เม้าท์มอยสายมู EP.01 เบิกฤกษ์

11 ตุลาคม 2020 754 ครั้ง

เม้าท์มอยสายมู EP.01 เบิกฤกษ์

สายมูคืออะไร? คุณเป็นหนึ่งในสายมูหรือเปล่า? มาลองเช็กตัวเองกันได้ใน “เม้าท์มอยสายมู” EP.01 เบิกฤกษ์ โดย ผู้เชี่ยวชาญสายมู พี่เกด การะเกต์พยากรณ์ และ รัศมี มณีนิล

 

สายมูคืออะไร?

 

“สายมู” หรือ “มูเตลู” สันนิษฐานว่า อาจมาจากภาพยนตร์อินโดนีเซียเรื่อง “มูเตลู” ออกฉายประมาณปี 2528 เป็นเรื่องราวของผู้หญิง 2 คนที่สู้กันเพื่อแย่งชิงฝ่ายชาย โดยใช้คาถาอาคม มนต์ดำต่อสู้กัน ซึ่งมีคำโปรยของภาพยนตร์ คือ “มูเตลู ศึกไสยศาสตร์ ระหว่างอาคมต่ออาคม เวทมนต์ต่อเวทมนต์ คาถาต่อคาถา ชีวิตต่อชีวิต”

 

คุณเกด การะเกต์พยากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญสายมู ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับมูเตลูไว้ว่า

 

โดยเนื้อหาแก่นแท้ของมูเตลู เท่าที่รู้มาคือการใช้อิทธิฤทธิ์เวทมนต์คาถา เราก็เรียกได้ว่าเป็นไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์ไม่ใช่ของใหม่ ไม่ใช่ของแปลกในสังคมไทย เราอยู่กับเรื่องความเชื่อ เรื่องการใช้ศาสตร์เวทมนต์คาถากันมาตลอด ดูได้จากเกจิต่าง ๆ เครื่องรางของขลังต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ในสังคมไทยจะคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้”

 

“ถ้าพูดถึงสังคมไทย สายมูน่าจะอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเกือบทุกวัยด้วยซ้ำ แม้แต่เด็ก ถ้าเด็กโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีพ่อแม่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งศาสนามากับพิธีกรรมต่าง ๆ มีทั้งพิธีกรรมทางพราหมณ์ พิธีกรรมสายพุทธ พิธีกรรมเหล่านี้มีความเป็นไสยศาสตร์อยู่ในตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในการดูดวง โหราศาสตร์ ฤกษ์ยามต่าง ๆ ของไทย ไม่ว่าจะเกิด แต่งงาน งานศพ งานบวช งานมงคล สิ่งเหล่านี้ เราจะนิยามว่าเป็นเรื่องของสายมูทั้งหมดก็ได้”

 

 

เสน่ห์ของสายมู

 

เสน่ห์ของสายมู คือ การมีช่องว่างระหว่างความเชื่อ ความหวัง และการไม่ฟันธงว่าเป็นข้อเท็จจริง สมมติคุณอกหัก คุณไปคุยกับเพื่อน เพื่อนพูดมามากมาย ส่วนลึกในใจคุณอาจไม่เชื่อ หรือเชื่อแต่หลอกตัวเองอยู่ พอไปดูดวง หมอดูไม่รู้จักคุณ ไม่รู้สถานการณ์ แต่สิ่งที่เขาบอกกับคุณ เขารู้ได้อย่างไร

 

บางทีหมอดูคอนเฟิร์มว่า ปัญหาจะคลี่คลาย แก้ได้ คุณก็เริ่มสบายใจ ในขณะที่เพื่อนบอกแบบเดียวกันแต่กลับไม่เชื่อ ขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่ว่างสำหรับความไม่เชื่อ พอหมอดูทักว่าดี คุณก็เชื่อ แต่พอทักว่าไม่ดี คุณอาจจะรู้สึกว่าไม่แม่นก็ได้ เหมือนกับสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไปตอบสนองด้านต่าง ๆ ของจิตใจ

 

 

โหราศาสตร์ VS ไสยศาสตร์

 

“โหราศาสตร์”

 

โหรา มาจากคำว่า เวลา

 

โหราศาสตร์ คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของระยะเวลา

 

โหราศาสตร์ แยกเป็น 2 อย่าง

 

1. การทำนายที่ใช้วันเดือนปีเกิด ใช้ตำแหน่งของดวงดาวต่าง ๆ ที่โคจร ใช้ระบบจักรราศี มาถอดค่าตามสูตร ตามหลักทฤษฎี เช่น ดาวอาทิตย์มีการทำมุมอย่างไรกับดวงชะตา หรือเวลาผูกดวง ต้องดูก่อนว่า วันนั้นดวงอาทิตย์อยู่ตรงไหนในดวง อยู่ในกลุ่มดาวอะไร ดวงจันทร์อยู่ตรงไหน ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตคนคนนี้

 

2. การทำนายแบบเสี่ยงทายด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ลูกแก้ว ลูกหิน ไพ่ ทำนายจากการหยิบสิ่งของ ใบไม้ เป็นต้น

 

*** การดูไพ่จะแม่นหรือไม่แม่น ขึ้นอยู่กับปัจจัย ดังนี้ 1. สมาธิของคนอ่านไพ่ 2. สมาธิของผู้ที่ต้องการคำทำนาย เพราะเป็นคนเลือกไพ่ 3. พลังบางอย่างที่ถือว่ามีความเร้นลับอยู่ในไพ่ สามตัวนี้จะต้องมาผสมผสานกัน

 

 

“ไสยศาสตร์”

 

ไสย คือ การนอน

 

ไสยศาสตร์ คือ ศาสตร์ของการนอน หมายถึงศาสตร์ของความนิ่งของจิตใจ จิตที่นิ่งที่สุดจะมีพลังมากที่สุด สามารถที่จะบังคับอะไรก็ได้

 

คุณเกดได้ให้นิยามของไสยศาสตร์ไว้ว่า

 

“ไสยศาสตร์ หมายถึง วิชาว่าด้วยการบังคับจิตใจและส่งผลกระเทือนต่อสถานการณ์ ฉะนั้น นักไสยศาสตร์จะต้องมีพลังจิตที่กล้าแข็ง มั่นคง เข้มแข็ง มีจิตใจที่รวมกันนิ่งได้ ถึงจะสามารถบังคับสิ่งต่าง ๆ ได้ เป็นพลังจิตแบบหนึ่ง”

 

“เพราะฉะนั้น ไสยศาสตร์ถึงต้องมีการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ถ้าไปดูในตำนาน คนที่จะเรียนไสยศาสตร์มักเรียนกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ต้องมีการถ่ายทอดเหมือนหลักสูตรทั่วไป ไสยศาสตร์ถึงมีสายดำ สายขาว สายขาวทำอะไร สายดำคืออะไร วัสดุอุปกรณ์ประกอบการเรียนมีอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไร ขั้นตอนวิธีการเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องเรียน”

 

โหราศาสตร์และไสยศาสตร์จะมีพื้นที่ทับซ้อนบางส่วนที่ใกล้เคียงกัน โหราศาสตร์จะเกี่ยวกับเรื่องของฤกษ์ยามเวลา การทำนายทายทัก ไสยศาสตร์จะเป็นเรื่องของพิธีกรรม

 

ในอีพีหน้า มาติดตามเรื่องราวของ “สายมูกับชีวิตคนไทย” เริ่มจากการแต่งงาน มีลูก เกิด แก่ เจ็บ ตาย สายมูเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง พบกันได้ใน เม้าท์มอยสายมู EP.02

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล และ เกด การะเกต์พยากรณ์ 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER