ปลดล็อกกับหมอเวช EP.40 ทำงานอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

28 พฤศจิกายน 2020 59 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.40 ทำงานอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

คุณภาพชีวิตที่ดีก็อยากมี ความก้าวหน้าของงานก็อยากได้ แล้วจะทำอย่างไรให้ทั้งสองอย่างนี้สามารถเติบโตไปได้พร้อม ๆ กัน หาคำตอบใน ปลดล็อกกับหมอเวช EP.40 ทำงานอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

งานให้อะไรกับชีวิต

 

นอกเหนือจากเงิน งานทำให้มีเพื่อนและเครือข่าย ทำให้มีสถานะทางสังคมบางอย่างซึ่งเกิดจากงานที่ทำ ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคงในชีวิต มีความภาคภูมิใจ โดยเฉพาะเวลาที่ประสบความสำเร็จในงาน ทำให้ได้ทำสิ่งที่ท้าทาย สร้างความหมายและคุณค่าให้กับชีวิต โดยเฉพาะ งานที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น

 

องค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ทำงานแล้วมีความสุข คือ งานที่ได้เกี่ยวข้องกับผู้คน ได้มีส่วนช่วยให้คนได้เติบโต ได้แก้ปัญหาในชีวิต หรือแก้ปัญหาในเส้นทางงาน

 

งานให้หลายอย่างมากกว่าที่คิด เวลาที่เรามองไปในการทำงาน เราต้องตั้งคำถามว่า สิ่งต่าง ๆ ที่งานมอบให้กับเรา เราได้ตระหนักและได้บริหารมันดีไหม

 

 

 

ทำงานอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

สิ่งเล็ก ๆ ที่ทำในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม มีผลต่อคุณภาพชีวิตและมีผลต่อความก้าวหน้าในงาน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 4 ประเด็น คือ 1. ความสำเร็จ 2. ความสัมพันธ์ 3. ความหมายและความรู้สึกมีคุณค่าในงาน และ 4. ความสมดุลชีวิตและงาน

 

 

ความสำเร็จ

 

สิ่งเล็ก ๆ ที่เราทำเป็นประจำจะมีผลยิ่งใหญ่ต่อความสำเร็จของเรา ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในงาน ความสำเร็จทางการเงิน ความสำเร็จด้านความสัมพันธ์ หรือสุขภาพ เราวัดความสำเร็จได้ ถ้าเราทำสิ่งเล็ก ๆ ในแต่ละวันอย่างถูกต้อง

 

 

ตัวอย่างสิ่งเล็ก ๆ ในชีวิตที่ถ้าคุณได้ทำเป็นประจำจะนำความสำเร็จมาสู่ชีวิตคุณ

 

1. อ่านหนังสือวันละ 1 บท เพราะคนที่อ่านหนังสือเป็นประจำจะเรียนรู้ เปิดมุมมอง และมีการพัฒนาอยู่เรื่อย ๆ ยิ่งอ่านหนังสือหลากหลาย ก็จะมีโลกกว้างมากขึ้น

 

2. สวดมนต์ก่อนนอน ทำให้มีช่วงเวลารวบรวมจิตใจที่กระจัดกระจายในงาน และภาระในแต่ละวัน ให้กลับมารวมกันอยู่กับการได้ทำสิ่งที่ช่วยให้เรามีจิตที่สงบจดจ่อ เป็นการเตรียมการนอนที่ดี แล้วก็ทำให้ชีวิตมีจุดหมายบางอย่าง

 

3. ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพื่อให้มีเงินออม เป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ถ้าทำได้ก็จะเป็นประโยชน์กับชีวิต

 

4. การออกกำลังกาย

 

หัวใจสำคัญของการมีความสำเร็จในชีวิต คือ ทำอย่างไรให้เราทำสิ่งที่รู้ว่าดี ซึ่งเป็นเรื่องเล็ก ๆ ในแต่ละวัน ให้ทำได้ทุก ๆ วัน โดยเรารู้สึกดีและมีความรู้สึกสำเร็จเล็ก ๆ ในแต่ละวัน

 

สิ่งที่สัมพันธ์กับการที่จะทำเรื่องเล็ก ๆ ให้กลายเป็นความสำเร็จ คือ ความสามารถที่จะควบคุมตัวเองให้ลงมือทำสิ่งที่ไม่น่าสนุก ไม่น่าทำ ให้เกิดขึ้นจากเรื่องเล็ก ๆ ในแต่ละวันที่เราทำ คุณจะเอาชนะใจตัวเองในการลงมือทำสิ่งนี้ได้อย่างไร

 

 

ความสัมพันธ์

 

หลักคิดข้อนี้ คือ คนแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนที่จะทำงานได้ดี ต้องบริหารสายสัมพันธ์ให้เป็น แล้วรู้ว่าคนประเภทไหนควรปฏิบัติด้วยอย่างไร ถ้าเราสามารถเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างคน และบริหารความสัมพันธ์ได้ทั้งสองฝ่ายก็จะดีที่สุด

 

ในทุกขณะที่เราอยู่ในความสัมพันธ์กับใครก็ตาม มีมุมที่ต้องพิจารณาพร้อมกัน 3 มุมเสมอ

 

มุมที่ 1 ตัวเรา เรากำลังรู้สึกอย่างไร คิดอะไร ต้องการอะไร คาดหวังอะไร

 

มุมที่ 2 ตัวเขา คือคนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เขารู้สึกอย่างไร คิดอะไร ต้องการอะไร คาดหวังอะไร

 

มุมที่ 3 บริบทหรือสถานการณ์

 

 

 

เคสตัวอย่างเรื่องความสัมพันธ์

 

ตัวอย่างที่ 1

 

ผู้หญิงท่านหนึ่งได้ทบทวนเรื่องระหว่างเขากับน้องสาวด้วย 4 ข้อคำถาม คือ ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร ตอนนั้นคิดอะไรอยู่ในใจ ตอนนั้นคาดหวังอะไร แล้วตอนนั้นต้องการอะไรลึก ๆ ในใจ แล้วก็ลองสมมติว่า เรารู้ไหมว่าในใจของคู่กรณีของเรา เขารู้สึกอย่างไร เขาคิดอะไร เขาต้องการอะไร เขาคาดหวังอะไร

 

หลังจากทำกิจกรรมนี้ เขาพบว่า เขาคาดหวังให้น้องฟังแล้วทำตาม หลังจากที่ได้ทบทวน เขารู้สึกว่า ความคาดหวังของเขามันเยอะ ไม่เหมาะสมเลย

 

แต่ตอนที่อยู่ในสถานการณ์จริง เขาไม่รู้ตัวว่าเขาคาดหวังน้อง จนทำให้ช่องว่างระหว่างเขากับน้องมีมากขึ้น แล้วเขาไม่รู้เลยว่า ในใจน้องมีอะไร รู้แต่ว่าน้องถอยห่างออกไป

 

บทเรียนครั้งนี้ทำให้เขาเห็นว่า เขาต้องเรียนรู้ที่จะฟังน้องให้มากขึ้น

 

 

ตัวอย่างที่ 2

 

เป็นคนรุ่นใหม่พูดถึงเจ้านาย เขาพูดว่า เขาพยายามทำงานที่เจ้านายมอบหมาย ทำการวิเคราะห์ ร่างจดหมาย เขียนคำตอบเพื่อให้เจ้านายพิจารณา เจ้านายดูแป๊บนึงแล้วก็ปรับแก้ไปตามที่เจ้านายคิดโดยไม่ได้ดูรายละเอียดของความคิดของเขา

 

ด้านหนึ่งเขาคิดว่า เราอุตส่าห์ทำ ใช้เวลาเป็นชั่วโมง เจ้านายไม่เห็นใส่ใจความคิดเราเลย อีกด้านก็คิดว่า หรือเจ้านายมีประสบการณ์มาก ดูปุ๊บก็รู้เลย เลยแนะนำมา

 

เขามีสองความคิดนี้อยู่ในใจ แต่สิ่งที่เขาต้องการ คือ เจ้านายดูความคิดเราสักหน่อยก็ยังดี ต่อให้ไม่เห็นด้วย และใช้ความคิดเจ้านาย อย่างน้อยก็ขอให้ได้ฟังเราว่า เรามีความคิดอะไรหลังจากเราไปทำการบ้านมาให้เจ้านายตามที่ได้รับมอบหมาย

 

 

ทั้ง 2 กรณีนี้ทำให้เห็นว่า เวลาที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับใคร ส่วนใหญ่คนที่มีสถานะสูงกว่า มีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยฟังคนที่มีสถานะต่ำกว่า

 

การไม่ฟังส่งผลทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า ไม่ได้รับการยอมรับและชื่นชม หรือเปิดใจที่จะรู้จักความนึกคิดของเขาได้มากพอ ทำให้เกิดเป็นช่องว่างขึ้น

 

ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ถ้าเราเข้าใจว่า ทุก ๆ ปฏิสัมพันธ์จะประกอบไปด้วย ตัวเรา ตัวเขา และบริบท เช่น กรณีของพี่น้อง คือ บริบทการจัดการเรื่องราวในบ้าน กรณีเจ้านายกับลูกน้อง คือ บริบทการทำงานที่เป็นการตอบหนังสือราชการ

 

ทำอย่างไรที่เราจะรู้เรา รู้เขา แล้วเลือกคำตอบที่ตอบโจทย์ทั้งโจทย์ของบริบทหรือสถานการณ์ตอนนั้น กับตอบโจทย์ในใจของสองฝ่าย ความตระหนักจะช่วยให้เราเห็นทางเลือกได้กว้างขวางขึ้น และไม่ละเลยมุมมองของคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนี่เป็นหัวใจของการบริหารความสัมพันธ์

 

บทเรียนในแง่มุมหนึ่งของความสัมพันธ์ คือ รู้เรา รู้เขา รู้สถานการณ์ แล้วหาความลงตัว ฝึกนิสัยให้เป็นประจำแบบนี้ เราจะบริหารความสัมพันธ์ และจัดการโจทย์ชีวิตได้ดีขึ้น

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER