เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.22 ไม่อยากไปโรงเรียน เพราะหนูเป็น LD รึเปล่านะ

23 กรกฎาคม 2020 210 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.22 ไม่อยากไปโรงเรียน เพราะหนูเป็น LD รึเปล่านะ

ลูกงอแงไม่อยากไปโรงเรียน เพราะเป็น LD รึเปล่า มาทำความเข้าใจและศึกษาแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้กับคุณหมอวนิดา กันค่ะ

เปิดเทอมกันมาสักพักแล้ว เด็กเล็ก ๆ ที่เริ่มไปโรงเรียน หลายคนปรับตัวได้ แต่บางคนยังมีอาการงอแงขั้นสุดไม่อยากไปโรงเรียน แบบนี้พ่อแม่ต้องลองมาทำการค้นหาว่าลูกเป็นอะไร มีอะไรในใจหรือเปล่า เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกันที่ไม่ใช่การบังคับหรือตำหนิลูกเพียงอย่างเดียว 

 


ไม่อยากไปโรงเรียน ผิดปกติหรือเปล่า 


ต้องแบ่งเหตุการณ์ก่อน เช่น ถ้าปกติไปโรงเรียนเริงร่าดี แต่เพิ่งไม่อยากไปแค่ 1-2 วัน แบบนี้อาจไม่ต้องทำอะไร อาจถามลูกว่า "บอกแม่ได้ไหม ทำไมไม่อยากไป" ซึ่งอาจเป็นแค่ประเด็นเล็ก ๆ ที่ช่วยลูกแก้ปัญหาได้ไม่ยาก ก็จบไป 


แต่..ถ้าลูกเริ่มอิดออดมากขึ้น ไม่ยอมตื่น ไม่ยอมกินข้าว ไม่ยอมอาบน้ำ แกล้งไม่สบาย มีปฏิกิริยาชัดเจนว่าจะไม่ยอมไปโรงเรียนเด็ดขาด หรือแกล้งป่วย แรก ๆ พ่อแม่ก็ยอมให้หยุดเพราะคิดว่าป่วย ลูกเห็นว่าได้หยุดก็ใช้อาการแบบเดิมมาอ้างเพื่อจะได้หยุดเรียน การไปโรงเรียนเหมือนจะยากขึ้นทุกที และเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน แบบนี้ต้องหาสาเหตุ 
 

 

ช่วยหาสาเหตุลูกไม่อยากไปโรงเรียน 


มี 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยภายในตัวลูก และปัจจัยภายนอก 


ปัจจัยภายนอก จะแก้ง่ายกว่า เช่น ลูกอาจถูกครูดุ โดนทำโทษ ทะเลาะกับเพื่อนที่รักมาก มีบางอย่างที่เขาไม่อยากเผชิญตรงนั้นไหม ต้องลองสอบถามดู เมื่อรู้สาเหตุก็อาจจะแก้ไม่ยาก 


ปัจจัยภายใน มีตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ไปถึงเรื่องใหญ่ เช่น เด็กที่มีสัมพันธภาพไม่ค่อยดีอยู่เดิม มีความรู้สึกไม่มั่นคง ดังนั้นเวลาต้องจากพ่อแม่ เขาจึงเกิดความไม่มั่นใจ ไม่อยากจากพ่อแม่นั่นเอง บางคนติดเกม อยากอยู่บ้านเพื่อเล่นเกม บางคนอาจมีภาวะความไม่สมบูรณ์แบบในการทำงานของสมอง เช่น สมาธิสั้น ออทิสติก LD สติปัญญาต่ำกว่าปกติ ความวิตกกังวล (ซึมเศร้า) 


เรามาเจาะจงเรื่อง LD (Learning Disability) กันสักนิด เป็นการบกพร่องทางการเรียนรู้เฉพาะด้าน เช่น การอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์ ยกตัวอย่าง เรียนอยู่ ป.3 แต่เรียนเลขได้แค่ ป.1 เป็นต้น สมองคนเราทำงานซับซ้อน แต่ละส่วนก็ทำหน้าที่ของตัวเอง และในบางคนอาจจะมีบางส่วนที่บกพร่อง อย่างบางคนสอบเลขเท่าไหร่ก็ตก ไม่ว่าจะพยายามเรียนรู้มากแค่ไหน นั่นเป็นเพราะเขาไม่สามารถเรียนรู้เท่าเกณฑ์พื้นฐานของระดับชั้นที่มีการตั้งมาตรฐานกันเอาไว้ 
 

เด็กที่มีภาวะ LD ไม่สามารถใช้การกินยาเพื่อรักษา ฉะนั้น ถ้าสามารถตรวจได้ว่าลูกมีภาวะ LD ด้านใด แต่ด้านอื่นยังเรียนรู้ได้ปกติ ก็ต้องส่งเสริมด้านที่เขาทำได้ ส่วนเรื่องที่เรียนรู้ได้ช้าก็ต้องปรับที่ตัวหลักสูตรให้เขาสามารถเรียนเพื่อผ่านไปได้ เป็นต้น 

 


เมื่อรู้สาเหตุ..ก็แก้ปัญหาได้ 


ฉะนั้นย้อนกลับมาที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียน ถึงแม้เด็กคนนั้นจะเป็น LD เช่น ด้านคณิตศาสตร์ แต่เมื่อไปโรงเรียนไม่มีใครว่า ไม่มีใครกดดันเขาที่เรียนคณิตศาสตร์ไม่ได้ แต่วิชาอื่น ๆ เขาก็ทำได้ปกติ เด็กคนนี้ก็จะอยากไปโรงเรียน สนุกสนานได้ตามปกติ 


แต่ที่เป็นปัญหาคือ เมื่อเด็กทำไม่ได้ มักจะเป็นข้อมูลที่ย้อนกลับมาหาตัวเด็กเองว่า “หนูทำไม่ได้” “หนูสอบตก” “หนูไม่ได้เรื่อง” วิธีการที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไม่ถูกยอมรับ 
นี่แหละที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่อยากไปโรงเรียน 


เรื่องสำคัญคือ เราต้องหาให้เจอว่าลูกมีปัญหาตรงส่วนไหน แล้วเราสามารถทำให้เด็กภาคภูมิใจในตัวเอง ยอมรับในตัวเอง 

สิ่งสำคัญคือ ถึงแม้ลูกจะมีภาวะบกพร่อง เราก็ต้องให้ลูกไปโรงเรียน (หลังจากได้บอกปัญหาและวางแนวทางกับคุณครูแล้ว) มาแบบนี้ถึงแม้ลูกจะงอแงก็ต้องให้ลูกไป 
เพราะถ้าเรายอมลูกบ่อย ๆ เขาก็จะไม่ได้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง ต้องยืนยันให้ไป การฟังลูกและแก้ปัญหาต้องทำไปพร้อม ๆ กัน

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER