Mom Gen 2 EP.20 เมื่อลูกเติบโตท่ามกลาง Hate Speech

06 กรกฎาคม 2020 108 ครั้ง

Mom Gen 2 EP.20 เมื่อลูกเติบโตท่ามกลาง Hate Speech

เด็กยุคดิจิทัลกับการเติบโตมาท่ามกลางสื่อออนไลน์ที่เต็มไปด้วยการใช้ Hate Speech คุณคิดว่าเขาจะเป็นอย่างไร ? พ่อแม่ ผู้ปกครองจะดูแลและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ได้อย่างไร ? Mom Gen 2 อีพีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

Hate Speech คืออะไร

 

Hate Speech หรือในภาษาไทยใช้คำว่า ประทุษวาจา หมายถึง การพูดหรือการสื่อความหมายที่สร้างความเกลียดชังระหว่างกลุ่มคนในสังคม  คือการแสดงออกด้วยคำพูด หรือวิธีการอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีกลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคล โดยมุ่งไปที่ฐานของอัตลักษณ์ ซึ่งอาจจะติดตัวมาตั้งแต่ดั้งเดิม หรือเกิดขึ้นในภายหลังก็ได้ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานที่เกิด ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงอุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ หรือลักษณะอื่นที่สามารถทำให้ถูกแบ่งแยกได้ การแสดงความเกลียดชังที่ปรากฏนี้อาจเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรี หรือลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง และที่เพิ่มเติมตามโลกเทคโนโลยีก็คือ ความเกลียดชังบนโลกออนไลน์

 

มีนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี 3 คน ชื่อ Dr.Vittorio Gallese,  Dr.Leonardo Fogassi และ Dr.Giacomo Rizzolatti จากมหาวิทยาลัยพาร์มา ประเทศอิตาลี ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา” หรือ Mirror Neuron

 

ทฤษฎีเซลล์กระจกเงา คือการเชื่อมโยงทฤษฎีทางสมองกับการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก เขาได้อธิบายว่า เซลล์กระจกเงาเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในสมองของมนุษย์ ที่ทำหน้าที่เลียนแบบพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้อื่น มาเป็นพฤติกรรมของตนเอง เช่น พฤติกรรมของเด็กและเยาวชนเป็นผลมาจากเซลล์กระจกเงาไปลอกเลียนแบบพฤติกรรมตัวอย่างที่พบเห็นในสังคม พัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กเล็ก ก็เป็นผลมาจากการทำงานของเซลล์กระจกเงา ที่ทำให้เด็กสามารถเข้าใจเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดของผู้พูดได้

 

หน้าที่ของเซลล์กระจกเงา คือ การลอกเลียนแบบ เมื่อเราเห็นการกระทำของใครก็ตาม ที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายหรือว่าเจตนาของการกระทำของคน ก็จะกระตุ้นให้เซลล์ชนิดนี้เกิดการลอกเลียนแบบ หรือทำตามทั้งภายในสมองแล้วก็พฤติกรรมการแสดงออกภายนอก กระบวนการเลียนแบบทั้งภายในสมองและท่าทางที่แสดงออก จะทำให้เราสามารถเข้าใจเจตนาในการกระทำของคนคนนั้นได้อย่างแจ่มชัด

 

เด็กเล็กจะมีพัฒนาการการพูดมาจากการสอนของพ่อแม่เป็นหลัก ถ้าพ่อแม่พูดจาไพเราะ เด็กก็จะพูดจาไพเราะตาม แต่ถ้าพ่อแม่พูดคำหยาบ เด็กได้ยิน เด็กก็เลียนแบบ พอเข้าสู่วัยรุ่นสภาพร่างกายและจิตใจของเขาจะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมนต์ ทางกายวิภาคของสมอง และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเด็กวัยรุ่นจึงมักหุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ เพราะสมองส่วนหน้าจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาที่ดี ต้องอาศัยการเรียนรู้ประสบการณ์จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ และบรรลุวุฒิภาวะ

 

 

เลี้ยงลูกอย่างไรให้ปลอดภัยจาก Hate Speech

 

1. บ้านต้องปลอด Hate Speech

 

พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นอย่างไร ต้องทำตัวแบบนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องระมัดระวัง การใช้คำพูด การสื่อสารในทุกช่องทาง ต้องปรับตัวปรับใจตัวเองให้ได้ ขัดแย้งกันได้  เห็นต่างกันได้ แต่การแสดงออกต้องสุภาพและเคารพกัน ชี้ให้ลูกเห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจาก Hate Speech ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้น ยกตัวอย่างบางสถานการณ์ให้ลูกได้เห็นภาพ แล้วก็ชวนพูดคุย

 

2. ฝึกลูกเสพสื่ออย่างรู้เท่าทัน

 

ในยุคนี้การใช้สื่อโซเชียลมีเดียต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะมีข้อมูลทั้งจริงและเท็จ การรับข้อมูลข่าวสารต้องมีสติ ไม่แชร์ข้อมูลใด ๆ ที่ไม่มีที่มา ต้องระมัดระวัง อย่าลืมว่าเรามีพรบ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจเป็นการทำผิดกฎหมายได้

 

3. อย่าพยายามเครียดต่อสถานการณ์

 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ร้อนแรง มีเนื้อหาความขัดแย้งมาก ๆ มีการใช้คำพูดเสียดสี ส่อเสียด ก็อย่าไปตามติดมาก พยายามจัดการสมดุลของตัวเอง ให้คำแนะนำลูกในการรับข้อมูลข่าวสาร เพราะการรับสิ่งเหล่านี้มาก ๆ ทำให้บรรยากาศในการพูดคุยเครียดตามไปด้วย และอาจทำให้สัมพันธภาพในครอบครัวขัดแย้งไปด้วย

 

4. ไม่ส่งต่อความรุนแรง

 

การแชร์เนื้อหา Hate Speech เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง อะไรที่เป็นเนื้อหา Hate Speech เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อย่าไปต่อความยาวสาวความยืด แล้วอย่าแชร์

 

5. คิดก่อนโพสต์

 

ไม่ว่าจะโพสต์อะไรบนโลกออนไลน์ บอกลูกว่า ลูกต้องตระหนักว่าจะไปกระทบผู้อื่นไหม อย่าใช้อารมณ์คึกคะนอง ต้องคำนึงด้วยว่า สิ่งที่จะตามมาจากการโพสต์ข้อความหรือคอมเมนต์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่ม Hate Speech ด้วยหรือเปล่า สิ่งที่เราโพสต์ในวันนี้ วันหนึ่งโพสต์นั้นอาจกลับมาทำร้ายเราก็ได้

 

 

ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยการใช้ Hate Speech เราต้องสอนให้ลูกรู้เท่าทัน แล้วเราเองก็ต้องพูดคุยกับลูก พยายามสื่อสารใช้สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวเป็นเกราะป้องกันสร้างภูมิคุ้มกันภายในบ้าน ทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง ไม่ต้องอยู่บนโลกออนไลน์ บางทีเราอาจเจออะไรที่ไม่ชอบ ไม่เข้าหู ไม่เข้าตา ก็ให้นิ่งเฉยบ้าง ไม่รับรู้บ้าง ปล่อยวางบ้าง คิดไม่เหมือนไม่เป็นไร แต่อย่าไปโหมไฟเพิ่มความเกลียดชังเข้าไปอีก อยากให้บ้านร่มเย็น เราก็ต้องเริ่มจากการไม่ให้มี Hate Speech ภายในบ้านนี่แหละ

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

 

OTHER