ไอ้ตัวดี EP.07 บาร์ฟ..อาหารทางเลือก

29 พฤษภาคม 2020 117 ครั้ง

ไอ้ตัวดี EP.07 บาร์ฟ..อาหารทางเลือก

เลี้ยงสุนัขต้องศึกษาข้อมูลให้ดี แม้กระทั่งเรื่องอาหารการกิน มาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งทางเลือกของน้องหมา กับการกินอาหารบาร์ฟ (B.A.R.F) กันค่ะ

อาหารบาร์ฟ B.A.R.F* อาหารทางเลือก : กับ คุณนัท พ่อทองเอก

 

จัดอาหารบาร์ฟตามความสะดวกของแต่ละบ้าน

 

ปัจจุบันเจ้าของสุนัขหลายท่านให้อาหารบาร์ฟแบบมี Topping หลากหลายมากมาย แต่การให้อาหารบาร์ฟที่ยุ่งยากจนเกินไปจะทำให้เจ้าของลำบากในการหาซื้อและเตรียม เมื่อนานวันเข้าอาจลงท้ายด้วยการเปลี่ยนไปให้อาหารเม็ดหรืออาหารคนแทน 

 

หัวใจของการจัดอาหารบาร์ฟ จึงคือการจัดตามความเหมาะสมของแต่ละบ้าน บางบ้านสะดวกโครงไก่อย่างเดียวก็สามารถทำได้ แต่ในกรณีของคุณนัท ที่บ้านทำธุรกิจร้านอาหารซึ่งต้องเดินตลาดหรือห้างค้าส่งอาหารสดเป็นประจำจึงสะดวก มีโอกาสเข้าถึงแหล่งอาหารที่ดีและอาหารที่มีความหลากหลายได้ง่าย

 

การคัดสรรอาหารบาร์ฟจากแหล่งอาหารที่ดีมีคุณภาพ

 

การเลือกแหล่งอาหารที่ดี มั่นใจความสะอาด ปลอดภัย เป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับต้น ๆ และการเลือกซื้อจากแหล่งที่หลากหลายก็มีข้อดี คือ นอกจากอาหารจะไม่ซ้ำซากจำเจ และสุนัขได้สนุกกับการกินมากขึ้น ในกรณีที่อาหารเกิดมีสารพิษปนเปื้อนยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษสะสมจากการกินซ้ำ 

 

สำหรับประเทศไทยบาร์ฟหลัก ๆ คือ โครงไก่ คุณนัทให้โครงไก่เป็นอาหารหลักเกิน 80% ส่วนที่เหลือจะให้เป็นเนื้อสัตว์ที่หลากหลาย สำหรับปลาอย่างปลาน้ำจืดกินได้ แต่พยายามหลีกเลี่ยงเนื่องจากเสี่ยงมีพยาธิสูง

 

อาหารทุกอย่างบนโลกนี้ที่เราเลือกให้สุนัขมีทั้งข้อดีข้อเสียทั้งสิ้น ผู้เลี้ยงไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป อยู่ที่ความพอดี มีการสลับสับเปลี่ยนชนิดอาหาร และอาหารมาจากแหล่งที่สะอาดมีความสดใหม่ก็เพียงพอแล้ว

 

กินบาร์ฟเสี่ยงพยาธิหรือไม่ 

 

ไม่ว่าจะกินบาร์ฟหรือไม่ สุนัขก็มีความเสี่ยงพยาธิอยู่แล้ว เพราะพยาธิมีอยู่ทั่วไปในดิน ตามพื้น ไม่ว่าให้กินอาหารอะไรเจ้าของควรถ่ายพยาธิให้สุนัขเป็นครั้งคราว อาจจะปีละ 1-2 ครั้ง ไม่จำเป็นต้องถ่ายบ่อย ๆ เพราะจะทำให้สูญเสียสิ่งดี ๆ ในลำไส้ไปด้วย

 

การมีพยาธิในร่างกาย หากไม่ใช่ชนิดรุนแรงที่ทำให้เกิดโรคโลหิตจางหรือขาดสารอาหารก็ไม่เป็นเรื่องที่ต้องวิตกกังวลอะไรมากนัก อย่าลืมพาสุนัขตรวจสุขภาพเป็นประจำ สุนัขแต่ละตัวตอบสนองต่ออาหารแต่ละชนิดแตกต่างกัน

เจ้าของสามารถดูเบื้องต้นว่า ให้อาหารชนิดนี้แล้วสุนัขกินหรือไม่ เหงือกยังคงสีชมพู หรือกินน้ำปกติหรือไม่

 

หากกินอาหารบางชนิดแล้วน้ำหนักขึ้นมากก็ลดอาหารลงเองเพื่อควบคุมน้ำหนักได้ แต่สุขภาพภายใน เช่น การทำงานของตับ ไต เราไม่สามารถรู้ได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าสุนัขจะกินบาร์ฟหรือไม่ก็ควรพาไปตรวจร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง

 

บาร์ฟหรือไม่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้เลี้ยง

 

บาร์ฟจัดเป็นอาหารทางเลือก ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและการตัดสินใจของผู้เลี้ยง หากเลือกแล้วที่จะเลี้ยงสุนัขด้วยอาหารบาร์ฟก็ต้องศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ให้ดีเสียก่อน ทั้งนี้หากเลือกจะให้อาหารเม็ดก็ไม่ได้ผิดอะไร 

 

แต่อาหารที่ต้องห้ามไม่ควรให้เลยคือ อาหารคน เพราะในอาหารคนมีโซเดียมสูง สุนัขกับคนมีระบบการทำงานของไตแตกต่างกัน จะพบว่าปัจจุบันในโรงพยาบาลสัตว์ใหญ่ ๆ มีสุนัขรอคิวรักษาโรคไตเป็นจำนวนมาก เจ้าของจึงควรตระหนักและใส่ใจในการเลี้ยงดูสุนัขให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยโภชนาการที่เหมาะสมกับสุนัขให้มาก

 

 

* บาร์ฟ เป็นคำย่อของตัวอักษรภาษาอังกฤษคือ B.A.R.F โดยย่อมาจากคำว่า Biological Appropriate Raw Foods คือการให้อาหารสด ดิบ เลียนแบบวิถีการกินตามธรรมชาติและเหมาะสมทางชีวภาพ หรือถ้าให้แปลเข้าใจง่ายกว่านั้น คือ “Bone and Raw Foods” หมายถึง การให้อาหารสดทุกชนิดรวมถึงกระดูกดิบและเครื่องในด้วยนั่นเอง

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  หนึ่ง Superdog

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER