Money and the Family EP.10 9 มุกการเงิน ที่คนไทยมักโดนต้ม

12 พฤษภาคม 2020 253 ครั้ง

Money and the Family EP.10 9 มุกการเงิน ที่คนไทยมักโดนต้ม

ในช่วงเวลาวิกฤติมักเป็นช่วงเวลาที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสสร้างเรื่องก่อภัยทางการเงินให้กับบุคคลทั่วไป

Money and the Family อีพีนี้ได้รวบรวมข้อมูลการหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ มีอะไรบ้าง มาติดตามกัน

 

9 มุกมิจฉาชีพหลอกลวงการเงิน

 

1. หลอกลงทุนโดยอ้างว่าจะให้ผลตอบแทนสูง 

 

การหลอกลวงพวกนี้จะมีการให้ผลตอบแทนทั้งเป็นรายเดือนไปจนถึงรายสัปดาห์ บางแห่งก็เป็นรายวัน การลงทุนโดยปกติจะไม่มีการรับประกันผลตอบแทน คำว่ารับประกัน คือการบอกว่าจะได้เท่านั้นเท่านี้ อันนี้ไม่ใช่แน่ ๆ แล้วถ้ายิ่งให้ผลตอบแทนสูง ๆ ต้องระวัง ผลตอบแทนที่พอจะทำกันได้จริงในระยะยาว เฉลี่ยประมาณ 8 % ถึง 10 % ต่อปีพอเป็นไปได้ เว้นถ้าเราเจอ 5 % ต่อเดือน 10 % ต่อเดือน 3 % ต่อวัน อันนั้นเป็นเรื่องการหลอกลวงค่อนข้างแน่นอน

 

2. อ้างว่าช่วยเรื่องสินเชื่อได้

 

คนพวกนี้จะหาทางทำให้เราเชื่อว่าเป็นคนที่อยู่ในสายธนาคาร อยู่ในแหล่งสถาบันการเงิน มีความสามารถพิเศษที่จะช่วยให้กู้ผ่านหรือกู้ได้ง่ายขึ้นเพียงแต่อาจต้องมีค่าธรรมเนียมหรือค่าดำเนินการสักเล็กน้อย ก็ขอเรียกเก็บก่อน พอเราไปยื่นจริงไม่ผ่าน เราก็ตามเขาไม่เจอ 

 

3. หลอกให้รัก หลอกให้หลง หลอกให้โอนเงิน

 

การหลอกลวงเรื่องพวกนี้สามารถหลอกผ่านโซเชียลมีเดียได้โดยไม่ต้องเจอกันเลย มีเคสหนึ่งเป็นคนที่ลงทุน แล้วก็โพสต์เรื่องการลงทุน เขียนเรื่องการลงทุนที่เขากำลังเรียนรู้อยู่ ปรากฏว่ามีคนมาเห็นก็มาพูดคุย ทำท่าทีให้คำปรึกษา มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พอพูดคุยกันบ่อย ๆ ก็เกิดเป็นความสนิทสนม แล้วก็ชักชวนไปเปลี่ยนที่ลงทุน จากที่เคยลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งเป็นที่ที่ถูกต้อง มีการตรวจสอบได้ ก็ชวนออกไปลงทุนต่างประเทศ สุดท้ายเสียหายถึง 3 ล้านบาท จบด้วยความเศร้า สูญเสียทั้งเงินและความรู้สึก รูปแบบอื่น ๆ ที่เห็นในลักษณะการหลอกแบบนี้ คือ มาทักทายตีสนิท พูดคุยขอความช่วยเหลือผ่านทาง Facebook ผ่านทาง Line ก็ต้องระมัดระวังด้วย

 

4. ใช้มุกแลกกับเงินก้อนโต

 

ความหมาย คือ เขาเดือดร้อน เขามีทองอยู่เส้นหนึ่ง หรือมีเช็คอยู่ใบหนึ่งแต่ว่ายังขึ้นเงินไม่ได้ เลยอยากให้เราช่วยซื้อหรือโอนเงินมาให้ก่อน เช่น มีเช็คอยู่ใบหนึ่ง 50,000 บาท แต่ตอนนี้ยังขึ้นเงินไม่ได้ ต้องขึ้นเงินปลายเดือน แล้วก็ให้เราช่วย ขอแค่ 30,000 - 35,000 แล้วก็ให้เราถือเช็คไว้

 

อีกรูปแบบที่เจอบ่อย คือ อีเมล อ้างว่ามาจากห้างสรรพสินค้า มาจากสถาบันการเงิน ถ้ามาจากห้างสรรพสินค้าก็จะบอกว่า คุณโชคดีได้รับสิทธิ์อะไรบางอย่าง แต่มีค่าธรรมเนียมในการจัดการ ให้โอนเงินมาก่อน แล้วก็ขอที่อยู่อ้างว่าจะส่ง voucher เข้ามาให้ 

 

5. ร้านค้าปลอม

 

อาจมีการโพสต์ขายสินค้าที่กำลังได้รับความนิยมแล้วขาดตลาดในราคาพิเศษ แต่เป็นแบบพรีออเดอร์ หลอกให้โอนเงินเข้ามาทั้งจำนวนหรือบางส่วน ซึ่งร้านค้าปลอมแบบนี้มักจะเป็นร้านที่ไม่ได้อยู่ในแอปที่มีการควบคุม หากอยู่ในแอปเหล่านั้น ก็อาจทำให้พอตรวจสอบได้บ้างว่าความน่าเชื่อถือของร้านค้าออนไลน์มีมากน้อยแค่ไหน

 

6. ผู้ซื้อปลอม

 

คือ ส่งสลิปปลอม สลิปที่หลอกลวงว่าโอนเงินให้แล้ว แล้วก็หลอกเอาของไป ข้อ 5 ข้อ 6 เป็นลักษณะที่คล้ายกันแต่ว่าคนละด้าน ถือเป็นมิจฉาชีพทั้งสองฝั่ง ถ้าคุณเป็นร้านค้าก็ต้องระวังขณะเดียวกันคนที่เป็นผู้ซื้อก็ต้องระวังด้วยเหมือนกัน

 

7. หลอกขอข้อมูลส่วนตัว

 

อาจปลอมเป็นธนาคารแล้วติดต่อมาขอข้อมูลส่วนตัว อ้างว่าข้อมูลของคุณถูกเจาะ ถูกเข้ามาใช้บริการผิดวิธี หรืออะไรต่าง ๆ เลยขอทวนสอบข้อมูล ต้องบอกว่าถ้ามีการติดต่อการเงินหรือเกี่ยวกับบัญชีของเรา สิ่งที่ควรทำ คือ โทรไปที่ Call Center แล้วตรวจสอบ เพราะฉะนั้นเบอร์โทรศัพท์ เบอร์บัญชีต่าง ๆ ของธนาคาร ควรเก็บไว้ในที่ที่สามารถหยิบจับตรวจสอบได้ง่ายทันที กรณีที่มีการติดต่อเรื่องลักษณะแบบนี้เข้ามา

 

8. ขโมยบัตรเครดิต/บัตรเดบิต

 

บัตรเครดิต/บัตรเดบิต แค่เอาข้อมูลหน้าบัตร คือ เลขบัตรเครดิต ชื่อ-นามสกุล วันหมดอายุ ชื่อธนาคาร และรหัสลับพิเศษด้านหลัง ถ้ารู้ทั้งหมดนี้ก็สามารถเอาข้อมูลไปซื้อของออนไลน์ได้หมดเลย ที่บ้านเรายังไม่ค่อยปลอดภัย เพราะเวลาเราจะจ่ายจะซื้ออะไร เราต้องส่งบัตรเครดิตให้กับพนักงานเพื่อไปดำเนินการ จริง ๆ แล้วในเมืองนอก บัตรเครดิตจะไม่ได้ออกจากมือเราเลย พนักงานมีหน้าที่แค่หันเครื่องมา แล้วเราก็เป็นคนเสียบบัตรเครดิตเข้าเครื่องด้วยตัวเอง ถ้าให้ดีอาจสมัคร Mobile Banking ไว้บ้าง เวลารูดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตก็ให้มีข้อมูลเตือนเข้ามาที่มือถือ ซึ่งตรงนี้ถ้ามีข้อมูลแปลก ๆ ก็ทำให้เราตรวจสอบได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

9. อ้างเป็นคนรู้จักผ่านช่องทาง Social Media 

 

เพื่อนของเราอาจถูกแฮ็กใน Facebook หรือถูกขโมย Line มาใช้ เวลามีข้อมูลเพื่อนส่งเป็นข้อความมาว่าตอนนี้เดือดร้อน อยากได้ความช่วยเหลือ ก็ลองเช็กกับเพื่อนเราดูก่อนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร 

 

ในส่วนของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย มีเบอร์โทรติดต่อคือ 1213 ถ้ามีปัญหาโทรไปปรึกษาได้ ทางศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินได้มีการจัดอันดับ “3 ช่องทางการเงินที่ถูกแอบอ้างเพื่อหลอกลวงมากที่สุด

 

1. เงินฝาก เงินโอนหรือเช็ค จะเป็นลักษณะหลอกให้โอนเงินเพื่อแลกกับเงินก้อนโต

 

2. บัตรเครดิต เป็นลักษณะของการปลอมแปลงบัตรเครดิต หรือนำข้อมูลบนบัตรไปซื้อของ ไปใช้จ่ายแทนเรา

 

3. สินเชื่อ มีการหลอกให้โอนเงินโดยอ้างว่าจะช่วยให้ได้สินเชื่อในแบบที่ต้องการ

 

ทั้งหมดทั้งมวล คือเรื่องราวทางการเงินในอีกด้านนึง เป็นด้านของภัย เป็นด้านของผลกระทบซึ่งจะสร้างภาระทางด้านการเงินให้กับเรา ฉะนั้น ระมัดระวังกันให้ดี ในช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้ คนจะใช้ทั้งความโลภและความกลัวของเรามาเป็นเครื่องมือในการเล่นงาน แล้วก็ทำให้เราสูญเสียเงินทองได้

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER