On the Way Home EP.39 เรื่องจริงของ ดร.จากกองขยะ

20 พฤศจิกายน 2020 186 ครั้ง

On the Way Home EP.39 เรื่องจริงของ ดร.จากกองขยะ

จากเด็กเกเร ไม่สนใจเรียน ขี้ขโมย ต้องเลี้ยงชีพด้วยการเก็บขยะขายช่วยแม่ในวัยเด็ก สู่ความพยายาม มานะบากบั่น จนกระทั่งจบปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากประเทศญี่ปุ่น เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของอาจารย์ท่านนี้ ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจของ ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ ได้ใน On the Way Home EP.39 เรื่องจริงของ ดร.จากกองขยะ

 

ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ เกิดในครอบครัวที่ยากจน พ่อเป็นพนักงานขับรถทัวร์ปรับอากาศสายกรุงเทพ-ชุมพร แม่เป็นแม่บ้าน ทั้งคู่เป็นพ่อหม้ายและแม่หม้าย พ่อมีลูกติดเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง แม่มีลูกติดเป็นหญิง 1 ชาย 1 พอจดทะเบียนสมรสกันก็มาอยู่ที่ชุมพร

 

ดร.กุลชาติ เมื่อเกิดมาก็มีพี่ 3 คน หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็มีน้องสาวอีก 1 คน แต่พ่อกับแม่อยู่ด้วยกันได้ไม่นานก็ทะเลาะกันด้วยเรื่องหึงหวง จึงเลิกกันไป

 

พ่อไปทำงานที่อื่น และนำลูกสาวคนเล็กไปด้วย ทิ้งให้แม่ดูแลลูก 4 คนตามลำพัง พ่อเคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว พอไม่อยู่ แม่ก็ลำบาก จึงแก้ปัญหาด้วยการนำเครื่องใช้ในบ้านไปจำนำ

 

ดร.กุลชาติ บอกว่า เขาเดินเข้าออกโรงรับจำนำเป็นว่าเล่นตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เมื่อข้าวของที่จะนำไปจำนำหมดแล้ว แม่ก็พยายามหางานทำ ไปเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารแถวทับสะแก ต้องไปทำงานกินนอนที่นั่น ลูกก็ต้องอยู่กันตามลำพัง ทุกเดือนแม่จะส่งเงินมาให้ 500 บาท 300 บาทต้องจ่ายเป็นค่าเช่าบ้าน อีก 200 บาท ให้บริหารจัดการดูแลกันเอง 4 คน

 

หลังจากนั้นไม่นาน พี่ ๆ ก็ทยอยออกจากบ้านไปทีละคน พี่สาวต่างพ่อก็หอบเสื้อผ้าหายไปตอนอายุ 15 ปี ทุกวันนี้เป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ไม่ทราบ พี่ชายต่างพ่อไปเป็นลูกเรือตังเก

 

ดร.กุลชาติจึงอยู่กับพี่สาวอีกคนหนึ่ง ถึงแม้ว่าพี่จะหายไปสองคน แต่ค่าใช้จ่ายก็ไม่พออยู่ดี ต้องอยู่กันแบบอด ๆ อยาก  ๆ

 

วันหนึ่ง 2 คนพี่น้อง ไม่มีเงินเลยสักบาท พี่สาวชวนน้องไปเด็ดผักบุ้งในบึงเล็ก ๆ ใกล้บ้าน แล้วเอาอิฐ 3 ก้อนมาวางเพื่อก่อกองไฟ นำผักบุ้งที่เด็ดได้มาผัดในน้ำเปล่า ๆ กินประทังชีวิต

 

ดร.กุลชาติ บอกว่า เขากินผักบุ้งที่ผัดในน้ำเปล่าด้วยความเอร็ดอร่อย เหมือนเป็นของกินที่แสนวิเศษมาก กินแบบไม่ยั้ง แต่กินได้ไม่เกิน 2 วัน ร่างกายประท้วง อาเจียนออกมาหมดเลย พี่สาวเห็นน้องเป็นแบบนั้นก็สงสารมาก ไปขอข้าวเพื่อนบ้านมาให้กิน และนั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เขาเรียนรู้ว่า เราขอคนอื่นกินได้

 

จากนั้นไม่นาน พี่สาวก็หนีไปอีกคน เหลือดร.กุลชาติ คนเดียว เขาก็ใช้ชีวิตเป็นเด็กเร่ร่อน กลับบ้านบ้าง ไม่กลับบ้าง เริ่มหนีเรียน กินนอนอยู่ที่ บขส. กินข้าวที่เหลือในจานของผู้โดยสารที่มารอรถ และเดินขอเงินคนแถวนั้น บางวันก็ไปขอข้าวกินที่ศาลเจ้า หนัก ๆ เข้าก็ไปขโมยผลไม้ของพ่อค้าแม่ค้าตามแผงต่าง ๆ แล้วก็มีคนสอนให้ขโมยเงินจากตู้เกม แต่ทำได้ไม่นานก็เลิก เพราะกลัวตำรวจจับ

 

เขาใช้ชีวิตอยู่คนเดียวประมาณ 2 ปี พอแม่กลับมา ตอนแรกก็ดีใจ แต่หลังจากนั้นก็ไม่แน่ใจว่าดีไหม เพราะพอแม่กลับมา แม่ก็ตกใจว่า ลูกต้องอยู่คนเดียว แล้วลูกก็โทรม สกปรกมาก ที่สำคัญกลายเป็นเด็กเหลือขอ เป็นเด็กขี้ขโมย แม่ก็ทั้งขัดทั้งเกลาทั้งร่างกายและจิตใจ ลูกก็ดื้อดึง

 

แม่บังคับให้ไปโรงเรียนอีกครั้ง และบอกว่า ถึงเรายากจนก็อย่าให้ใครมาดูถูก อย่าไปลักเล็กขโมยน้อย แล้วก็สอนให้ทำงานตั้งแต่หุงข้าว ไปจนถึงการเดินขายข้าวขายน้ำในบขส. พอแม่รู้ว่าลูกเป็นขโมย แม่โกรธมาก พยายามที่จะขัดเกลาและดัดนิสัย เพื่อป้องกันที่จะไม่ให้ลูกเดินไปบนเส้นทางของมิจฉาชีพที่จะยิ่งไปกว่านี้

 

วันหนึ่งแม่ค้นพบว่า ขยะเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงครอบครัวได้ และจะได้อยู่ด้วยกันแม่ลูก สองคนแม่ลูกเลยเลือกที่จะทำอาชีพเก็บขยะ ทุก ๆ วันจะเข็นรถไปเก็บขยะรอบ ๆ เมือง ตอนเย็นลูกชายกลับจากโรงเรียน แม่ก็จะเรียกให้มาช่วยกันแยกขยะที่กองอยู่ในรถเข็น

 

ดร.กุลชาติ บอกว่า ตอนที่แม่กลับมา ถูกตีแทบทุกวันเลย แล้วก็ไม่เข้าใจ ทำไมแม่ต้องตีด้วย จนกระทั่งโตแล้ว ถึงได้รู้ว่า ตอนนั้นการตีเป็นวิธีที่แม่ใช้กำราบ

 

แม่บังคับให้ลูกไปโรงเรียน ทั้ง ๆ ที่ลูกไม่อยากไปแล้ว เพราะหยุดเรียนไปนาน จนวันหนึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่แม่ทำให้ลูกซาบซึ้งใจ คือ ส้วมเต็ม ใช้งานไม่ได้ ลูกก็งอแง บอกไม่อยากไปโรงเรียน อ้างเหตุผลสารพัด สุดท้ายอ้างส้วมเต็ม ไม่ได้เข้าห้องน้ำ ไม่อยากไปโรงเรียน

 

ในค่ำวันนั้นเอง ดร.กุลชาติเห็นแม่ลุกจากเตียง และเดินเบา ๆ มาจุดเทียนที่ชั้นล่าง เพราะกลัวลูกจะตื่น แม่ค่อย ๆ ใช้ค้อนสกัดเซาะขอบปูนของส้วมซึมเพื่อเปิดให้มีช่อง แล้วใช้กระป๋องสีที่ไม่ใช้แล้ว ตักสิ่งปฏิกูลออกมาทีละกระป๋อง แล้วก็เดินไปเททิ้งให้ห่างจากละแวกบ้าน เนื่องจากส้วมเต็ม ถ้าไปจ้างคนมาดูดก็ต้องเสียตัง แม่จึงจัดการเอง ทำงานที่แสนจะน่ารังเกียจ ปรากฎว่าลูกเห็นก็แอบมองแม่อยู่เงียบๆ แม่ทำตั้งแต่ 3 ทุ่ม ถึงตี 2 เขาอึ้งไปเลยว่าแม่ทำได้ทุกอย่าง เพียงเพื่อให้เขายอมไปโรงเรียน เพราะเขาอ้างกับแม่ว่า ส้วมเต็มไม่ไปโรงเรียน แม้แต่สิ่งที่น่ารังเกียจที่สุด แม่ก็ทำได้ นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยน

 

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ชีวิตก็เปลี่ยนไป ดร.กุลชาติกลายเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียน สอบได้คะแนนดี พอจบชั้นประถม ก็ได้โควต้าไปต่อมัธยมที่โรงเรียนประจำจังหวัด แม่ก็ยังคงเก็บขยะขายอยู่เหมือนเดิม

 

ดร.กุลชาติ บอกว่า การทำอาชีพเก็บขยะที่หลายคนรังเกียจ ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง มันสอนให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่คนอื่นมองว่าไร้ค่า และสอนให้รู้จักอดทน

 

ในวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่งเด็กคนอื่น ๆ จะได้พักผ่อน ได้เที่ยวเล่น แต่ ด.ช.กุลชาติ จะต้องนั่งรถเข็นของแม่ ไปช่วยแม่เก็บขยะรอบเมือง บางครั้งแม้แดดจะร้อน ขยะจะเหม็นก็ต้องทน ที่น่ากลัวมาก คือ เขากับแม่มีบาดแผลจากการถูกของมีคมบาดไม่รู้กี่แผลต่อกี่แผล บางครั้งเป็นแผลฉกรรจ์เลย แต่ด้วยความที่ไม่มีเงินก็กัดฟันรักษากันเองตามมีตามเกิด

 

ดร.กุลชาติเป็นคนที่มีความตั้งใจเรียนมาก พอเรียนชั้นมัธยมจบ เขาก็เรียนต่อปวช. แล้วก็ต่อด้วย ปวส. หลังจากวันที่เห็นแม่ตักสิ่งปฏิกูลออกจากห้องน้ำ เขาก็ตั้งใจเรียน เรียนได้ที่ 1 มาตลอด แล้วก็ได้รับทุนในช่วงเรียนปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยมีข้อแม้ว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องเป็นอาจารย์ที่นั่น

 

พอสอนไปได้สักระยะหนึ่ง ก็สอบเรียนต่อในปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แล้วก็มาต่อปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมศาสตร์ เป็นทุนที่ไปเรียนถึงสถาบันเทคโนโลยีนิปปอน เมืองไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น

 

เขาต้องใช้ความานะพยายาม และอดทนอย่างมากกว่าที่จะผ่านไปได้ ในที่สุดก็เรียนจบ วันที่เรียนจบ เขาเก็บเงินซื้อตั๋วเครื่องบินให้แม่กับน้องสาว ซึ่งตอนหลังได้กลับมาอยู่ด้วยกัน เพื่อมาแสดงความยินดี

 

ในวันรับปริญญา ดร.กุลชาติ บอกว่า เขาได้ก้มลงกราบแม่ บอกแม่ว่า ถ้าไม่มีแม่คอยเคี่ยวเข็ญ คอยดุ คอยกำราบ ในตอนนั้น เขาคงไม่มีวันที่จะมาถึงจุดนี้ และปริญญาเอกนี้ก็ขอมอบให้แม่

 

ปัจจุบัน ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ เป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย เป็นดอกเตอร์ที่มีชีวิตที่สามารถเป็นแบบอย่างให้กับเด็ก ๆ หลายคนที่อาจเติบโตมากจากครอบครัวที่มีต้นทุนทางสังคมไม่มากนัก หรืออาจติดลบด้วยซ้ำ แล้วก็ต้องพยายาม มานะบากบั่นด้วยตัวเอง แต่ว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อเรามีความพยายาม

 

 

สนใจอ่านเรื่องราวชีวิตของดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ แบบเต็ม ๆ ได้ที่ หนังสือ ดอกเตอร์จากกองขยะ สำนักพิมพ์ INSPIRE

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER