 ของโลก ดินแดนที่ได้ชื่อว่า ดินแดนแห่งเสรีภาพ ดินแดนแห่งโอกาส ดินแดนที่มีความสามารถในการรับมือกับโรคระบาดได้ดีที่สุดในโลก แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสหรัฐอเมริกา 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจากรอยเตอร์ / เอบีซีนิวส์ / เฟซบุ๊ก คุณกิจจา บุรานนท์ / เพจ Poetry of Bitch

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

OTHER