Money and the Family EP.16 เทคนิคสอนลูกรวย ด้วยความรู้ด้านการเงิน

01 กรกฎาคม 2020 205 ครั้ง

Money and the Family EP.16 เทคนิคสอนลูกรวย ด้วยความรู้ด้านการเงิน

จะสอนลูกเรื่องการเงิน ทั้งการใช้และการออม ต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็ก ๆ แต่ละช่วงวัยมีเทคนิคดี ๆ ที่น่าสนใจในการสอนอย่างไรบ้าง มาติดตามฟังกันค่ะ

มีคุณพ่อคุณแม่ถามเข้ามาเยอะว่า การสอนการเงินให้ลูกในแต่ละช่วงวัยควรสอนอย่างไร แต่สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง คือ ถ้าเราจะสอนการเงินให้เด็ก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอนการเงินให้ผู้ปกครองก่อน เพราะต้นแบบทางการเงินที่เด็กได้เห็นหรือได้รับคำสั่งสอนมาทั้งชีวิตของเขา คือ คุณพ่อคุณแม่ หรือบุคคลในครอบครัว

 

เรื่องควรรู้ก่อนสอนการเงินให้กับเด็ก ๆ

 

1. คุณพ่อคุณแม่ต้องบริหารจัดการเงินตัวเองให้ดี ให้สามารถเป็นแบบอย่างได้ก่อน

 

2. ต้องใจเย็น ๆ ในการสอน ต้องใช้เวลา ใช้ความเข้าใจ ค่อยๆ บอก ค่อย ๆ สอนลูก

 

การให้ความรู้ด้านการเงินกับเด็กในแต่ละช่วงวัย

 

เด็กแต่ละช่วงวัยจะมีความพร้อมในการเรียนเรื่องเงินแตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแยกเรื่องเงินออกจากเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต อยากให้สอนเรื่องเงินไปพร้อม ๆ กับการใช้ชีวิต จะทำให้การสอนเรื่องเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ในมุมมองของโค้ช คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มสอนการเงินให้กับลูกเมื่อเขาเริ่มคุยหรือพูดกับเรารู้เรื่อง โดยปกติ สักระดับประถมน่าจะเริ่มต้นได้แล้ว

 

 

3 ปีแรกในช่วงชั้นประถมต้น (ป.1-ป.3)

 

หลักสำคัญของการสอนการเงินในเด็กเล็ก คือการสร้างสำนึกทางการเงิน (Monetary sense) ในเรื่องการใช้จ่ายและการออม ให้บทเรียนเขาแบบกลมกลืนไปกับชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องการใช้จ่าย เด็กวัยนี้อาจไม่ได้ซื้อของเอง แต่เขาควรมีหน้าที่ดูแลของ ใช้ของให้คุ้มค่า ช่วยที่บ้านประหยัดการใช้จ่ายต่าง ๆ เท่าที่คุณพ่อคุณแม่จะบอกและสอนเขาได้ รวมถึงเริ่มให้เขาตัดสินใจเล็ก ๆ เช่น มีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง เขาอยากจะซื้อขนมอะไร ให้เขาตัดสินใจเอง โดยพ่อแม่เป็นคนให้คำแนะนำในเบื้องต้น

 

ในเรื่องการออม ถ้าเราบอกเขาว่า คนเราจำเป็นต้องเก็บเงินนะลูก เพราะว่าอนาคตมีเรื่องไม่แน่นอน ถ้าเราไม่มีเงินออม ชีวิตจะลำบาก สอนแบบนี้อาจไม่เกิดประโยชน์ ลองมาสอนเรื่องการออมโดยหาวิธีการสร้างกิจกรรมจูงใจให้เขาเก็บเงิน เช่น ถ้าหนูเอาค่าขนมไป แล้วหนูเก็บเงินได้ 1 บาท พ่อ/แม่ก็จะให้อีก 1 บาท เป็นต้น นี่เป็นวิธีสร้างกิจกรรม โดยที่ยังไม่ต้องให้เหตุผลที่ลึกซึ้งมากเกินไป อาจพูดคร่าว ๆ ได้ แต่ไม่ต้องมากเกินไปกว่านี้

 

 

ประถมปลาย (ป.4-ป.6)

 

อาจเริ่มให้เงินค่าขนมเป็นรายสัปดาห์ ฝึกให้เขาบริหารจัดการให้อยู่ใน 5 วันที่เขาไปเรียนหนังสือได้ นี่เป็นความรับผิดชอบทางการเงินที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับเด็ก บอกกับเขาว่า พ่อ/แม่ เชื่อใจว่าลูกสามารถจัดการเงินตรงนี้ได้ ลูกเริ่มโตแล้ว เด็ก ๆ มักจะมีความรู้สึกกับคำว่าโต

 

การสอนเรื่องเงินหรือเรื่องใด ๆ ก็ตาม ความเชื่อใจในตัวผู้เรียนเป็นเรื่องสำคัญมาก ฉะนั้นเราต้องเชื่อใจเขา ให้เขาลองบริหารเงินก้อนเล็ก ๆ นี้ เป็นการวัดว่า เขาจะโตไปแค่ไหนอย่างไร มีทักษะในการจับจ่ายใช้สอยอย่างไร เมื่อจบสัปดาห์ก็อาจมานั่งคุยว่ามีเงินเหลือเก็บหรือไม่ โจทย์ของเราคือ ใช้ยังไงก็ได้แต่ขอให้เหลือเก็บ และสุดท้ายอาจคุยว่าเขาใช้จ่ายอะไรบ้าง แต่อย่าถามมากเกินไป เพราะว่าเราให้เกียรติเขาแล้ว เขาโตแล้ว เราต้องเชื่อมั่นในตรงนี้เหมือนกัน

 

 

มัธยมต้น

 

คุณพ่อคุณแม่อาจให้เงินลูกเป็นรายเดือน และให้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายมาพูดคุย เปิดช่องให้กับลูกว่าเมื่อไรที่เงินค่าขนมไม่พออย่ากังวลใจที่จะเข้ามาปรึกษาพ่อแม่ ให้คุยด้วยเหตุและผลกับลูกมากขึ้น และช่วยสนับสนุนตามระดับความจำเป็น เช่น ถ้าสิ่งนั้นจำเป็น เราอาจไม่ต้องให้ลูกออกเลย แต่ถ้าของนั้นไม่จำเป็นแต่เขาอยากได้ เราอาจสนับสนุนแค่บางส่วน

 

เรื่องการออม สมัยประถมอาจจะออมแค่ฝากเงินธรรมดา โตขึ้นมาหน่อยอาจขยับเป็นสลากออมสิน สลากออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือถ้าลูกพอจะเข้าใจก็อาจไปถึงกองทุนรวม ตลาดเงินหรือตราสารหนี้ แต่ลูกอาจจะยังเปิดบัญชีเองไม่ได้ก็ต้องใช้บัญชีในชื่อคุณพ่อคุณแม่ ค่อย ๆ เขยิบไปหาเครื่องมือที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และมีโอกาสในการลงทุนที่สูงขึ้น

 

 

 

มัธยมปลาย-มหาวิทยาลัย

 

ค่าขนมอาจให้เป็นรายเดือนเหมือนเดิม บัญชีรายรับ-รายจ่ายทำมาปรึกษาพูดคุยเป็นประจำทุกเดือน รวมไปถึงการสอนเรื่องการลงทุน และถ้าลูกเจองานที่เขาสนใจ คุณพ่อคุณแม่อาจสนับสนุนให้เขาทำงานพิเศษเพื่อสร้างรายได้ แต่ถ้าลูกยังไม่สนใจอะไรเป็นพิเศษก็ไม่ต้องไปบังคับเขา

 

 

หัวใจสำคัญนอกจากเกณฑ์หรือแนวทางที่บอกไปใน 4 ช่วงอายุ คือ เรื่องการรับรู้และเข้าใจความเป็นตัวตนของลูก ลูกคนอื่นอาจมีบทเรียนที่ก้าวหน้ากว่าลูกเรา ลูกเราอาจช้ากว่า อันนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เช่น บางคนบอกว่า ลูกเขามัธยมปลายเริ่มลงทุนในหุ้นแล้ว ลูกเราเรียนมหาวิทยาลัยยังไม่รู้เรื่องพวกนี้เลย อย่าไปเปรียบเทียบกัน จะทำให้ผู้เรียนเกิดความไม่สบายใจ เหมือนถูกบังคับ ไม่ได้เกิดจากความสนใจหรือพอใจของเขาเอง

 

สุดท้ายเป็นเรื่องสำคัญมาก คือ รูปแบบการเรียนการสอนต้องไม่ใช่การ Tell and Sell อย่างเดียว คือ บอกให้ทำ ชี้ให้ทำ เตือนให้ทำ สั่งให้ทำ หน้าที่ของคนที่จะเป็นครูด้านการเงินหรือในเรื่องอื่น ๆ คือ การทำตัวเป็นโปรโมเตอร์ (Promoter) นอกเหนือจากการเป็นโมเดอเรเตอร์ (Moderator) แล้ว ต้องเป็นโปรโมเตอร์ด้วย คือ พยายามหารูปแบบกิจกรรมที่แทรกเรื่องความรู้ด้านการเงินเข้าไป โดยคุณพ่อคุณแม่เป็นคนชี้ชวน ทำให้ดูสนุกสนาน การเรียนอะไรก็ตาม ถ้าไม่สนุก คนเรียนก็คงไม่อยากเรียน ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องปรับตัว ทำตัวให้เป็นโปรโมเตอร์ บางทีเอาหนังสือมาแนะนำ อย่าซื้อมาแล้ววางไว้ ต้องโฆษณา ลูกอาจเฉย ๆ ในช่วงแรก แต่เชื่อว่าเมื่อเขาสะดวก เขาว่าง เขาสนใจ เขาจะหยิบจับเองในภายหลัง เพราะฉะนั้นความสนุกสนานในการเรียนคือหัวใจ และพ่อแม่ต้องเป็นคนสร้างบรรยากาศแบบนั้น

 

ชวนคุณพ่อคุณแม่นำความรู้หรือคำแนะนำเรื่องการสอนการเงินในแต่ละช่วงวัยไปปรับใช้กับลูก ๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น แนวทางของเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกับแนวทางของคนอื่น หัวใจสำคัญ คือ เราค่อย ๆ ปลูกฝัง ค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ ให้คำแนะนำ แล้วก็ค่อย ๆ พัฒนาลูก เพื่อในท้ายที่สุด เขาจะเรียนจบออกมา ทำมาหากิน แล้วก็เป็นคนที่ดูแลการเงินของตัวเองได้ดี เหลือเก็บเหลือออม ต่อยอดและสร้างความมั่นคงมั่งคั่งในบั้นปลายของชีวิตได้ และทำให้คุณพ่อคุณแม่หมดห่วงกับตัวเขา กับอนาคตของเขา

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER