Money and the Family EP.13 เคล็ดลับชวนเธอมาวางอนาคตการเงินด้วยกัน

02 มิถุนายน 2020 56 ครั้ง

Money and the Family EP.13 เคล็ดลับชวนเธอมาวางอนาคตการเงินด้วยกัน

ปัญหาหนึ่งที่พบในครอบครัวบ่อย ๆ คือใครสักคนในครอบครัวใส่ใจ สนใจเรื่องการเงินจัดระเบียบการเงินในครอบครัว แต่อีกฝั่งหนึ่งไม่สนใจไม่ใส่ใจไม่ว่าจะเรื่องการใช้จ่ายหรือการลงทุน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจกันได้ แล้วแบบนี้จะทำอย่างไรดี?

เคล็ดลับวางอนาคตการเงินร่วมกัน

 

1. มองให้เป็นเรื่องปกติธรรมดา

 

การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสนใจเรื่องการเงินและอีกฝ่ายหนึ่งเฉย ๆ หรือไม่สนใจ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเยอะ พื้นฐานมาจากความสนใจที่แตกต่างกันอยากให้คนที่เจอปัญหาแบบนี้รู้สึกว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาการที่มองอะไรเป็นปัญหาใหญ่ไปหมดบางทีก็ทำให้เราตั้งโจทย์กับเรื่องนั้นใหญ่โตเกินความเป็นจริง เพราะฉะนั้นลองคิดว่าเป็นเรื่องปกติ

 

 

2. สร้างเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายร่วมกัน

 

อาจชวนทำกิจกรรมบางอย่างซึ่งมีเงินเข้าไปเกี่ยวข้องแล้วค่อยๆเติมความรู้เติมข้อมูลที่อยากส่งผ่านไปถึงเขาเช่นวางแผนเที่ยวต่างประเทศซื้อบ้านซื้อสินทรัพย์ใหญ่ๆ หรืออาจเป็นความฝันที่เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัวเช่นอยากให้ลูกเรียนดีๆ แต่ทุนทรัพย์ไม่พอหรือน้อยเกินไป ก็มาช่วยกันวางแผน การมีจุดมุ่งหมายกับคนใกล้ตัวเป็นแรงกระตุ้นที่ดีทำให้เราหันมาสนใจบางอย่างอย่างจริง ๆ จัง ๆ

 

เวลาจะชวนใครมาศึกษาเรื่องการเงินให้ชวนทีละเรื่อง ทีละประเด็น จะช่วยให้พูดคุยกันง่ายขึ้น เมื่อมีการเปิดใจก็จะนำไปสู่เรื่องต่อๆไปได้

 

 

3. มีศิลปะในการพูด

 

ใช้วิธีการพูดจาดีๆเพราะๆ ชี้นำในเชิงสร้างสรรค์ เพราะการสื่อสารเป็นหัวใจจริงๆ อยากให้คนใกล้ตัวทำเรื่องอะไร เราสามารถเรียนรู้และฝึกฝนวิธีการพูดจาได้ เช่น

 

- อยากเก็บเงินซื้ออันนี้จัง

 

- ถ้าครอบครัวเราต่อเติมตรงนี้ไปได้หน่อยก็คงดี แต่ตอนนี้เงินน้อย ช่วยกันเก็บเงินหน่อยไหม 

 

- เรามาวางแผนให้ลูกกันดีกว่า / เรามาวางแผนไปเที่ยวกันดีกว่า

 

 

4. จัดสภาพแวดล้อมดึงดูดความสนใจ

 

เช่น การเปิด Podcast หรือข้อมูลเกี่ยวกับการเงินให้ฟัง เปิดแล้วดูอาการเขานิดนึง ถ้าเขานิ่งๆก็เปิดฟังยาวถ้าเขาไม่โอเคก็ปิดไม่ต้องไปยัดเยียด หรืออาจหาแหล่งข้อมูลความรู้อื่น ๆ หาหนังสือมาให้อ่าน ถ้าไม่ชอบก็อาจเปลี่ยนรูปแบบการสนทนา เปลี่ยนเรื่องคุยแล้วจบโยงไปสู่การมีกิจกรรมทางการเงินร่วมกัน เช่น วันนี้ดูหนังเรื่องหนึ่ง เป็นอย่างนี้ ๆ นะ อยากทำแบบนี้บ้างจังเธอว่ายังไงถ้าเขาสนใจ ก็พูดโยงไปว่า ถ้าจะทำก็ต้องมีเงินนะเราต้องเก็บเงินกันนิดหน่อย เป็นต้น 

 

การเรียนรู้เรื่องการเงินเป็นเรื่องสไตล์ใครสไตล์มัน เขาอาจเรียนในแบบสไตล์เขาแต่อาศัยการจุดประเด็น จุดประกายจากทางเรา แบบนี้ก็เป็นได้ การบีบบังคับเปลี่ยนแปลงเขามาก ๆ จะทำให้เกิดแรงต้านได้

 

 

4 วิธีการที่แนะนำไปข้างต้น เป็นวิธีการที่ใช้ความอดทนสูงพอสมควร เป็นวิธีการที่ค่อนข้างละมุนละม่อม ต้องอาศัยความพยายามของคนชวน เพราะคนไม่เคยสนใจ อยู่ดี ๆ จะให้มาสนใจและทุ่มเท100% ภายในวันเดียวคงไม่ใช่ 

 

 

โจทย์พื้นฐานสำคัญที่สุดคือเรารักกันหรือเปล่า เรารู้สึกว่าเขาเป็นคู่คิด คู่ชีวิตหรือเปล่า ถ้ารักกันรู้สึกว่าเขาเป็นคู่ชีวิต เป็นเพื่อนร่วมคิด และอยากให้เขามาช่วยเราคิด ช่วยเรามอง ช่วยเราพิจารณา เราก็จะอดทนทำในสิ่งที่มันใช้เวลาได้ เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจเขาแล้วเราก็ต้องมีความอดทน ถ้ารักกันจริง เราต้องอดทนที่จะสื่อสาร อดทนที่จะชักชวนอดทนที่จะสร้างสภาพแวดล้อมต่าง ๆ อดทนที่จะหากิจกรรมเพื่อทำร่วมกัน แล้วนำไปสู่การเรียนรู้ เข้าใจเรื่องการเงินแบบจริง ๆ จัง ๆ 

 

แต่ละครอบครัวมีรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่วัดได้คือ ถ้าคุยแล้วทะเลาะกัน รูปแบบนี้ผิดแน่นอน

 

สุดท้าย ฝากถึงคุณสุภาพบุรุษ เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งที่คนข้างตัวศึกษาแล้วเข้าใจเรื่องการเงินอย่างจริงจัง ขอให้คุณเปิดใจรับฟังเขา อย่าคิดว่าคุณเป็นช้างเท้าหน้า เป็นคนที่รู้มากกว่า หรือรู้มาก่อน เพราะถ้าเราคิดว่าเราเป็นผู้นำ ฟังใครไม่ได้ เชื่อคนอื่นไม่ได้ โดยเฉพาะคนใกล้ตัวและคนที่เรารัก นั่นคงไม่ใช่การบริหารการเงินที่ชาญฉลาด แล้วก็ไม่ใช่การบริหารความสัมพันธ์ที่ดีสักเท่าไหร่

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER