Money and the Family EP.12 รอด ร่วง เช็กสุขภาพการเงินอีกครึ่งปีหลังโควิด

26 พฤษภาคม 2020 61 ครั้ง

Money and the Family EP.12 รอด ร่วง เช็กสุขภาพการเงินอีกครึ่งปีหลังโควิด

ปัญหาหนี้สิน กับมาตรการลดหย่อนพักชำระที่ใกล้ครบกำหนดเข้ามาทุกที จะทำอย่างไรเมื่อการเงินยังไม่พร้อม

ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงต่อสู้กับโควิด แม้ว่าจะมีการปลดล็อกบางส่วนบางพื้นที่บางกิจกรรมแต่เรื่องที่น่ากังวลใจ คือ เรื่องของภาวะทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่อง “หนี้สิน”

 

จากข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือที่รู้จักกันในนามเครดิตบูโรมีการทำตัวเลขออกมา ในเรื่องของหนี้เสีย (หนี้เสียคือหนี้ที่ขาดผ่อนชำระ 3 งวดขึ้นไป) กลุ่มเสี่ยงตอนนี้ คือ กลุ่มสินเชื่อบ้านกับสินเชื่อรถยนต์ ที่กำลังจะกลายเป็นหนี้เสียจำนวนมหาศาล

 

จากข้อมูลที่ออกมา 55% ของคนที่เป็นหนี้รถยนต์อยู่ตอนนี้ เป็นคนในวัย GenZ ซึ่งอาจทำงานได้สักระยะหนึ่งแล้วก็เริ่มออกรถ หนี้รถยนต์มีหนี้เสีย หรือ NPL สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี ที่แล้วจาก 5.9% เป็น 6.2% ต่างกันแค่ 0.3% แต่วงเงินหนี้เป็นแสนล้าน มูลค่าเยอะมาก

 

ในขณะที่ หนี้บ้านเป็นกลุ่มคน Gen Y ถึง 64 % กลุ่มนี้น่าจะอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป อยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว เริ่มซื้อบ้านกัน มีหลายคนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดผ่อนดาวน์คอนโดมาประมาณ 1-2 ปีแล้วก็โอนกันในช่วงต้นปี 2563 พอดี เพิ่งโอนได้ไม่นาน ก็เกิดเรื่องถูกลดเงินเดือน เงินเดือนหาย ก็เริ่มมีสัญญาณว่าจะเป็น NPL ด้วยเพราะว่ามีการขาดชำระไปบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่ถึง 3 เดือน 

 

เรื่องหนี้สินเป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ ปัจจุบันหลายธนาคารเริ่มรู้ตัวแล้วว่า สัญญาณแบบนี้อาจกระทบรายได้ของธนาคารรวมถึงสภาพคล่องของธนาคาร

 

ช่วงประมาณเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลายคนที่ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ น่าจะได้ใช้สิทธิ์โครงการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเสนอเพื่อเยียวยาและป้องกันไม่ให้คนมาเป็น NPL กัน

 

หลายท่านพักต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย บางท่านพักทั้งต้นและดอกเบี้ย หยุดจ่ายชั่วคราวเก็บเงินไว้ บริหารจัดการ สิ่งที่อยากเตือนคือ มาตรการต่าง ๆ ที่ทำกันไปกำลังจะหมดในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เหลือเวลาอีกประมาณหนึ่งเดือน ที่น่ากลัวคือ ถ้าเราไม่ประเมินสถานการณ์การเงินของเราให้ดี พ้นมิถุนายนไปแล้วเราจ่ายไม่ได้หรือพลาดไม่จ่ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือการเจรจาจะยากแล้วก็เป็นปัญหาขึ้นทันที 

 

โดยหลักการของการเร่งรัดหนี้สิน ถ้าเป็นลูกหนี้ชั้นดี  จ่ายตรงเวลา ไม่ผิดนัดชำระ เวลาเข้ามาพูดคุยเจรจา เพื่อขอเงื่อนไขพิเศษในบางช่วงเวลาก็ง่ายกว่า ในขณะที่คนผิดนัดไปแล้ว 1-2 เดือน แล้วค่อยมาพูดจา อันนี้เป็นเรื่องยากพอสมควร 

 

ในโลกการเงินจำคำนี้ไว้เลย “บอกก่อนเรียกว่าชี้แจง บอกทีหลังเรียกว่าแก้ตัว” 

  

 

สิ่งที่ควรทำเมื่อมีภาระหนี้

 

1.ประเมินสถานะทางการเงิน

 

ลองทำรายรับ-รายจ่าย 6 เดือนต่อจากนี้ โดยเฉพาะหลังเดือนมิถุนายนที่การชำระหนี้กลับเป็นปกติ เราได้รับผลกระทบไหม ถ้าไม่ได้รับผลกระทบก็ไม่เป็นไร แต่ก็ใช้ชีวิตทางการเงินอย่างมีวินัยสักหน่อย แต่ถ้ากระทบ จะไปรอให้ถึงเดือนมิถุนาแล้วค่อยคุย อาจช้าไป ฉะนั้น อาจเริ่มติดต่อพูดคุยเบื้องต้นกับธนาคาร เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่การจ่ายสินเชื่อกลับมาปกติ แล้วคุณมีปัญหา อาจใช้เวลาจัดการพอสมควร

 

2. ติดต่อธนาคารหรือเข้าเว็บไซต์ธนาคาร เพื่อหาช่องทางจัดการหนี้สิน 

 

ขณะนี้ แทบทุกธนาคารได้เปิดช่องทางจัดการหนี้สินต่อเนื่องหลังเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป บางธนาคารเตรียมเปิดให้จ่ายดอกเบี้ยบ้านโดยไม่ต้องจ่ายต้นไป 12 เดือน บางที่ให้ลดค่างวดบ้านลงครึ่งหนึ่ง เพียงแต่ต้องลงทะเบียนก่อน 30 มิถุนายนนี้ นอกจากนี้ ธนาคารได้เตรียมสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษไว้มากมาย เช่น บัตรเครดิตมีการลดดอกเบี้ยจาก 18% เหลือ 12% บัตรกดเงินสดสินเชื่อบุคคลจากปกติ 27% เหลือ 22% บางที่มีสินเชื่อรีไฟแนนซ์ ปกติสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 24%-27%ตอนนี้มี 8.5%-9% เพราะฉะนั้นลองเข้าไปคุย

 

3. ดูเงื่อนไขแล้วเจรจาให้เกิดประโยชน์

 

หนี้ไหนที่ยืดไปยาว ๆ ก่อนได้ ให้ยืดไปให้ยาว ให้จ่ายต่ำที่สุดเท่าที่จะจ่ายได้ก่อน ถ้าสถานการณ์ การเงินประเมินแล้วจนถึงสิ้นปีมีโอกาสจะตึง จะขาดมือ การยืดออกไปให้ยาวที่สุด ทำให้เราสามารถบริหารจัดการอะไร ๆ ได้ง่ายขึ้น การกระทำตรงนี้ คือการเลื่อนไปชั่วคราว ถ้าทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ ก็อาจโปะเพิ่มได้ เป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้ สำคัญที่สุดคือ เรื่องแบบนี้ต้องคุยไว้ก่อน อย่ารอให้เกิดปัญหาผิดนัดชำระแล้วค่อยไปเจรจาคงจะไม่ได้

 

สำหรับผู้ที่กำลังผ่อนดาวน์คอนโดอยู่แล้วใกล้จะครบกำหนดโอนบ้านกัน จากที่ได้คุยกับdeveloper หลาย ๆ ท่าน เขาบอกเลยว่ามาพูดมาคุยมาปรึกษากันได้อย่าทิ้งดาวน์ หรืออยากจะขอคืนเงิน สามารถเจรจา แล้วปรับรายละเอียดกันได้ อาจจะยืดการโอนออกไปได้นิดหน่อย ลองคุยกันดู 

 

คนที่มีการใช้สินเชื่ออยู่ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อประเภทไหน ควรกระตือรือร้นกับภาระหนี้ของตัวเอง เพราะหนี้เป็นความรับผิดชอบทางการเงินของเรา ฉะนั้นเราต้องไม่รอให้ใครมาปรับ มาแก้มาจัดระเบียบ ถ้าประเมินแล้ว สถานการณ์ไม่ดี คุยเลย อย่านิ่งดูดายเด็ดขาด

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

 

 

OTHER