ปลดล็อกกับหมอเวช EP.31 หยุดกังวลว่าจะต้องตัดสินใจให้ถูกต้อง

26 กันยายน 2020 79 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.31 หยุดกังวลว่าจะต้องตัดสินใจให้ถูกต้อง

เวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญในช่วงเวลาที่มีความกดดัน เรามักจะลุ้นและกังวลไปกับการตัดสินใจของตัวเองว่าเลือกทางที่ดีแล้วหรือไม่ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แล้วจะทำอย่างไรให้คลายจากความกังวลนี้ ติดตามได้ใน ปลดล็อกกับหมอเวช EP.31 หยุดกังวลว่าจะต้องตัดสินใจให้ถูกต้อง

 

ทำไมถึงกังวลเมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญในช่วงเวลาที่มีความกดดัน

 

ธรรมชาติของอารมณ์ ความนึกคิด และความสามารถในการจัดการชีวิต จะเชื่อมถึงกันเวลาที่เราเครียด ระบบร่างกาย การทำงานของสมอง การทำงานของเส้นทางความคิดจะสูญเสียความยืดหยุ่น สูญเสียความสามารถในการมองการณ์ไกล ทำให้เราสูญเสียความสามารถในการคิดและตัดสินใจที่ดีไป

 

 

 

สมควรไหมที่ไม่ต้องกังวลถ้าต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ

 

คำว่า ไม่ต้องกังวล หมายถึง ไม่ต้องกังวลว่าตัดสินใจแล้วต้องถูก ซึ่งมีเหตุผล 2 ข้อหลัก ๆ คือ

 

 

1. ต่อให้ตัดสินใจถูก ผลลัพธ์อาจไม่ออกมาอย่างที่อยากได้

 

ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องกังวลกับการตัดสินใจว่าจะต้องถูก เวลาตัดสินใจเรื่องสำคัญ เรามักให้ความสำคัญกับการตัดสินใจ ณ เวลานั้น แล้วเข้าใจว่า การเลือก ณ เวลานั้นจะกำหนดผลลัพธ์ตามมา แต่ไม่ได้คิดว่า หลังจากตัดสินใจแล้ว ยังมีอะไรตามต่อมาบ้าง

 

ความจริงคือ ต่อให้เราตัดสินใจได้ดีที่สุด ณ เวลานี้ ก็ไม่รับประกันว่า ผลจะออกมาดีอย่างที่ต้องการ ยังมีปัจจัยอีกมากมายกำหนดผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตเรา

 

 

2. ยิ่งกังวล ยิ่งเครียด ยิ่งขวางการตัดสินใจที่ดี

 

เวลาที่กังวลและเกร็งกับการตัดสินใจ เรามักจะคิดวน คิดวิเคราะห์ หยิบข้อมูลมาคิดเยอะจนข้อมูลท่วม ทำให้เครียด ความเครียดทำให้ความสามารถในการมองการณ์ไกลมีจำกัด ขาดความยืดหยุ่น เราจะนึกถึงแต่การจัดการโจทย์เฉพาะหน้า เมื่อไรที่คิดวิเคราะห์มากจนไม่กล้าตัดสินใจ นั่นแปลว่าความกังวลใจกลายเป็นตัวขวางการตัดสินใจที่ดีของเรา อย่างไรก็ตาม เรายังต้องคิดวิเคราะห์อย่างมีระบบ

 

 

 

ขั้นตอนการตัดสินใจ

 

- ทำความเข้าใจโจทย์ เข้าใจปัญหา รู้ว่าอยากจะไปไหน

 

- ดูทางเลือกให้รอบด้าน หลักคิดสำคัญคือ ถ้าเห็นทางเลือกมากพอ ความคิดจะรอบด้านมาก ถ้าอยากให้ความคิดยืดหยุ่น พยายามคิดตัวเลือกให้ได้อย่างน้อย 3 ตัว

 

- ดูผลตามมาที่จะเกิดขึ้น จะดำเนินการอย่างไร

 

- ตัดสินใจ ลงมือทำ การตัดสินใจเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของกระบวนการจัดการชีวิต บางครั้งการตัดสินใจผิด ผลลัพธ์ในชีวิตอาจดี และบางครั้งการตัดสินใจถูก ผลลัพธ์ในชีวิตอาจไม่ดีก็ได้

 

- ประเมินผลการตัดสินใจและติดตามปรับปรุง หลังตัดสินใจยังมีสิ่งต่าง ๆ ตามมาอีกเยอะ ทั้งต้องเผชิญกับปัจจัยที่ไม่ได้คิดถึง ต้องเจอกับสิ่งที่วางแผนไว้แต่ทำไม่ได้ ทำให้ต้องตัดสินใจอีกหลายรอบเพื่อไปสู่จุดหมายที่ต้องการ

 

ดังนั้น คิดให้ดี แต่ไม่ต้องกังวลมาก เพราะกังวลมากไปก็ไม่ได้ทำให้สิ่งนั้นดีขึ้น

 

 

 

 

ทำอย่างไรไม่ให้กังวลเกินไป

 

1. ตระหนักว่าชีวิตเต็มไปด้วยปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้

 

สิ่งที่ทำได้คือ คิดให้เป็นระบบ เป็นขั้นตอน รวบรวมข้อมูลมาประกอบเท่าที่ทำได้ คิดไปถึงหลังการตัดสินใจ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

 

คิดให้ดี แต่ต้องรู้ว่า ต่อให้คิดให้ดีที่สุดก็จะมีบางอย่างที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นโดยเราไม่สามารถทำอะไรได้ล่วงหน้า ถ้าเตรียมใจได้ถึงความไม่แน่นอน ก็จะไม่ประมาทตั้งแต่ต้น และจะพร้อมรับสถานการณ์อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น

 

 

2. สังเกตปฎิกิริยาทางอารมณ์ความรู้สึกในใจเรา

 

เวลาที่รู้ตัวว่าคิดวนและกังวลเยอะเกิน ให้หันกลับมาใส่ใจอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเรา ซึ่งต้องฝึกฝนอย่างน้อย 3 อย่าง ดังนี้

 

2.1 ฝึกตระหนักว่าอารมณ์มีผลต่อการตัดสินใจ เช่น ความกลัวอาจเบี่ยงเบนการตัดสินใจให้ไม่ทำสิ่งที่สมควรเดินหน้าต่อ หรือความโกรธอาจทำให้ตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่ควรทำ

 

2.2 ฝึกเข้าใจแรงจูงใจและความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง หลายคนเลือกที่จะตัดสินใจโดยไม่ตระหนักว่าแรงจูงใจหรือความต้องการของตัวเองคืออะไร ซึ่งตรงนี้ไม่มีใครบอกได้ นอกจากเราจะรู้ตัวเอง

 

2.3 ฝึกจินตนาการสมมติตัวเองไปอยู่ในอนาคตที่ตัดสินใจ ลองจินตนาการว่า ถ้าตัดสินใจแล้วได้ผลตามนั้น จะเป็นความรู้สึกอย่างไร สมมติตัวเองไปอยู่ในอนาคต จะได้รู้ว่าจริง ๆ นั่นใช่สิ่งที่ต้องการไหม มีอะไรที่ต้องเจอตามมา และถ้าพลิกผัน ไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ จะเป็นประมาณไหนได้บ้าง

 

 

3. ลองประเมินแรงจูงใจในการลงมือทำในแต่ละทางเลือก

 

เช่น ถ้าเลือกแล้วมีทางเลือกอยู่ 2-3 ทาง ไม่ว่าจะทำอะไร คุณต้องเข้าใจแรงจูงใจของตัวเองในการทำสิ่งนั้น เช่น อยากเปิดร้านกาแฟ ก็จะมีคำถามหลายอย่างตั้งแต่ ลูกค้าคือใคร มีจุดเด่นตรงไหน คอนเซปต์ร้านเป็นอย่างไร ใครเป็นคนจัดการ ถ้าทำแล้วเหนื่อยยาก มีกำไรน้อย อย่างน้อยก็ได้ลอง หรือต่อให้ขาดทุนต้องปิดตัว ก็พร้อมเพราะอยากลองดู นั่นจะทำให้เห็นว่า คุณต้องการอะไร แรงจูงใจคืออะไร ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร เราต้องประเมินพลังของเราที่จะเดินในเส้นทางนั้น ซึ่งจะเห็นว่า ผลที่ได้ไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจ แต่อยู่ที่ผลที่ตามมาหลังการตัดสินใจ

 

 

4. ตระหนักว่าไม่ว่าจะเลือกทางไหนนั่นคือเส้นทางเดินของเรา

 

เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณยังต้องตัดสินใจอีกหลายรอบ เพื่อไปสู่จุดหมาย กระบวนการนั้นคือการใช้ชีวิตจริง แต่ถ้าอยู่กับการคิดวน คิดวิเคราะห์ ไม่ได้ลงมือทำ คุณไม่มีทางได้เรียนรู้โลกของความเป็นจริง

 

 

ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนขี้กังวล ต้องเปลี่ยนนิสัยคิดวน ขี้กังวลให้กลายเป็นนิสัยลงมือทำ การคิดตัดสินใจเป็นเพียงก้าวแรก ที่จะต้องตามมาด้วยการลงมือทำหลายอย่าง

 

สิ่งที่กำหนดผลลัพธ์ของชีวิตเราไม่ใช่จุดเริ่มต้น แต่คือการลงมือทำ การแก้ปัญหา และการจัดการสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากที่เราเลือกเดินทาง

 

เวลาที่เลือกเดินไปบนเส้นทางหนึ่ง จะเกิดโจทย์อีกหลายเรื่อง บางเรื่องอาจคาดการณ์ได้ บางเรื่องไม่ได้ สิ่งที่จะช่วยให้จัดการโจทย์เหล่านั้นได้และไปสู่จุดหมายที่ต้องการ คือ ความสามารถที่จะประเมินสถานการณ์ ความสามารถที่จะตัดสินใจในแต่ละขณะ และตระหนักว่าเรากำลังพยายามจะไปไหน เพราะอะไร นั่นเป็นเหตุที่เราต้องเข้าใจแรงจูงใจ อารมณ์ ความรู้สึก ธรรมชาติของความไม่แน่นอน และรู้ว่า ของจริงไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจ ของจริงอยู่ที่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังตัดสินใจ

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER