เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.20 ลูกป่วยกาย พ่อแม่อย่าป่วยใจ

08 กรกฎาคม 2020 52 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.20 ลูกป่วยกาย พ่อแม่อย่าป่วยใจ

ลำพังลูกไม่สบายนิดหน่อย พ่อแม่ก็กังวลแทบแย่ แล้วถ้าลูกเจ็บป่วยหนักเรื้อรัง พ่อแม่จะจัดการความรู้สึกและดูแลใจตัวเองไม่ให้ส่งผ่านไปถึงลูกได้อย่างไร

เวลาที่ลูกป่วย แน่นอน พ่อแม่ย่อมเป็นกังวล เป็นห่วง ยิ่งถ้าลูกป่วยหนัก หรือเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูก ความรู้สึกของพ่อแม่ที่มี อาจส่งผ่านไปถึงลูก ฉะนั้นพ่อแม่ที่มีลูกป่วยหนักจะจัดการใจตัวเองอย่างไรดี พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์ จะมาให้คำแนะนำในเรื่องนี้ค่ะ

 


เมื่อลูกป่วยเรื้อรัง รักษาใจพ่อแม่อย่างไร 


พ่อแม่ที่ลูกมีอาการป่วยเรื้อรัง มักมีคำถามว่า ทำไมต้องเกิดกับลูก ทำผิดอะไรมา ทำกรรมอะไรมา เวลาที่พ่อแม่สะเทือนใจมาก ๆ บางทีก็ไม่ได้ต้องการคำตอบ หรือคำอธิบายเหตุผล แต่พ่อแม่กลุ่มนี้แค่ต้องการให้คนอื่นเข้าใจความรู้สึก เพราะฉะนั้นขั้นแรกคือ อยู่เป็นเพื่อนพ่อแม่ และคอยรับฟังในสิ่งที่พ่อแม่ของลูกที่มีอาการป่วยอยากระบาย (ในกรณีเป็นเพื่อน ญาติ คนใกล้ชิด) 


ขั้นต่อมาคือ พยายามให้พ่อแม่ที่ประสบเหตุการณ์นี้ต้องเปลี่ยนคำถาม คือ จากคำถามว่า “ทำไม” (ทั้งๆ ที่เราก็ไม่สามารถหาเหตุผลได้ว่าทำไมถึงเกิดขึ้น ) ก็เปลี่ยนเป็นคำถาม “อะไร อย่างไร” เราจะทำอะไรเพื่อลูกได้บ้าง เพื่อให้ลูกสบายตัวขึ้น เพราะคำถามแบบนี้จะมีคำตอบ ความรู้สึกกังวลหรือความรู้สึกไม่ดีกับตัวเองก็จะลดลง และเมื่อมีคำตอบ พ่อแม่จะมีความมั่นคงขึ้น ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น มีพลังมากขึ้น เพราะมีบางอย่างที่เราทำให้ลูกได้ 
 

 

พ่อแม่ที่มีความรู้สึกสงสารลูกมาก ส่งผลต่อลูกอย่างไร 


เด็กที่ป่วยอาจจะรู้สึกเหนื่อย ไม่สบายตัว แต่อาจไม่มีผลต่อจิตใจลูกมากเท่าที่เราคิด เพราะกายกับใจอาจไม่ตรงกัน ถ้าอาการทางกายเขาเยอะ แต่แม่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยได้ 
ความรู้สึกจากอาการทางกายก็จะลดลง อาการที่พ่อแม่ทุกข์คงเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้ว่าเราทุกข์ แล้วรู้ว่าเราจะช่วยลูกได้อย่างไร ก็จะทำให้เรามั่นคง ความรู้สึกนี้ก็จะถ่ายทอดไปที่ลูก แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรารู้สึกทุกข์ไม่สบายใจ อารมณ์นี้ก็ถูกถ่ายทอดไปที่ลูกเหมือนกัน หมอรู้ว่าอาจจะไม่ง่าย แต่ให้ลองตั้งสติ แล้วก็หายใจเข้าออกลึก ๆ หาทางผ่อนคลายวิธีใดวิธีหนึ่ง ต้องให้แม่อยู่กับปัจจุบัน ณ ตอนนี้ ไม่ต้องจินตนาการถึงอนาคตมากนัก 
 

วิธีการฝึก เช่น ถ้าลูกเราหัวเราะ ก็เห็นว่าลูกมีความสุข ยังไม่ต้องกังวลถึงอนาคต เพราะเท่ากับเขามีความสุข ณ ตอนนั้น 
 

 

เวลาป่วยลูกต้องการอะไรจากพ่อแม่ 


เหมือนกำปั้นทุบดิน แต่ก็เป็นเรื่องจริง คือ ลูกต้องการพ่อแม่ ต้องการความรู้สึกว่าตัวเองจะปลอดภัยเสมอ ในเวลาที่ลูกเจ็บป่วย เขาต้องการคนที่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยอยู่ใกล้ ๆ 
ความรู้สึกสงสารลูก อาจทำให้แม่ดูแลประคบประหงมลูกมากจนเกินไปไหม มักจะเกิดจากกรณีลูกที่เป็นโรคเรื้อรังบางอย่าง แล้วพ่อแม่มักจะให้เลี่ยงนู่นเลี่ยงนี่ พูดบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ถ้าซ้ำมาก ลูกก็จะเป็นโรควิตกกังวล หรือไม่กล้าที่จะทำอะไรบางอย่างต่อไปในอนาคตได้เหมือนกัน 

 

วิธีการง่าย ๆ ที่คุณหมออยากแนะนำ คือ ถ้าลูกขอไปทำก็ให้ทำ ถ้ารู้สึกไม่สบายตัว เด็กก็จะพักเอง ถ้าแม่ไม่สบายใจก็ถามหมอเลยว่าทำอะไรไม่ได้บ้าง แล้วร่างกายลูกจะบอกตัวเขาเอง เช่น ถ้าลูกบอกอยากไปเล่น ก็ให้ไปเล่น แสดงว่าร่างกายเขาเล่นได้ ส่วนรายละเอียด ก็ลองคุยกับหมออีกทีว่าต้องเลี่ยงอะไรบ้าง ไม่ต้องถามด้วยว่า ไหวไหม ให้เราเป็นผู้มอง 
วางใจในร่างกายของลูก ถ้ากายไหวเขาจะไปเล่นอยู่แล้ว เราเป็นคนดู มองไว้ ถ้าลูกไหวก็แสดงว่าไหว เรามองให้อยู่ในสายตาก็เพียงพอ

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER