เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.40 รู้จัก รู้ใจ ลูกวัย 9-11 ปี

03 ธันวาคม 2020 203 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.40 รู้จัก รู้ใจ ลูกวัย 9-11 ปี

ลูกในช่วงวัย 9-11 ปี เป็นช่วงเริ่มต้นของวัยรุ่น ที่มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย พ่อแม่ควรดูแลอย่างไร ติดตามได้ใน เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.40 รู้จัก รู้ใจ ลูกวัย 9-11 ปี

ลูกวัย 9-11 ปี เรียกว่าช่วง Pre Teen คือ ช่วงเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งพอลูกเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่มักบอกว่า ลูกที่น่ารักหายไป แต่จริง ๆ แล้ว ลูกที่น่ารักไม่ได้หายไป แต่เป็นผลจากการตกหล่นบางอย่างในตอนเด็ก และการไม่เข้าใจลูกช่วงวัยรุ่น ฉะนั้น ในช่วงนี้พ่อแม่ต้องปรับตัวก่อน อย่าคิดว่าใช้วิธีการเดิม ๆ สมองลูกเป็นแบบเดิม พ่อแม่ก็จะไปเจอว่า ลูกที่น่ารักหายไป ทั้ง ๆ ที่ลูกไม่ได้หายไปไหน แต่สมองและร่างกายลูกมีการเปลี่ยนแปลง

 

 

เรื่องที่เปลี่ยนไปของเด็กก่อนวัยรุ่น

 

- ลูกจะพึ่งพาพ่อแม่น้อยลงมาก ต้องพัฒนาเรื่องความรับผิดชอบ มีความเป็นตัวของตัวเองชัดขึ้น ระยะห่างจากพ่อแม่ก็ชัดขึ้น แสดงว่าสมองของลูกมีการพัฒนาไปอีกครั้ง เพราะมีความพร้อมในการแยกจาก ในสิ่งที่ตัวเองต้องพึ่งพามาตลอดเวลา สมองเรียนรู้เรื่องยาก ๆ ได้ดีขึ้น และถ้าเจอเรื่องที่ตรงกับความชอบ ศักยภาพของเขา ก็จะจดจ่อกับสิ่งนั้น (ถ้าเขารู้ และผู้ใหญ่ได้เปิดโอกาสเข้าสู่ความสามารถนั้น) ลูกจะพัฒนาได้อย่างชัดเจนมาก

 

- การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเข้าสู่วัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง จะเข้าสู่วัยสาวได้เร็วกว่าเด็กผู้ชาย นั่นคือร่างกายลูกเริ่มมีฮอร์โมนเพศแล้ว นอกจากร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกด้วย คือ เริ่มมีความเปราะบางต่อตัวเอง คำตัดสินจากเพื่อน เพราะมีการให้ความสำคัญกับเพื่อนมากขึ้น เหมือนที่เราเคยบอกว่า ถ้าช่วงประถมต้น เราเปิดเผยเรื่องความรู้สึกด้อยของเด็กเยอะ จะยิ่งหนักเมื่อเข้าวัยนี้ เพราะมุมมองต่อตัวเองไม่ดี และเพื่อนมีอิทธิพลสูงมาก ยิ่งทำให้การปรับตัวยากขึ้น จึงต้องให้เด็กเรียนรู้ที่จะมั่นใจในตัวเองตั้งแต่ประถมต้นมาเลย เพื่อเข้าสู่วัยนี้ด้วยความมั่นคงมากขึ้น ให้มีความมั่นใจ และมีมุมมองต่อตัวเองได้ดี

 

ไม่ว่าจะมีมุมมองต่อตัวเองดีแค่ไหน แต่เรื่องเพื่อน เรื่องมิตรภาพ มีความสำคัญมาก เมื่อเด็กมีความมั่นใจ มีมุมมองต่อตัวเองดี กลุ่มเพื่อนก็จะไปในแนวทางเดียวกัน แต่สิ่งที่จะเป็นไปตามธรรมชาติ คือ เด็กคล้ายกันจะมาอยู่รวมกัน ฉะนั้น ถ้าลูกมีความมั่นคง เพื่อนของลูกก็จะคล้าย ๆ ลูก ถ้าลูกเปราะบาง เพื่อนของลูกก็อาจจะเปราะบาง มีลักษณะของปัญหาคล้าย ๆ กัน แรงกดดันจากเพื่อนหรือจากกลุ่มจะมีผลกระทบต่อลูกได้

 

- ช่วงนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ลูกจะอยู่ใกล้เราอีกไม่นาน ถ้ายังมีความใกล้ชิดกันอยู่ ก็ให้ใช้เวลาอย่างเต็มที่ ชวนพูดคุย ทำสิ่งต่าง ๆ กับลูก ถ้าเราไม่ค่อยคุยกับลูกในลักษณะประโยคบอกเล่า แต่เป็นไปในลักษณะสั่งลูก แล้วให้ลูกฟังอย่างเดียว เมื่อลูกถึงวัยรุ่น เราก็จะปวดหัว ฉะนั้น พ่อแม่ต้องฝึกฟัง ให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ลูกมาพูดกับพ่อแม่ได้ วิธีการ คือ เราเป็นคนฟังที่ไม่รีบตัดสิน ไม่รีบแทรก แล้วคอยเสริมว่า “ความคิดดีนะ น่าสนใจ” “แม่ชอบนะ ถึงแม้แม่จะไม่ค่อยคุ้น” “ไม่ว่าจะยังไง แม่ก็ชอบนะที่ลูกมาเล่าให้แม่ฟัง” เป็นต้น อย่าเบรคลูก และอย่าตัดสิน ช่วงนี้ยังพอฝึกได้

 

- คุยกับลูก “ลูกรู้สึกยังไงกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย” “เล่าเรื่องเพื่อนให้แม่ฟังหน่อย” เพื่อเราจะได้รู้จักเพื่อนลูกด้วย ถ้ามีเรื่องของอารมณ์เข้ามา ก็ถามลูกด้วยว่า ลูกรู้สึกยังไง ถ้าเราเคยพูดเรื่องอารมณ์กับลูกมาก่อน ก็จะชิน และง่ายขึ้นเมื่อต้องพูดออกมา ลูกสามารถบอกได้ด้วยตัวเอง โดยแม่ไม่ต้องเดา

 

- พ่อแม่ช่วยลูกทำกิจกรรม ช่วยในการกำหนดเป้าหมาย ถ้าเด็กมีเป้าหมายก็จะช่วยให้ลูกมีแรงฮึด วางเป้าหมายเป็น

 

- ถ้าที่โรงเรียนมีกิจกรรมอื่นที่ต้องการให้พ่อแม่มีส่วนร่วม พ่อแม่ต้องเข้าร่วม ถ้าต้องเป็นเรื่องของลูก พ่อแม่ไม่ควรยุ่งมาก ก็ไม่ควรเข้าไป ถ้าพ่อแม่เข้าไปเยอะมาก งานของเด็กอาจกลายเป็นงานของพ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่ต้องไม่เข้าไปมากเกินไป

 

- ช่วงนี้มีความเข้าใจเรื่องถูกผิดมากขึ้น เราให้โอกาสลูกได้ไตร่ตรองด้วยคำถามปลายเปิด “ลูกคิดยังไงกับเรื่องนี้” แทนที่จะบอกว่า “ไม่ได้ แม่ว่าผิด แม่ไม่เห็นด้วย” หรือ “ทำแบบนี้ต่างหากที่ถูก” เหมือนเป็นการใส่ความคิดของเราเข้าไป จริง ๆ แล้วต้องให้เด็กได้คิด แล้วถามต่อว่า ทำไมลูกถึงคิดแบบนั้น

 

- เรื่องพฤติกรรม เริ่มมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ลองแว้น ลองสูบบุหรี่ ถ้าสมมติเราไปเจอว่า มีไฟแชคในห้องนอน หรือได้กลิ่นบุหรี่ วิธีการ คือ ใช้เป็นประโยคบอกเล่า ด้วยสีหน้าและอารมณ์นิ่ง ๆ (มาเตรียมตัวเองก่อน อย่าไปพูดหรือถามด้วยความรู้สึกตกใจหรือโกรธ)  “แม่เห็นบุหรี่อยู่ในห้อง” หลังจากนั้น ลูกจะตอบยังไงก็ได้ ให้เรารับฟังก่อน แต่เราต้องรู้ว่า สมองเด็กเข้าสู่วัยอยากลอง การมีคำสั่งจากเราออกไป ไม่ช่วยให้เขาลดความอยากลอง แต่การมีคำสั่งทางเดียวจะทำให้ลูกปิดบังจากสิ่งที่กำลังลอง เราต้องใช้ความรู้สึกแบบไม่อยากตำหนิ แต่เป็นห่วง

 

ถ้าลูกยังทำต่อ ทุกครั้งที่เราอยากให้ลูกปรับพฤติกรรม เราก็ยังคงต้องปรับพฤติกรรมที่เป็นสองทาง เช่น ถ้าเราถามลูกว่า “สูบบุหรี่ไหม" แล้วลูกพูดออกมา เราต้องพูดออกมาว่า “รู้สึกดีใจที่ลูกยอมบอกแม่” ลูกจะรู้สึกว่าสามารถพูดต่อได้ ต้องทำให้เราเป็นพื้นที่ปลอดภัย จากนั้นก็ค่อยถามความรู้สึก เช่น  “ลูกสูบแล้วรู้สึกอย่างไร” “หลังจากนั้นเป็นอย่างไร”  “แล้วคิดว่าสูบแล้วจะดีไปตลอดไหม” อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่า เราไปกวนอารมณ์เขา หมายความว่า เราโกรธใส่เขา โมโหใส่ ผิดหวัง จะทำให้สมองส่วนคิดของเขาทำงานได้ไม่ดี แต่ถ้าสมองเขาไม่ถูกกวนอารมณ์ เขาจะกลับมาคิดทบทวนได้ดีขึ้น

 

อีกวิธีการที่เแม่เอาตัวเองเป็นตัวประกัน เช่น ร้องไห้ฟูมฟาย เสียใจที่ลูกทำไม่ดีมา แบบนี้จะใช้ได้ผลกับเด็กบางคน บางคนก็ไม่ได้ผล และมุกแบบนี้ก็ใช้บ่อยไม่ได้ ถ้าในที่สุดเด็กปรับตัว ก็ปรับจากความสะเทือนใจ ไม่ได้ปรับจากความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่ได้ปรับจากความรู้สึกที่ว่า ฉันเอาชนะมันได้ ถ้าความสัมพันธ์ง่อนแง่น แบบนี้ไม่ได้ผล

 

- เมื่อเด็กเข้าสู่วัยนี้ การกระทำของใครคนนั้นรับผิดชอบต่อตัวเอง ไม่สามารถให้คนอื่นมารับผิดชอบต่อตัวเองได้ เราต้องมอบความไว้วางใจเราไปสู่ตัวเขา สอนให้เขารู้ว่า ชีวิต ตัวตน ร่างกายของเขา เด็กต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง แต่เราก็ยังต้องมีความเชื่อ และพยายามจะช่วยในส่วนที่เขาต้องการให้ช่วย

 

 

นอกจากนี้ยังมีการดูแลอื่น ๆ ที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ คือ 

 

- นั่งรถต้องใส่เข็มขัดนิรภัย จะปลอดภัยที่สุด

 

- ถ้าอนุญาตไปไหนกับเพื่อน พ่อแม่ต้องรู้ว่าลูกไปที่ไหน กับใคร ตลอดเวลา

 

- เล่นกีฬาที่ผาดโผน ก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตามชนิดกีฬานั้น ๆ

 

- สอนลูกเรื่องการป้องกันความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น ถ้าอยู่บ้านคนเดียว แล้วมีใครมาเรียก ลูกต้องทำอย่างไร ต้องโทรหาพ่อแม่อย่างไร

 

- กินอาหารสุขภาพ

 

- ไม่มีทีวีในห้องนอน

 

- ใช้หน้าจอตามความเหมาะสม เพราะวัยนี้ลูกอาจจะต้องใช้หน้าจอในการทำงานหรือเรียน

 

- มีกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง

 

- นอนให้เพียงพอ 9-12 ชั่วโมง

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER