ปลดล็อกกับหมอเวช EP.11 ทักษะคิดเพื่อนำทางชีวิตสู่โลกหลังโควิด19

07 พฤษภาคม 2020 80 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.11 ทักษะคิดเพื่อนำทางชีวิตสู่โลกหลังโควิด19

ช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น เราก็ต้องปรับตัวไปด้วย ซึ่งในการนำทางชีวิตแบบนี้จำเป็นต้องมีเครื่องมือทางความคิดมาช่วย

6 ทักษะคิดเพื่อนำทางชีวิตสู่โลกหลังโควิด-19

 

ทักษะคิดที่ 1 คิดเป็นฉากทัศน์ 

 

การคิดเป็นฉากทัศน์ หรือ Scenario Thinking เป็นเหมือนเรารวบรวมศึกษาข้อมูล เติมจินตนาการลงไปนิดนึง แล้วสร้างภาพความเป็นไปได้ในอนาคตซึ่งยังไม่แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เราพยายามวาดให้ครอบคลุม เพื่อสร้างความตระหนักว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง จากนั้นเราก็จะวางตัวเองถูก ว่าในความไม่แน่นอน เราจะเตรียมตัวยังไง ทั้งนี้เพื่อที่จะลดความไม่แน่นอนและสร้างการเตรียมพร้อมกับการรับสถานการณ์ในอนาคตได้ดีที่สุด

 

เวลาเจอกับสิ่งที่ไม่แน่นอน อย่าฟูมฟายหรืออย่าจมไปกับความทุกข์ใจ ให้ถอยมามองว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง อาจเอาข้อมูลมาเรียบเรียงด้วยการเขียนบันทึก วาดภาพ จะช่วยให้เห็นมุมมองรอบด้านมากขึ้น เตรียมการที่จะเดินไปบนเส้นทางที่ไม่แน่นอนได้ดีขึ้น พร้อมกับเติมความยืดหยุ่นเผื่อว่าสถานการณ์พลิกผัน เราจะจัดการยังไง

 

ทักษะคิดที่ 2 คิดวิเคราะห์ จำแนก แยกแยะ

 

การหยิบเอาข้อมูลมาวิเคราะห์แยกแยะก็เพื่อที่จะไปปะติดปะต่อภาพทักษะคิดที่ 1 คำแนะนำ คือเกาะติดวงการวิชาชีพของท่าน แล้วลองตามบทวิเคราะห์สำคัญจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ อย่าหยุดค้นคว้าและเรียนรู้ อย่าเชื่ออะไรเร็ว ให้ฟังหูไว้หู จากนั้นพอได้ข้อมูลมาค่อยปะติดปะต่อภาพเพื่อดูว่าภาพฉากอนาคตที่วาดไว้ต้องปรับไหมจากข้อมูลใหม่ ๆ ที่ได้รับมา เพราะตลอดเส้นทางในอนาคตจากวันนี้จะมีข้อมูลใหม่ ๆ มาเรื่อย ๆ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจวางแผนชีวิตของเรา

 

ทักษะคิดที่ 3 ปรับมุมมองจากผู้ถูกกระทำเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตตัวเอง

 

ในสถานการณ์แบบนี้อย่ามองสิ่งที่เกิดขึ้นในมุมของผู้ถูกกระทำหรือผู้ตกเป็นเหยื่อ เพราะจะทำให้ท้อใจ ไม่มีพลัง จริงอยู่ที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วกระทบเรา แต่ถ้าเราเชื่อว่า เป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง เราคือผู้รับผิดชอบชีวิต ละทางเลือกที่เราจะตัดสินใจ เราจะตั้งคำถามใหม่ว่าเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น เรามีทางเลือกอะไรบ้าง การปรับมุมมองจะทำให้เรากล้าที่จะใช้ทักษะคิดใน 3 ตัวต่อไป

 

ทักษะคิดที่ 4 คิดแบบนักวิทยาศาสตร์

 

คือดูข้อมูล ตั้งสมมติฐาน แล้วทดลองทำ เวลานักวิทยาศาสตร์ทำการทดลอง ผลสำเร็จก็ถือเป็นผลอย่างหนึ่ง ผลไม่สำเร็จก็ถือเป็นผลอย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างล้วนเป็นข้อมูลประกอบว่าจะเดินหน้าต่อยังไง การทดลองล้มเหลว แต่ตัวเราไม่ได้ล้มเหลว

 

ตลอดระยะเวลาข้างหน้านี้ เราอาจมีการลองผิดลองถูก แม้จะมีความเสี่ยงเป็นเดิมพันด้วยเรื่องของรายได้และความอยู่รอด แต่ความคิดเช่นนี้จะทำให้เรามีจิตใจของการต่อสู้ ไม่ถูกบั่นทอนเวลาที่เราทำแล้วไม่สำเร็จ แต่เราจะทดลองยังไงให้ปลอดภัย หลักคิดในเรื่องนี้คือ หากจะทำธุรกิจหรือปรับสภาพอะไรก็ตาม พยายามทำการทดลองที่ใช้เงินและเวลาให้น้อยที่สุด เมื่อมีสัญญาณที่ดี ค่อยใช้พลังงานและทรัพยากรไปลงให้มากขึ้น 

 

ทักษะคิดที่ 5 คิดแบบเลโก้

 

เลโก้ คือตัวต่อ ซึ่งตัวต่อนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เรามาต่อเป็นตัวอะไรก็ได้ หลักคิดก็คือ การถอดทักษะความรู้ออกมาเป็นชิ้น ๆ ว่าเราทำอะไรได้บ้าง โดยไม่สนใจว่าจะต้องทำงานอะไร แค่บอกว่าเราทำอะไรเป็น จากนั้นเราก็มองว่าตลาดมีความต้องการอะไรบ้าง แล้วเราก็หยิบเอาชิ้นส่วนที่เราทำเป็นมาประกอบโดยที่ไม่จำเป็นต้องประกอบแบบเดิม

 

ข้อดีของวิธีคิดแบบเลโก้ คือ เราจะทิ้งความเป็นตัวตนของเราที่ผูกติดกับลักษณะงานที่เคยทำ เพื่อหาโอกาสทำงานในลักษณะใหม่ แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วยังต้องเติมทักษะบางอย่างเข้าไปด้วย แต่อย่างน้อยเราจะรู้ต้นทุนที่เรามีอยู่

 

ทักษะคิดที่ 6 เชื่อว่าในทุกวิกฤติมีโอกาสแฝงอยู่เสมอ

 

ทันทีที่เราเชื่อเช่นนี้ เราจะไม่ติดกับความเป็นตัวเราในแบบแข็งตัว เราจะจัดการตัวเอง กล้าคิดกล้าลอง หัวใจสำคัญ คือ ต้องดูแนวโน้มว่ามีความต้องการอะไรเกิดขึ้นใหม่ เรามีต้นทุนอะไรที่จะไปเกาะกระแสให้เป็นประโยชน์กับการเปลี่ยนแปลง และต้องมีการพัฒนาทักษะ ต้องเชื่อว่าเราเรียนรู้ได้และพัฒนาได้ 

 

ความคิดทั้ง 6 ทักษะนี้ หวังว่าจะเป็นเครื่องมือทางความคิดให้นำไปใช้ประโยชน์นำทางชีวิตในช่วงหลายปีข้างหน้านี้ได้ เป็นกำลังใจให้จริง ๆ

 

 


ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER