เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.19 อยู่ หรือ หย่า เพื่อลูกดี

02 กรกฎาคม 2020 96 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.19 อยู่ หรือ หย่า เพื่อลูกดี

เมื่อชีวิตครอบครัวมีปัญหา บ่อยครั้งเรามักได้ยินคำพูดที่ว่า “อดทนเพื่อลูก” การที่เราต้องอดทนและเผชิญปัญหาต่อไปแบบนี้ จะส่งผลต่อการเลี้ยงลูกมากน้อยแค่ไหน รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ มีเคสตัวอย่างและคำแนะนำในเรื่องนี้มาฝากค่ะ

การเสียสละตัวเองได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าจริงหรือ? 

 

มีเคสตัวอย่างของผู้หญิงคนหนึ่ง สมมติชื่อ คุณนวล เป็นผู้หญิงสวย เป็นเชียร์ลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัย เป็นนักกิจกรรม มีบุคลิกเพียบพร้อม คนจีบเยอะ ในที่สุดก็ตกลงปลงใจกับหนุ่มคนหนึ่งที่มาจีบ ซึ่งทั้งหล่อ รวย

 

หลังแต่งงานคุณนวลต้องไปอยู่กับครอบครัวสามีซึ่งเป็นครอบครัวที่มีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ คุณนวลลาออกจากงาน มาทำงานกิจการครอบครัวสามี เธอเป็นสาวขยัน มีความสามารถ เป็นคนที่ ทำให้กิจการไปได้ดี แต่คุณนวลต้องดูแลลูก ดูแลครอบครัวสามีด้วย แล้วก็ไม่ได้มีส่วนใช้เงินกงสี ของครอบครัวเท่ากับสามีหรือคนอื่นที่เป็นคนของครอบครัวสามี ถึงแม้จะเป็นคนช่วยหามาก็ตาม

 

ครอบครัวสามีมีอิทธิพลต่อชีวิตของเธอพอสมควร คือควบคุมเธอ เช่น เธอต้องทำอย่างนั้นสิ ทำไมเธอไม่ทำอย่างนี้ ลูกต้องการอย่างนี้ทำไมถึงยังไม่ทำให้ลูก สามีมาแล้วทำไมไม่ปรนนิบัตรสามี

 

คุณนวลมีความรู้สึกไม่ไหว ทุกครั้งที่กลับไปหาแม่หรือโทรหาแม่ เธอจะไปร้องไห้ แล้วบอกว่า “หนูไม่ไหวแล้ว” แม่ก็สอนว่า “หนูต้องอดทนนะลูก หนูต้องไม่นึกถึงความสุขของตัวเอง หนูต้องนึกถึงแต่ความสุขของลูกเท่านั้น”

 

หมอเลยถามว่า “คุณนวลคิดว่าอะไรทำให้ลูกมีความสุข” ในกรณีคุณแม่คุณนวลเป็นลักษณะ ของการเชื่อว่า การมั่งคั่งจะทำให้เกิดความสุข สมมุติว่าเป็นความมั่งคั่ง คุณคิดว่า เด็กจะรู้ไหมว่า เรารวย/ไม่รวย

 

สำหรับเด็ก ความสุขอาจจะเป็นความรู้สึกที่อบอุ่นปลอดภัย ถ้าอย่างนั้นถามว่า “แล้วอะไรทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย” ซึ่งคำตอบอาจจะเป็นว่า “เวลาทำอะไรจะมีคนคอยดูแลให้รู้สึกปลอดภัย” แล้วถ้าหันไปเจอแม่กำลังร้องไห้ล่ะ?

 

สมมติคุณนวลบอกว่า “ไม่เคยร้องไห้ต่อหน้าลูก พยายามไม่แสดงเรื่องนี้ออกมา” ถามว่าคนที่ ทุกข์ขนาดนี้ ไม่ร้องไห้ต่อหน้าลูก เขาจะเก็บความรู้สึกจนลูกไม่รับรู้ถึงความทุกข์ของแม่ เป็นไปได้ไหม?

 

เด็กจับความรู้สึกเก่ง ถึงคุณนวลจะไม่ร้องไห้ต่อหน้าลูก ลูกก็จะรับรู้ถึงความทุกข์ที่คุณนวลมีอยู่ แล้วนั่นเป็นสิ่งที่คุณนวลคิดว่า คุณนวลอดทนแล้วลูกมีความสุข มันจะได้จริงไหม?

 

คุณนวลก็ถามคุณหมอว่า “หนูควรหย่าเหรอคะ เพราะว่าหนูอยู่ไปไม่มีความสุขจริง ๆ หนูไม่ สามารถที่จะมีความสุขเมื่อตอนที่อยู่กับลูกได้ แสดงว่าหนูก็จะทำให้ลูกมีความทุกข์ด้วยเหรอคะ”

 

คุณหมอจึงบอกว่า จริง ๆ แล้วการหย่าหรือไม่หย่า อาจไม่ใช่ประเด็นคำถามจริง ๆ ไม่ใช่ประเด็นที่ คนอื่นจะตัดสินใจแทนได้ ตั้งต้นอย่างนี้ดีกว่า ถ้าสมมุติคุณนวลจะใช้ชีวิตครอบครัวต่อไป มีทางเลือก 2 ทาง คือ หย่า -ไม่หย่า

 

สมมติเราเลือกไม่หย่า จะใช้ชีวิตครอบครัวต่อไป คุณอาจต้องมองหาว่าอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกดีโดย ที่ไม่ต้องใช้ความอดทนเป็นตัวที่ทำให้เราอยู่ตรงนี้ คุณนวลอาจต้องหาเรื่องที่มีความสุข เช่น การที่คุณนวลทำงานจนกระทั่งครอบครัวมีรายได้ อันนี้เป็นความสุขของคุณนวลได้ไหม เปลี่ยนความ ภาคภูมิใจ มองเห็นตรงนี้ให้ชัด ๆ แล้วมาเปลี่ยนเป็นความสุข การที่คุณนวลมีเวลาอยู่กับลูกมากกว่า คนอื่นที่จะต้องไปทำงานนอกบ้าน ตรงนี้เป็นความสุขได้ไหม การที่คุณนวลเห็นว่า ยังไงลูกก็ต้อง ได้รับอนาคตที่ดีจากความมั่งคั่งของครอบครัวสามี เพราะเขาก็รักหลานเขา อันนี้ทำให้คุณนวลมีความสุขได้ไหม

 

เมื่อเรามีความทุกข์ บางทีเราลดความทุกข์นั้นไม่ได้ ให้เจือจางด้วยการหาความสุข คุณนวลปลื้มใจตัวเองได้ไหม ขนาดคุณนวลมีความทุกข์ยังสวยขนาดนี้ คุณนวลปลื้มใจกับความสวยของคุณนวล ได้ไหม มันมีบางอย่างที่เรามองเห็นน้อยลง ทั้ง ๆ ที่มันมีอยู่จริง ถ้าคุณนวลมองเห็นตรงนี้ ความสุขจะเพิ่มมากขึ้น ลดความทุกข์ลง การที่ต้องอดทนก็อาจจะไม่ต้องอดทนอีกแล้ว

 

ก่อนจะนอนแทนที่คุณนวลจะนึกถึงแต่ความอึดอัดใจ ให้คุณนวลเขียนข้อความความรู้สึกดี ความรู้สึกภาคภูมิใจ สิ่งที่ตัวเองชอบในวันนั้น เพื่อทำให้ตัวเองเห็นชัดขึ้น ตรงนี้จะช่วยได้

 

แต่ถ้าพูดถึงอีกทางเลือกคือ การหย่า อยากให้คุณนวลมองหาช่องทางเตรียมความพร้อม ตอนนี้การเงินเป็นยังไง ได้เงินเดือนแบบไหน เป็นไปได้ไหมถ้าแยกจากสามีแล้วคุณนวลยังอยู่ได้ หมอไม่ได้บอกให้คุณนวลเตรียมพร้อมเรื่องนี้สำหรับการหย่า แต่มันเป็นเทคนิคที่ทำให้คุณนวลมีความกังวลน้อยลง

 

เพราะเมื่อเราบอกว่า ฉันอยู่เพราะฉันอยากอยู่ ดีกว่าฉันอยู่เพราะฉันไม่มีทางไป เพราะฉะนั้น อย่าอยู่ในสถานการณ์ซึ่งเราไม่มีทางออก ให้มองหาหนทางที่แม้เราจะต้องแยก เราก็แยกไปได้อย่างสามารถที่จะเป็นหลักให้ลูก แล้วดำเนินชีวิตต่อไปได้

 

ผู้หญิงหลายคนไปไม่ได้ เพราะถ้าไป ครอบครัวสามีบอกว่าลูกเอาไว้นี่ เพราะเธอไม่มีปัญญา หาเงินเลี้ยงลูก ทำให้ผู้หญิงต้องอยู่ตรงนั้น แล้วในที่สุดก็ไม่ดีต่อตัวเองและไม่ดีต่อลูกด้วย

 

 

นอกจากเรื่องสามีภรรยาแล้ว ปัญหาอีกอย่างที่มีอิทธิพลต่อการเลี้ยงลูก คือ แม่ผัวลูกสะใภ้ /ลูกเขยแม่ยาย ความทุกข์ก็เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจตรงนี้ได้เหมือนกัน ถ้าบ้านไหนต้องมาอยู่ ด้วยกัน แล้วมีความเชื่อหรือวิธีการเลี้ยงดูลูกแตกต่างกัน จะหาทางออกอย่างไรดี

 

 

เคล็ดลับลดปัญหาแม่ผัวลูกสะใภ้ /ลูกเขยแม่ยาย

 

1. คู่ของคุณต้องมีความแน่นแฟ้น ถ้าความสัมพันธ์ตรงนี้ดี ก็จะช่วยไปเปราะนึง

 

2. สำรวจความรู้สึกตัวเองต่อพ่อแม่ของคู่คุณว่ารู้สึกยังไง ถ้ารู้สึกไม่พอใจ ให้หาข้อชอบใจเขาให้ได้มากขึ้น ความรู้สึกนับถือ เคารพต่อพ่อแม่ของคู่คุณมีความสำคัญมาก จะทำให้ไปรอด

 

3. ให้รีบขอบคุณหรือแสดงความซาบซึ้งใจ เมื่อพ่อแม่ของคู่คุณทำอะไรให้ลูกคุณ ไม่ว่าจะ โอเคในสายตาคุณมากหรือแค่พอใช้ ปู่ย่าตายายอยากทำให้หลาน แต่ก็อยากให้สะใภ้และ เขยเห็นด้วย แม้สไตล์การเลี้ยงหลานของเขาจะไม่เหมือนสไตล์การเลี้ยงลูกของเรา ให้มองข้ามไป ให้มองความปรารถนาดีที่เขามีต่อลูกของเราอย่างจริงใจ เมื่อความสัมพันธ์แน่นแฟ้นแล้ว ส่วนที่เป็นสไตล์หรือส่วนที่เราไม่อยากได้ เราอาจต่อรองได้เมื่อเรากลายเป็นสะใภ้หรือเขยดีเด่นไปแล้ว

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER