On the Way Home EP.23 Sano Ami เชียร์ลีดเดอร์ไร้แขนขาชาวญี่ปุ่น 3

31 กรกฎาคม 2020 319 ครั้ง

On the Way Home EP.23 Sano Ami เชียร์ลีดเดอร์ไร้แขนขาชาวญี่ปุ่น 3

ซะโนะ อะมิ หญิงสาวผู้ร่าเริง สดใส ที่เกิดมาพร้อมกลุ่มอาการไร้แขนขาแต่กำเนิด ความไม่ครบของร่างกาย ไม่ได้ทำให้เธอแตกต่างไปจากเด็กปกติคนอื่นเลย เธอสามารถเขียนหนังสือ ว่ายน้ำ เล่นกีฬาต่าง ๆ เป็นเชียร์ลีดเดอร์ ทำกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย และเธอก็ยังสามารถใช้ชีวิตเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ด้วย กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ง่ายเลย อะมิจังและคุณแม่ต้องพบเจอกับปัญหาอะไรบ้าง มาติดตามเรื่องราวของเธอกันค่ะ

ติดตามกันต่อกับเรื่องราวของ ซะโนะ อะมิ จากหนังสือแปล เรื่อง “เชียร์ลีดเดอร์ไร้แขนขา” แปลโดย จินตนา เวชสวัสดิ์ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Post Books

 

ย้อนความไปใน On the Way Home EP.21 และ 22 ได้เล่าถึงเรื่องราวของซะโนะ อะมิ ที่เกิดมาพร้อมกลุ่มอาการไร้แขนขาแต่กำเนิด และทางครอบครัวได้ส่งอะมิจังไปฝากเลี้ยงที่สถานเลี้ยงเด็กอ่อน จนอายุประมาณ 1 ขวบครึ่ง ก็ได้กลับมาอยู่กับครอบครัว และได้เข้าเรียนในโรงเรียนซึ่งดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการแบบครบวงจร

 

ก่อนที่จะเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ร่วมกับเด็กปกติ กว่าจะได้มาเรียนร่วมกับเด็กปกติ อะมิจังและคุณแม่ต้องเจออุปสรรคอะไรบ้าง โดยเฉพาะคุณแม่ต้องสู้และพยายามขนาดไหนเพื่อให้ลูกสาวได้เรียนร่วมกับเด็กปกติ มาติดตามเรื่องราวในช่วงเวลานั้นกันค่ะ

 

ก่อนเข้าโรงเรียนประถม แม่ของอะมิรู้สึกว่า อะมิคงต้องเรียนในโรงเรียนสำหรับเด็กพิการ แต่มีผู้ปกครองของเด็กคนหนึ่งบอกว่าจะพาลูกไปเจรจาต่อรองกับโรงเรียนอนุบาลในท้องที่โดยตรง เพื่อให้ลูกได้เรียนร่วมกับเด็กปกติ แม่ของอะมิเลยรู้สึกว่า อ้าว เรียนได้ด้วยเหรอ เธอก็อยากให้ลูกเติบโตในสังคมปกติ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูความเป็นไปได้ด้วย แม่ของอะมิจึงถามครูที่โรงเรียนเด็กพิการว่า “จะเป็นไปได้ไหม ถ้าเกิดจะให้อะมิไปเรียนร่วมกับเด็กปกติ”

 

ครูบอกว่า “อะมิเป็นเด็กที่ร่าเริงแจ่มใส แม้จะไม่มีแขนไม่มีขา แต่อยากให้คุณแม่ลองเลี้ยงแบบปกติจนกว่าอะมิจะบอกว่าไม่ไหวแล้ว” การเลี้ยงปกติ คือ ไม่ประคบประหงม ไม่ช่วยเหลืออะไรมากนัก เด็กจะต้องดูแลตัวเองให้มากที่สุด

 

จากนั้นแม่ก็พยายามหาสถานรับเลี้ยงเด็กของเทศบาลที่อยู่ใกล้ ๆ แถวบ้าน เพื่อจะฝากอะมิเข้าไปเรียน ทางโรงเรียนบอกว่า “ไม่เคยมีตัวอย่างมาก่อนเลยแบบนี้ ทางโรงเรียนเคยรับเด็กที่เป็นออทิสติกและดาวน์ซินโดรม แต่ว่าเคสแบบนี้ไม่เคยรับมาก่อน” แม้แม่จะพยายามบอกว่า อะมิทำทุกอย่างได้เหมือนกับคนอื่น ๆ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมเข้าใจ

 

สุดท้าย อะมิก็ได้เข้าสถานรับเลี้ยงเด็กไดดะ ซึ่งเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กที่รับดูแลเด็กพิการ วันที่แม่มาบอกว่า “อะมิก็ไปสถานรับเลี้ยงเด็กได้จ้ะ” อะมิดีใจมาก เธอสวมชุดนักเรียนของสถานรับเลี้ยงเด็กเหมือนกับพี่สาว แล้วก็มีเพื่อน ๆ มากมาย ส่งเสียงพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน โดยที่แม่ต้องไปไหนมาไหนด้วยตลอดเวลา เนื่องจากอะมิไม่สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้หมดทุกอย่าง

 

ตอนที่ไปสถานรับเลี้ยงเด็ก สิ่งที่อะมิต้องเจอ คือ การรุมล้อมและการถามคำถาม เธอต้องนั่งรถเข็นและกลายเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด เพื่อน ๆ ต่างกรูกันเข้ามามุงดู แล้วก็ถามว่า “ขาเป็นอะไรเหรอ ทำไมถึงไม่มี” แม่ก็คอยตอบว่า “คือว่าไม่สบาย แล้วขาก็หายไปเลยจ้ะ” บางครั้งอะมิก็ถูกถามโดยตรง เธอก็บอกว่า “ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่มีแล้ว ก็เลยไม่รู้เหมือนกัน”

 

อะมิมีทัศนคติที่ดีมาก เธอบอกว่า การตอบคำถามซ้ำ ๆ แบบนี้ มันน่าเบื่อเหมือนกันนะ แต่ข้อดีคือ ทำให้เธอมีเพื่อน แต่ก็มีเด็กห้องอื่นพยายามที่จะชะเง้อมองใต้กระโปรงเธอ บางคนก็พยายามแตะไหล่ บางคนก็ชอบพูดล้อเลียน

 

อะมิโดนบุลลี่ว่าเป็นผี จะมีเด็กจำนวนหนึ่งเวลาที่อะมิไปทางไหนก็จะชี้บอกว่า “เด็กคนนั้นไม่มีมือนี่นา น่ากลัวจังเลย ว้าย ผี ผีนี่” อะมิก็เสียใจ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีเด็กมาชวนไปเล่นด้วย อะมิก็ใช้ขาข้างซ้ายที่มี 3 นิ้วสั้น ๆ จับกระบวยขุดทราย แล้วก็เล่นของเล่น อะมิใช้เท้าได้คล่อง จนทุกคนตกใจว่าใช้เท้าได้เก่งมากเลย พ่อแม่ของเด็กคนอื่น ๆ ก็เริ่มชมอะมิว่า “ดูเด็กคนนั้นสิ เก่งจัง”

 

อะมิบอกว่า “เธออยากให้ทุกคนรู้ว่ามีคนที่แขนขาพิการ นั่งรถเข็น มองไม่เห็น ไม่ได้ยินเสียง ไม่สบาย ต้องนอนติดเตียง มีคนแบบต่าง ๆ มากมายในโลกนี้ ทุกคนไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่ว่าไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง เราก็ได้แต่ยอมรับในความแตกต่าง ในข้อจำกัดของคนอื่น และของตัวเราเอง”

 

สิ่งที่อะมิไม่ชอบและเศร้าใจที่สุด คือ การที่มีคนมาพูดว่า “เด็กคนนั้นน่าสงสารจัง” อะมิบอกว่า “ทั้ง ๆ ที่ ฉันก็ไม่ได้น่าสงสารอะไรสักหน่อย”

 

อะมิไปสถานรับเลี้ยงเด็กไดดะได้ 1 ปี เรื่องท้าทายถัดไปคือ การไปโรงเรียนประถมในเขตพื้นที่ ซึ่งก็โดนปฏิเสธเหมือนเดิม บางโรงเรียนแนะนำให้เข้าโรงเรียนสำหรับเด็กพิการที่มีอยู่แล้ว ในขณะที่แม่อยากให้ลูกมีชีวิตเป็นปกติ ไม่อยากให้ลูกเติบโตท่ามกลางความพิการ

 

ในเมื่อไม่มีทางเลือก แม่เลยตัดสินใจพาอะมิจังไปดูโรงเรียนสำหรับเด็กพิการก่อนเข้าเรียน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเรียนการสอน แต่ชั่วโมงพักจะเงียบมาก เมื่อเทียบกับที่ที่อะมิเคยเรียน อะมิเลยรู้สึกเบื่อเพราะเธอเป็นคนร่าเริงแจ่มใส ชอบส่งเสียงคุยกับเพื่อน ๆ เลยรู้สึกว่า ชั่วโมงเรียนและเวลาพักของที่นี่ซึ่งมีแต่เด็กพิการด้วยกันนั้นน่าเบื่อ เพราะหลายคนไม่สามารถที่จะเดินได้

 

โรงเรียนประถมในเขตพื้นที่ มีการติดตั้งโถสุขภัณฑ์สำหรับเด็กพิการ แล้วก็ทำทางลาดจากด้านนอกไปจนถึงห้องเรียนของเด็กประถม 1 เพื่อให้เข้าออกได้ พอแม่รู้ แม่ก็ไปที่โรงเรียน แล้วก็บอกว่า “ในเมื่อมีแบบนี้ ก็น่าที่จะอนุญาตให้อะมิเข้าเรียนนะ เพราะถ้าเกิดไม่อย่างนั้นก็จะเสียเปล่า” เจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบก็เอาแต่พูดว่า “ไม่ได้” ถึงกระนั้น แม่ก็สู้โดยบอกว่า “ฉันจะตามไปโรงเรียนทุกวันค่ะ และจะอยู่ที่โรงเรียนทั้งวัน ขอความกรุณาด้วยนะคะ”

 

ในขณะที่พ่อปกติมีงานยุ่งเสมอก็ลางานที่บริษัทไปอธิบายและพูดเกลี้ยกล่อมพร้อมกับแม่ที่โรงเรียน ในที่สุดเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบก็ยอมแพ้ต่อความมุ่งมั่นของพ่อและแม่ และบอก ให้ไปคุยกับครูใหญ่ของโรงเรียนประถมในเขตท้องที่

 

แม่กับพ่ออธิษฐานบอกว่า “ลูกเป็นเด็กที่มุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ และพยายามใช้ร่างกายที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ขอให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนประถม ร่วมกับเด็กปกติโดยทั่วไปเถอะ”

 

เช้าวันรุ่งขึ้น พ่อกับแม่ก็ไปที่โรงเรียนประถมที่ชื่อว่า ซากุระมัตจิ ในเทศบาลนครโทโยะคะวะ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด ที่ผ่านมาโรงเรียนนี้ไม่เคยรับเด็กเล็กที่ไม่มีแขนหรือขาเข้าเรียนมาก่อน ฉะนั้นจึงเป็นปัญหาในการที่จะต้องแบกรับ 

 

ปัญหาแรกคือ สิ่งอำนวยความสะดวก และจะเกิดคำถามตามมาว่า “ถ้ารับอะมิไว้ จะไม่ต้องรับเด็กอื่น ๆ เอาไว้หมดทุกคนหรือ” ครูใหญ่ก็กังวลว่าจะทำให้โรงเรียนสำหรับเด็กพิการหมดความหมายไปหรือเปล่า เพราะคนอื่น ๆ ที่มีลูกเป็นเด็กพิการ เดี๋ยวก็จะพาเอาลูกมาเรียนร่วมกับเด็กปกติไปซะหมด

 

แต่แม่ก็ยังคงขอความเห็นใจต่อไปว่า อยากให้อะมิอยู่โรงเรียนเดียวกับพี่สาว แม่บอกว่า “ดิฉันทราบว่า โรงเรียนเป็นสถานที่ให้การศึกษา แต่ดิฉันอยากให้อะมิได้รับการอบรมบ่มเพาะเรื่องทางสังคมในท้องถิ่นของเราเองค่ะ” แล้วก็ยืนยันว่า “อะมิไม่ได้มีอะไรพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่น ๆ แล้วก็ไม่ใช่ว่าเพราะไม่มีก็เลยทำอะไรไม่ได้  แต่อะมิใช้สิ่งที่มีอยู่ทำในสิ่งที่เหมือนกับคนอื่น ๆ ก็คือ ดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง”

 

จนกระทั่งครูมีโอกาสได้เจอกับอะมิ ครูก็บอกว่า อะมิเป็นเด็กที่มีจิตใจพร้อมสู้กับทุกสิ่ง รู้เลยว่าโตมาจากครอบครัวที่อบอุ่น ครูใหญ่พยายามช่วยและในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า “แทนที่จะมัวค้นหาสาเหตุ หรือเหตุผลว่าทำไมจึงรับอะมิจังเข้าเรียนไม่ได้ ก็เตรียมเหตุผลต่าง ๆ ที่จะรับอะมิจังเข้าเรียนได้เอาไว้ให้พร้อมดีกว่า”

 

การลงมติครั้งสุดท้ายจึงมีมติให้อะมิจังเข้าเรียน แต่ทางโรงเรียนมีเงื่อนไข คือ ช่วงเวลาที่อยู่โรงเรียนจนถึงเวลากลับบ้าน คุณแม่จะต้องคอยดูแลลูกอย่างใกล้ชิดตลอดทั้งวัน เพราะเขาไม่สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้หมดทุกอย่าง แต่สิ่งใดที่อะมิทำได้ ก็ให้ทำเองจะพยายามไม่ช่วยเหลือ

 

อะมิเข้าห้องเรียนทางประตูหลัง นั่งบนรถเข็นซึ่งจะใช้เป็นที่นั่งหลังสุดของห้องไปด้วย รถเข็นไฟฟ้าที่อะมิใช้ปรับระดับไม่ได้ ทางโรงเรียนเลยปรับความสูงของโต๊ะให้พอดีกับที่นั่งของรถเข็น เพราะอะมิต้องเอาเท้าวางบนโต๊ะ ต้องเขียนหนังสือด้วยเท้า แม่จะอยู่ข้างหลัง มีเก้าอี้วางเตรียมไว้ ซึ่งแม่จะต้องเตรียมพร้อมตลอดทั้งวันในการช่วยเหลืออะมิ เช่น การเข้าห้องน้ำ

 

เด็ก ๆ อิจฉาอะมิมาก บอกว่าอยากอยู่ห้องเดียวกับอะมิจัง เพราะอะมิจังไม่เหมือนคนอื่น อะมิจังมีความสุขกับการไปโรงเรียนมาก

 

ท่ามกลางชีวิตที่ราบรื่น อะมิก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองขาดอะไร จนวันหนึ่งเธอสังเกตเห็นเรื่องที่สำคัญมาก คือ เธอกำลังจะใช้เท้าจับดินสอแต่เผลอทำดินสอตก แล้วดินสอก็กลิ้งไปอยู่ใต้เก้าอี้ของเพื่อนที่นั่งเยื้องอยู่ข้างหน้า

 

ปกติดินสอ ปากกาตก เราก็เก็บ แต่นี่เป็นเรื่องที่อะมิรู้สึกว่า ทำไม่ได้ เก็บไม่ได้ ตอนนั้นเอง เด็กผู้ชายที่นั่งอยู่ข้างหน้าทำยางลบหล่น เธอก็เห็นว่า เด็กคนนี้ยื่นเท้าซ้ายออกไปข้างโต๊ะ เขี่ยยางลบเข้าหาตัว แล้วก็เอื้อมมือไปหยิบ อะมิก็ “เอ๊ะ อะไรเนี่ย มือมีไว้ใช้เก็บของขึ้นมาเหรอ แต่ฉันไม่มีมือ ฉันก็เลยเก็บของที่ตกไม่ได้อย่างนั้นน่ะสิ” เธอค่อนข้างผิดหวังกับตัวเองที่ไม่สามารถเก็บของที่หล่นขึ้นมาได้

 

เธอบอกว่า “แปลกจริงๆ ทำไมฉันถึงไม่เคยสังเกตมาก่อนเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ฉันรู้สึกว่า ตัวเองมีอะไรสักอย่างที่ต่างไปจากเด็กคนอื่น ๆ แต่ก็ยัง ไม่ค่อยเข้าใจนักว่าคืออะไร”

 

มีเรื่องที่น่ารักมาก คือ แม่ต้องไปโรงเรียนกับอะมิ ตอนอยู่ในห้องเรียน เด็ก ๆ จะเรียกแม่อะมิว่า คุณป้า เด็ก ๆ ชื่นชอบแม่ของอะมิมาก จะมีเด็กผู้ชายมาขอนั่งตัก พอเด็กคนหนึ่งเห็น อีกคนก็ขอมานั่งด้วย กลายเป็นเด็ก ๆ ชอบมานั่งตักแม่ของอะมิ พอตอนกินข้าวกลางวัน เด็ก ๆ อยากให้แม่ของอะมิไปนั่งกินข้าวกับกลุ่มของตัวเองจนแทบมีการแย่งกัน ในที่สุดต้องใช้วิธีจับสลากตัดสินว่าวันนี้จะต้องไปกินข้าวกับกลุ่มไหน อะมิก็ดีใจที่แม่มาอยู่ด้วย แล้วก็รู้สึกภูมิใจในตัวแม่

 

ในเรื่องของกีฬาอะมิก็เล่นได้ เธอจะใช้การไถก้นแล้วก็เคลื่อนตัวเร็วจี๋ด้วยลีลาที่เรียกว่า อะมิสไตล์ อะมิจะสนุกสนานกับการได้เคลื่อนตัวอยู่ในหมู่เพื่อน ๆ ไปที่บริเวณสนามกีฬาพร้อมกันกับนักเรียนทั้งโรงเรียน

 

ครูบอกกับแม่ว่า พอเห็นอะมิจังมีความพยายามไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตั้งอกตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ทำให้เด็ก ๆ ที่คิดถึงแต่ความสบายหรือว่าแอบขี้โกง เกิดความอายและเลิกทำไป ครูมีความสุขมาก เพราะอะมิเป็นเด็กที่ช่วยฝึกฝนให้เด็กคนอื่น ๆ มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น

 

ครูบอกว่า บุคลิกที่มุ่งมั่น มีมานะอดทนของอะมิจัง ได้กระตุ้นให้เด็กจำนวนมากเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การเข้าโรงเรียนของอะมิจังในครั้งนี้ไม่ใช่อะมิจังได้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวแต่โรงเรียนและเด็กคนอื่น ๆ ได้ประโยชน์ด้วย

 

พอรู้ว่าครูใหญ่ดีใจ อะมิจังก็ยิ่งตั้งใจในการที่จะพยายามให้มากขึ้น ครูใหญ่ก็ชมแม่ว่า “คุณแม่เลี้ยงลูกจนเป็นเด็กที่มีความเพียรพยายามได้ถึงขนาดนี้ ทั้งหมดเป็นเพราะคุณแม่คอยช่วยเหลือสนับสนุนนะ”

 

เมื่ออะมิเรียนจบประถม 1 ครูใหญ่ถึงกับเชิญแม่ไปที่ห้อง แล้วก็ต้อนรับแม่ พร้อมกางเกียรติบัตรที่ทางโรงเรียนทำให้แม่ของอะมิจัง แล้วก็อ่านเสียงดัง ใจความว่า

 

“ประกาศเกียรติคุณ คุณซะโนะ ฮะสึมิ ตลอดระยะเวลา 1 ปีอันยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นวันที่ฝนตก วันที่มีพายุ คุณแม่ได้กรุณามาโรงเรียนพร้อมกับอะมิจังทุกวันไม่เคยขาด ในขณะที่แม่ลูกแนบชิดผูกพัน ก็ได้ทำให้เด็กคนอื่น ๆ ร่าเริงสดใสไปด้วย คุณแม่ของอะมิจัง ผู้อบรมบ่มเพาะลูกน้อย จนเป็นเด็กที่สง่างาม คือ คุณแม่ดีเด่น”

 

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคุณแม่อะมิจัง

 

 

ติดตามเรื่องราวของซะโนะ อะมิ ย้อนหลังได้ที่

- On the Way Home EP.21 Sano Ami เชียร์ลีดเดอร์ไร้แขนขาชาวญี่ปุ่น 1

- On the Way Home EP.22 Sano Ami เชียร์ลีดเดอร์ไร้แขนขาชาวญี่ปุ่น 2

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER