Mom Gen 2 EP.39 Empathy ทักษะที่ทำให้ครอบครัวเห็นคุณค่ากัน

16 พฤศจิกายน 2020 410 ครั้ง

Mom Gen 2 EP.39 Empathy ทักษะที่ทำให้ครอบครัวเห็นคุณค่ากัน

“Empathy” คืออะไร ทำไมถึงมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคนเรา โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่พ่อแม่ควรปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ๆ ติดตามข้อมูลได้ใน Mom Gen 2 EP.39 Empathy ทักษะที่ทำให้ครอบครัวเห็นคุณค่ากัน

 

ในโลกยุคนี้ที่สังคมมีความซับซ้อน เรายิ่งต้องรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้เป็น เห็นอกเห็นใจกัน มองเห็นผู้อื่นด้วย แต่ดูเหมือนว่า สิ่งเหล่านี้หายไป ผู้คนมองเห็นแต่ตัวเอง ไม่ได้นึกถึงผู้อื่น รวมไปถึงเด็กและเยาวชน ที่จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและการมีส่วนร่วมของสังคมทุกวันนี้

 

ทักษะที่มีความจำเป็นแต่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง คือ “Empathy” หมายถึง การเห็นใจผู้อื่น เราสามารถเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นผ่านมุมมองของเขา ไม่ใช่เอาประสบการณ์ของเราไปตัดสิน ทำไมต้องผ่านประสบการณ์ของเขา ยกตัวอย่าง พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกอาจจะมีเหตุผลในแบบของตัวเอง แต่บางทีพ่อแม่ใช้ประสบการณ์ วัย หรือทัศนคติของตัวเองตัดสินลูกไปแล้ว แต่ถ้าเรามองในมุมมองของลูก ลูกก็จะมีเหตุผลในการตัดสินใจอีกแบบที่ไม่เหมือนกับเรา เพราะในวัยและประสบการณ์ของเขา ถ้าเราไม่ไปตัดสินลูกทันที เราอาจจะได้รับฟังเหตุผลในการตัดสินใจของลูกก็ได้

 

 

ทำไมต้องมี Empathy

 

ถ้าในทุกครอบครัวมี Empathy เราจะฟังกัน พ่อแม่ยอมรับฟังลูก ลูกก็ยอมรับฟังพ่อแม่ บนเหตุผลของเขา การสื่อสารในครอบครัวเราต้องรับฟังทุกเสียง ให้คุณค่ากับความคิดเห็น ทักษะนี้จะทำให้สมาชิกในครอบครัวเห็นคุณค่าของกันและกัน ซึ่งตอนนี้หายไปจากสังคมไทยแม้กระทั่งตัวเราเอง เพราะเราเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง แล้วไปตัดสินผู้อื่น เราต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา

 

ยิ่งในครอบครัว พ่อแม่มอบความรักให้ลูกแบบไหน ให้ลูกได้แสดงความรักโลก รู้จักให้เกียรติผู้อื่นด้วยไหม เพราะถ้าพ่อแม่แสดงความรักลูกอย่างเหมาะสม ลูกก็จะรู้จักแสดงความรัก เห็นคุณค่าในตัวเอง สิ่งที่ตามมาคือ ลูกจะรู้จักการให้ ส่งต่อความรักให้คนอื่นเป็น เพราะการคิดถึงคนอื่น จะทำให้ลูกรู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา

 

คำว่ารักลูก ต้องเป็นความรักที่มีความเหมาะสมด้วย เราต้องรู้ว่า เมื่อไหร่ที่เราจะให้ลูกรู้ว่าเราต้องรักตัวเองให้เป็น ต้องมีเทคนิคในการฝึกด้วย ต้องไม่ละเลยความรู้สึกของลูก ด้วยธรรมชาติเด็กจะมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอยู่แล้ว โดยเฉพาะพ่อแม่ พ่อแม่ก็ต้องรู้จักรับรู้ความรู้สึกของลูกด้วย

 

 

เริ่มต้นสร้าง Empathy

 

จากหนังสือของ แดเนียล โกลแมน เรื่อง Emotional Intelligence หรือ EQ ได้พูดถึงพื้นฐานของการมี EQ ที่ดี คือ การมีสติรู้ตัว หมายถึงการเข้าใจอารมณ์ตัวเอง และรู้ถึงผลกระทบของการแสดงอารมณ์ รู้จักข้อจำกัดในการแสดงอารมณ์ของตัวเอง รู้จักตัวเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา EQ

 

พ่อแม่ต้องกลับมามองถึงวิธีการเลี้ยงลูกของตัวเองก่อนว่า เราให้ลูกเป็นจุดศูนย์กลางของบ้านไหม มีแนวโน้มการเอาอกเอาใจลูกไหม เพราะถ้าเราเลี้ยงลูกไปแบบนี้เรื่อย ๆ เมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มองตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในบ้านเราก็มีผู้ใหญ่ที่โตมาในลักษณะถูกเอาใจเยอะมาก เห็นได้จากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผ่านออกมาทั้งพฤติกรรมและความคิด

 

พ่อแม่ต้องรู้จักสร้างการสื่อสารระหว่างกันในครอบครัว ไม่ว่าลูกจะอยู่วัยไหนก็ต้องฟังให้มาก เข้าใจลูกให้มาก สร้างครอบครัวให้รู้จักการรับฟังกันภายในครอบครัว รับฟังกันด้วยความตั้งใจ ความใส่ใจ เราต้องใช้ความรักในการสร้างเรื่องนี้ขึ้นมา

 

ถ้าเราไม่อยากให้ลูกกลายเป็นคนที่เอาแต่ใจตัวเอง ก็ต้องไม่ไปสร้างคุณลักษณะแบบนั้น เพราะการเป็นศูนย์กลางของบ้าน จะกลายเป็นปัญหาเมื่อเด็กคนนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าลูกเราไม่มี Empathy ในครอบครัว เมื่อลูกออกสู่สังคมภายนอกก็จะไม่มีเช่นกัน

 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER