On the Way Home EP.35 พื้นฐานความสุขคือความไว้เนื้อเชื่อใจ

23 ตุลาคม 2020 73 ครั้ง

On the Way Home EP.35 พื้นฐานความสุขคือความไว้เนื้อเชื่อใจ

หลายครั้งที่มีการจัดอันดับที่เกี่ยวกับความสุข ประเทศเดนมาร์กมักติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีความสุขมากที่สุด อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเดนมาร์กมีความสุขมากขนาดนี้ ติดตามได้ใน On the Way Home EP.35 พื้นฐานความสุขคือความไว้เนื้อเชื่อใจ

 

เรื่องเล่าในอีพีนี้มาจากหนังสือ ลุกกะ : วิถีความสุขจากทุกมุมโลก เขียนโดย Meik Wiking (ไมก์ วิกิง) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุขในโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก แปลโดย คุณลลิตา ผลผลา

 

ในบทที่ 7 ของหนังสือ กล่าวถึงเรื่อง “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้คนมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการไว้เนื้อเชื่อใจกับคนในครอบครัว สามีภรรยา พ่อแม่ลูก สังคม และประเทศชาติ ถ้าเรามีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ชีวิตจะมีความสุข เพราะเราจะไม่ต้องเสียเวลา หรือเสียสุขภาพจิตไปกับความกังวล

 

ความสุข คือภาวะที่ไม่มีความทุกข์มาบีบคั้น ไม่มีความกังวล ไม่มีความเจ็บปวดทั้งร่างกาย จิตใจ แต่ถ้ามีความกังวล มีความหวาดระแวง มีความเดือดเนื้อร้อนใจ ชีวิตก็คงหาความสุขได้ลำบาก

 

เวลาที่มีการจัดอันดับเกี่ยวกับความสุข ประเทศเดนมาร์กมักติดอันดับทุกที คุณเอริก้า แอนเดอร์เซน ได้เขียนบทความตีพิมพ์ในนิตยสารฟอร์บส (FORBES) หลังจากที่เธอไปเดนมาร์กเพื่อหาคำตอบว่า ทำไมประเทศนี้ถึงทำผลงานได้ดีเวลาที่มีการจัดอันดับความสุข

 

เธอเล่าว่า ครั้งหนึ่งจะขี่ม้า อยากเช่าม้า ปรากฎว่าเจ้าของคอกม้าไม่รับชำระด้วยบัตรเครดิต รับเฉพาะเงินสดเท่านั้น และได้บอกว่า “เอาไปขี่ได้เลย มีเงินเมื่อไรค่อยมาจ่าย”

 

เอริก้าบอกว่า ชาวเดนมาร์กมีความสุขเพราะสังคมของเขามีความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระดับสูง ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นหนึ่งในปัจจัย 6 ประการที่ทำให้บางประเทศมีความสุขมากกว่าประเทศอื่น ๆ

 

จากรายงานความสุขโลก ปี 2015 ระบุว่า สังคมที่ประสบความสำเร็จ คือสังคมที่คนไว้เนื้อเชื่อใจกันในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน มิตรสหาย คนแปลกหน้า หรือสถาบันต่าง ๆ ความไว้เนื้อเชื่อใจกันในสังคม กระตุ้นให้ผู้คนรู้สึกพึงพอใจในชีวิต คนที่เชื่อใจคนอื่นจะมีความสุขมากกว่า และความเชื่อใจกันก็ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นได้

 

คนที่เชื่อใจคนอื่น ไว้ใจคนอื่น จะไม่เหนื่อย เพราะว่าจะแบ่งเบาภาระให้คนอื่นได้ช่วยเหลือ แต่คนบางคนที่ไม่เชื่อใจใครเลย จะเอางานไว้ทำหมดเลย ไม่เชื่อ กลัวว่าคนอื่นจะทำได้ไม่ดีเท่ากับตัวเอง ผลคือ เหนื่อย

 

เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีระดับความไว้เนื้อเชื่อใจกันสูงมาก ขนาดที่ว่า ถ้าเป็นข้อตกลงทางธุรกิจเล็ก ๆ น้อย ๆ เขาจะไม่ร่างสัญญา ที่นั่นผู้จัดการจะไม่จุกจิกจู้จี้กับคนทำงาน แต่จะไว้ใจว่าลูกน้องจะทำงานเสร็จตามกำหนดที่ตกลงกันไว้

 

คนเดนมาร์กจะเรียก CEO หรือผู้บริหารระดับสูงด้วยชื่อต้น ซี่งการเรียกชื่อต้นนั้นแสดงถึงความสนิท อีกทั้งยังสามารถรับประทานอาหารกลางวันร่วมโต๊ะเดียวกัน พูดคุยกันทั้งเรื่องงานและชีวิตส่วนตัวได้อย่างเปิดอก ที่นี่จะมีการวางรากฐานความสำเร็จบนการร่วมแรงร่วมใจ และการทำงานเป็นทีม มากกว่าที่จะพยายามตะเกียกตะกายขึ้นไปเป็นดาวเด่นเพียงคนเดียว

 

คุณไมก์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกว่า จิตวิญญาณของการร่วมแรงร่วมใจ ความเท่าเทียม และความไว้เนื้อเชื่อใจในที่ทำงานของคนเดนมาร์กไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการหล่อหลอม การสั่งสมทักษะทางสังคม การร่วมมือ การเห็นอกเห็นใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งมาจากการปลูกฝังในวัยเด็ก เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนของชาวเดนมาร์ก

 

เคยมีคุณแม่ชาวเดนมาร์กไปอยู่ที่นิวยอร์ก และโดนจับ เนื่องจากคุณแม่ท่านนี้ไปร้านอาหารที่มีบริเวณที่นั่งด้านนอกซึ่งมีโซ่กั้นเอาไว้ และได้จอดรถเข็นเด็กที่มีลูกสาวของเธอหลับอยู่ในนั้นไว้นอกร้าน ส่วนเธอกินอาหารอยู่ข้างใน และคอยเฝ้าดูลูกผ่านหน้าต่าง ปรากฎว่าโดนจับกุม ในข้อหาละเลยลูก คุณแม่ท่านนี้ต่อสู้คดีว่า เธอไม่ได้ทำอะไรผิด เธอทำอย่างที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ในเดนมาร์กทำกัน

 

ในโคเปนเฮเกน จะเป็นภาพที่ผู้คนคุ้นตากับการที่พ่อแม่นั่งดื่มกาแฟอยู่ในร้าน และเด็ก ๆ ซึ่งเป็นลูกของพวกเขานอนหลับอยู่ในรถเข็นเด็ก ถูกจอดไว้ตามพื้นที่สาธารณะนอกอาคาร คือไม่ได้พาลูกเข้าไปด้วย เขาทำกันแบบนี้ เป็นเรื่องปกติ และที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไร เพราะสังคมของเขาเป็นที่เชื่อถือได้ ไว้ใจได้ว่าจะไม่มีอันตรายเกิดขึ้น

 

ถ้าออกไปตามชนบทของเดนมาร์กจะเห็นแผงผักริมถนนที่ไม่มีคนเฝ้า ใครอยากได้ก็เอาเงินสดหย่อนไว้ในกล่อง แล้วหยิบผักไป

 

 

ระบบการศึกษาของเดนมาร์ก

 

ระบบการศึกษาของเดนมาร์ก มุ่งเน้นปลูกฝังให้เด็กรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นลำดับแรก เด็ก ๆ มักได้รับมอบหมายให้ทำงานเป็นกลุ่ม เพื่อเรียนรู้การรับมือกับงานในอนาคต และเพื่อให้มีทักษะทางสังคม รู้คุณค่าของการร่วมมือกัน

 

เวลาที่สอนเด็กปลูกฝังเรื่องการไว้เนื้อเชื่อใจ คุณครูจะให้เด็กดูภาพสีหน้าที่แตกต่างกัน แล้วคุยเรื่องอารมณ์ต่าง ๆ ที่คนเรารู้สึก พูดถึงสาเหตุที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น เด็กจะมีความเข้าใจในเรื่องของอารมณ์ เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น มีทักษะที่ดีทางเรื่องความฉลาดทางอารมณ์

 

ระบบการศึกษาที่เน้นแพ้ชนะ จะเป็นการบ่อนทำลายโอกาส และทำลายความสุข ความสุขคือสิ่งหนึ่งที่จะไม่ลดน้อยลงเมื่อแบ่งปันกันในโรงเรียน ไม่ต้องแย่ง แต่มีด้วยกัน ยิ่งแบ่งยิ่งมาก

 

โรงเรียนในเดนมาร์กจะไม่จัดอันดับนักเรียน เด็ก ๆ จะไม่ได้รับผลการเรียนอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในทุก ๆ ปี ครูกับผู้ปกครองจะคุยกันเรื่องพัฒนาการของเด็กคือวัดผลจากตัวเด็กเอง ว่าเด็กดีขึ้นอย่างไร ทั้งในด้านวิชาการ สังคม อารมณ์ เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ให้เด็กแข่งกับตัวเอง ให้เด็กดีขึ้นเมื่อเทียบกับตัวเอง

 

ในทรรศนะของคนเดนมาร์ก เกมเก้าอี้ดนตรี คือเกมล่าชีวิตขนาดเบา ๆ เกมนี้จะสอนให้เด็ก ๆ ต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรที่หายาก และถ้าเราเป็นคนแรกที่ออกจากเกม เราก็ต้องยืมมองเกมต่อไป แทนที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งในเกมนั้น

 

เขาจึงเปลี่ยนวิธีเล่น แทนที่จะแย่งกันแต่เปลี่ยนเป็นสอนให้ร่วมมือกัน โดยเริ่มด้วยเด็ก 10 คน กับเก้าอีก 9 ตัวเหมือนเดิม พอเพลงหยุด ทุกคนจะนั่งลง จะมีเด็ก 2 คนที่ต้องนั่งเก้าอี้ตัวเดียวกัน งานนี้ไม่มีใครออก ทุกคนได้อยู่ในเกม แต่สิ่งที่ต้องออกคือเก้าอี้ คนที่เหลืออยู่ต้องหาวิธีนั่งเก้าอี้ที่เหลือให้พอ จนกระทั่งรอบสุดท้าย เด็ก 10 คนจะต้องพยายามนั่งเก้าอี้ตัวเดียวกันให้ได้

 

 

5 วิธีส่งเสริมให้เด็กมีทักษะเห็นอกเห็นใจคนอื่น

 

1. ออกไปเดินเล่นแล้วเล่าเรื่อง คือออกไปเดินเล่น แล้วมองหาใครสักคนหนึ่ง พอหาได้แล้วก็ให้มาคุยกับเด็กว่า ดูจากรูปลักษณ์ภายนอก คนนี้เขาน่าจะมีชีวิตเป็นอย่างไร

 

2. วาดรูปใบหน้าลงกลางหน้ากระดาษ โดยแสดงอารมณ์สุข โกรธ โศกเศร้า หรืออารมณ์อื่น ๆ แล้ววาดสิ่งที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น ให้เด็กรู้จักเชื่อมโยงอะไรที่ทำให้เขามีความสุข ทำให้มีใบหน้าแบบนี้ อะไรทำให้ใบหน้าบูดบึ้ง เศร้า

 

3. เล่นกำหนดความรู้สึกประจำสัปดาห์ ให้เลือกความรู้สึกมาอย่างหนึ่ง วาดหรือเขียนลงบนกระดาษโน๊ต แล้วติดไว้บนตู้เย็น จากนั้นก็ตั้งกฎว่า ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ ขอให้ลูกบอกเมื่อสังเกตุเห็นว่าตัวเองหรือคนอื่น ๆ กำลังรู้สึกแบบนั้น เช่น ความรู้สึกเศร้า เห็นใครเศร้า แล้วเรามาบอก มาคุยกัน

 

4. ท่าทาง ยืนอยู่หน้ากระจกเงา แล้วเอามือไพล่หลัง แล้วพูด จากนั้นพยายามสื่อสิ่งที่พูดโดยใช้แขนทำท่าทาง เกมนี้อาจเล่นกัน 2 คน ให้คนหนึ่งพูด อีกคนแสดงท่าทางตามที่อีกคนพูด

 

5. เงียบ ให้เปิดภาพยนตร์เรื่องโปรดของลูกแต่ไม่เปิดเสียง ให้ดูแต่ภาพ แล้วชวนคุยถึงสีหน้าที่เห็นในเรื่องว่า ตัวละครมีสีหน้าแบบนี้หมายความว่าอย่างไร แล้วทำไมตัวละครถึงรู้สึกแบบนั้น

 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

 

 

OTHER