โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.01 ใกล้ชิดลูกกับหาเงิน แม่เลี้ยงเดี่ยวควรไปทางไหน

05 กรกฎาคม 2021 70 ครั้ง

โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.01 ใกล้ชิดลูกกับหาเงิน แม่เลี้ยงเดี่ยวควรไปทางไหน

เมื่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวแบบ Full Time ที่มุ่งมั่นจะทำโฮมสคูล (Home School) ให้ลูก แต่ก็กังวลกับการหาเงิน ปัญหานี้จะมีทางออกอย่างไรบ้าง ติดตามใน โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.01 ใกล้ชิดลูกกับหาเงิน แม่เลี้ยงเดี่ยวควรไปทางไหน

 

แม่จอย (แขกรับเชิญ) - แม่จอยเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวตั้งแต่ลูกอายุ 4 เดือน ปัจจุบันลูกอายุ 4 ขวบครึ่งแล้ว เป็นคุณแม่ Full Time ที่มุ่งมั่นจะทำโฮมสคูล (Home School) แต่ก็กังวลกับการหาเงิน เพราะบางครั้งการทำงานที่บ้าน ด้วยว่าลูกยังเล็ก เวลาทำอะไรนาน ๆ แล้วไม่สนใจ เขาจะเรียกร้อง ออดอ้อน งอแง ทำให้แม่จอยมีปัญหาด้านการทำงาน ก็เลยกังวลว่า ควรจะมุ่งมั่นกับการเป็นคุณแม่ Full Time และทำโฮมสคูล หรือควรยอมแพ้แล้วพาลูกเข้าโรงเรียน เพื่อที่แม่จอยจะได้ไปทำงานอย่างอื่นได้มากกว่านี้

 

 

แม่ปุ๋ย (แขกรับเชิญ) – ขอชื่นชมแม่จอยก่อน เพราะว่าแม่จอยเป็นผู้หญิงที่ดูแล้วน่าจะเป็นผู้หญิงสตรองคนหนึ่งเลยในวงการเลี้ยงเดี่ยว เพราะว่ามีเป้าหมายชัดเจนมากในการที่จะเลี้ยงลูกเชิงบวก และอยากทำโฮมสคูล อยากใกล้ชิดลูก อยากให้ลูกได้รับความอบอุ่น นั่นเป็นสิ่งที่ดีนะคะ เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ถ้าทำได้

 

แต่ว่าในเชิงปฏิบัติจริงแล้ว จากประสบการณ์ของปุ๋ยเอง ปุ๋ยอยากจะแชร์ให้แม่จอยฟังนิดหนึ่งว่า เราเองก็อาจจะต้องมีความยืดหยุ่นด้วย เพราะว่า จริง ๆ แล้วภาพที่เรามอง เหมือนกับว่า เรามีความมุ่งหวังสูง ในความมุ่งหวังสูงอาจจะกดดันตัวเราเอง แล้วเวลาที่เราได้รับความกดดันอะไรมากมาย ตรงนี้ฉันก็ต้องทำ รายได้ฉันก็ต้องมี ลูกฉันก็ต้องให้เต็มเวลา มันอาจจะทำให้ในส่วนของสุขภาพจิตเราลืมมองไปด้วยเหมือนกัน เพราะเราไปโฟกัสที่ลูกอย่างเดียว

 

ถ้าแม่จอยมีโอกาสที่จะค่อย ๆ คิดทบทวนแล้วก็แบ่งเวลา อาจจะยังคงเป็น concept โฮมสคูลอยู่ แต่มีการแชร์กับเพื่อนกลุ่มอื่นที่ทำโฮมสคูลด้วยกัน ให้เขาช่วยเราสักครึ่งวัน อะไรแบบนี้ได้ไหม

 

เพราะปุ๋ยเห็นประสบการณ์จากเพื่อนเหมือนเขาแบ่งกันเลี้ยงลูก แต่อันนั้นเขาเป็นครอบครัวปกตินะ เพราะตอนแรกที่ปุ๋ยพาลูกชายวัย 4-5 ขวบ มาอยู่เชียงใหม่ ก็มากันแบบโดดเดี่ยว 2 คนแม่ลูก แล้วปุ๋ยพยายามหาข้อมูลของโฮมสคูลในเชิงว่า เราจะจัดการได้ไหม แต่สุดท้ายแล้วปุ๋ยก็ทำไม่ได้ เพราะว่าในช่วงนั้น ปุ๋ยมีความกดดันเรื่องของ income มาก ปุ๋ยต้องอยู่ให้ได้ก่อน แล้วก็ทุกสิ่งทุกอย่างมันกดดันถึงขั้นที่ทำให้เราเกิดการเสียศูนย์เล็ก ๆ แล้วความกดดันทำให้เราส่งพลังลบไปให้ลูกโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ และนั่นคือผลกระทบว่า บางครั้งความมุ่งมั่นมันดี แต่ถ้าเราไม่ยืดหยุ่น มันกลายเป็นมันเหมือนสึนามิได้เลย

 

หลัง ๆ พอปุ๋ยไม่ไหวแล้ว ปุ๋ยใช้วิธีนี้ คือ โยนหินถามทางไปในทางเดินของปัญหาของเรา มีสังคมไหนจะช่วยเราได้บ้างไหม สังคมเพื่อนหรือสังคมครู โรงเรียน หรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องลองค่ะ ลองยืดหยุ่นตรงนี้ดู หรือว่าลองปรึกษาคนที่มีประสบการณ์

 

ปุ๋ยค่อนข้างนับถือที่คุณอยากเลี้ยงลูกด้วยวิธีการโฮมสคูล เพราะว่านั่นเคยเป็นเป้าหมายของปุ๋ยเหมือนกัน แต่ว่าปุ๋ยทำไม่ได้ทั้งหมด ปุ๋ยยืดหยุ่นเอา แล้วปุ๋ยยังคงให้ลูกไปเป็นเพื่อนกับกลุ่มนักเรียนโฮมสคูลเหมือนกัน ปุ๋ยไม่ได้ตัดสังคมของเขาเพียงแต่ว่าด้วยการที่ปุ๋ยจะต้องหารายได้แบบเต็มเวลาด้วย ปุ๋ยจำเป็นต้องเอาลูกเข้าสู่ในระบบการศึกษา ต้องลองดูค่ะ วิธีการแต่ละคนไม่เหมือนกัน

 

 

คุณใหม่ (ผู้ดำเนินรายการ) - เท่าที่ฟังมา ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงที่โฮมสคูลหรือไม่ แต่สถานการณ์ของความเป็นเลี้ยงเดี่ยวอยู่ตรงที่จะมีตัวช่วยอะไรบางอย่างในการที่เราจะมุ่งไปข้างหน้าหรือไม่ แม่ปุ๋ยบอกว่า อาจจะลองหาเพื่อนโฮมสคูลอื่น ๆ ที่จะทำให้แบ่งเบาภาวะความเครียด เพราะว่าเราเลี้ยงคนเดียว ซึ่งใหม่เชื่อว่า แม่เลี้ยงเดี่ยวหรือพ่อเลี้ยงเดี่ยวทุกคนเจอภาวะนี้ ความเป็นเลี้ยงเดี่ยวไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด แต่เราต้องการตัวแปะบางอย่าง ทีนี้กลับมาที่แม่จอย แม่จอยฟังตรงนี้แล้ว แม่จอยมีอะไรอยากแลกเปลี่ยนบ้าง

 

 

แม่จอย – แม่จอยขอบคุณสำหรับคำแนะนำของแม่ปุ๋ย แม่จอยก็เข้าใจ แต่ว่าก็ยังมุ่งมั่นอยู่ เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังมีทางเลือกอยู่ แต่ปัญหาเหมือนว่าลูกยังเล็ก เราก็ไม่รู้เอามาอ้างหรือเปล่านะ เพราะว่าถ้าเทียบกับบางคน เขาก็ให้ไปมองคนอื่นว่า เขาก็ลูกเล็กเหมือนกัน เขาก็ต้องทำ แต่เรารู้สึกเหมือนกับว่า จอยทุ่มเทให้กับลูก ไม่รู้จะใช้คำว่า มากเกินไปเลยหรือเปล่า จอยแค่รู้สึกว่า 10 ปีแรกจอยไม่อยากเสียตรงนี้ไป จอยยอมอยู่แบบลำบากนิดหนึ่ง แต่ก็ได้เต็มที่กับลูก อีกใจหนึ่งก็กังวลนะ แต่ส่วนเรื่องความเหนื่อยนี่ก็นาน ๆ ที ก็จะเอาไปฝากคุณตา ซึ่งก็ยังมีตัวช่วยได้อยู่ แต่ช่วงหลัง ๆ นี้ คุณตาก็เริ่มเหนื่อย ๆ ก็เกรงใจ ก็ไม่ค่อยได้ฝาก แต่ก็ยังดีตรงที่ว่า เวลามีงานพิเศษ แม่จอยก็จะต้องฝากคนนั้นทีฝากคนนี้ที ฝากคุณยาย ฝากพี่สาวคุณยาย ก็จะมีบ้าง แต่ก็จะลำบากหน่อย ก็เลยคิดว่าจะลุยต่อไป แต่ทีนี้อยากจะบอกว่า เป็นไอเดียที่ดีค่ะว่าแม่จอยจะนำไปใช้ตรงที่ว่า แม่จอยจะไปหากลุ่มโฮมสคูลที่อยู่ละแวกใกล้บ้าน แล้วก็จะพาลูกเข้าไปอยู่ในสังคมตรงนั้น ถ้าเราเริ่มได้สนิท เริ่มพูดคุยกันเรื่อย ๆ จนแบบโอเคเราเป็นครอบครัวโฮมสคูลด้วยกัน เราอาจจะมีการได้ฝากลูก แชร์ลูกบ้าง อะไรอย่างนี้ก็เป็นช่องทางที่ดีเหมือนกัน แม่จอยก็คิดไม่ถึงเหมือนกัน

 

 

แม่ปุ๋ย – เป็นการเพิ่มสังคมให้เด็กค่ะ เราไม่ปิดกั้นเขา เพราะในโลกของความเป็นจริงเขาก็ต้องอยู่กับสังคม ก็ต้องปรับตัวเข้ากับสังคมเช่นกัน ก็เป็นการปูพื้นฐานอีกด้านหนึ่ง

 

 

คุณใหม่ – ที่แม่จอยบอกว่า ช่วงเล็กนี่แหละจนถึง10 ขวบ อยากมีเวลากับลูก อันนี้คือแม่จอยเลือก แล้วก็เลือกความสัมพันธ์กับลูก ซึ่งชื่นชมเช่นกัน รู้ว่าแม่จอยเหนื่อย รู้ว่ากังวล แต่แม่จอยมีความสุขด้วยใช่ไหมคะ

 

 

แม่จอย - ใช่ค่ะ อันนนี้ยอมรับเลยว่าสุขมาก ถึงจะมีคนต่อว่าสารพัดก็เถอะ เรื่องที่ยังไม่หาอะไรทำที่มั่นคงเพื่อลูกในอนาคตก็ตาม แต่วันนี้ภูมิใจกับการที่ฉันได้อยู่กับลูก มันก็จะย้อนแย้งกันนิดหนึ่งแต่ก็อย่างที่พี่ใหม่พูดเลยว่า มีความสุขจริง ๆ แล้วก็ภูมิใจในตัวเอง รู้สึกแบบก็ได้อยู่กับลูกเต็มที่

 

 

แม่ปุ๋ย - ภูมิใจเช่นกัน นี่เข้าใจอารมณ์แม่จอยเลยนะ อย่างที่บอก 5-10 ปีแรกเป็นวัยทองของลูก แล้วมันก็ได้รับผลอย่างนั้นจริง ๆ มันก็ได้อย่างที่เรามุ่งหวัง ก็เอาใจช่วยแม่จอยด้วยนะคะ

 

 

คุณใหม่ – จะเห็นว่า เด็ก ๆ ต้องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับเขา เราจะเป็นเลี้ยงเดี่ยวหรือไม่ก็ตาม เราสามารถที่จะใช้ให้ตัวเองมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกได้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้อยู่กับเขาในช่วง 10 ปีแรก แล้วก็การเลือกของเรา อย่างที่แม่จอยเลือกแล้ว เลือกบนพื้นฐานของสถานการณ์ครอบครัวตัวเอง แม่ปุ๋ยก็เลือกแล้ว เลือกบนสถานการณ์ของตัวเอง เพราะแต่ละบ้านไม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่า ความเป็นเลี้ยงเดี่ยว มันต้องการเพื่อน ต้องการที่ปรึกษา แล้วก็อาจมีเวลาที่เรามาแลกเปลี่ยน แม่จอยก็จะได้แง่คิดจากแม่ปุ๋ย แม่ปุ๋ยก็จะได้โอเค เห็นแบบนี้แล้วก็จะได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่เป็นเป้าหมายของรายการโดดเดี่ยวไม่เดียวดาย เพราะเราเชื่อว่า รายการนี้ก็จะเป็นเพื่อนกับทุก ๆ คน

 

 

แม่ปุ๋ย - ต้องขอบคุณทางรายการก่อน เพราะโดยส่วนตัว ในช่วงแรก ๆ เป็นช่วงที่สาหัสมาก แล้วเราก็มีความรู้สึกว่า มันโดดเดี่ยวจริง ๆ นะ ในแง่ของการหาเลี้ยงชีพ ดำรงชีพ แล้วก็ปัญหาใหญ่ ๆ อีกอันหนึ่งที่เรามองข้ามไม่ได้เลย คือ การซัพพอร์ตความรู้สึก ปุ๋ยโชคดีที่ปุ๋ยมีเพื่อนที่ดี คอยห่วงใย คอยยื่นมือ คอยดูแล คือตัดเรื่องบ้านออกไปเลย ปุ๋ยเดี่ยวจริง ๆ ไม่มีญาติผู้ใหญ่ ไม่มีอะไรตรงนั้น แต่ปุ๋ยรู้สึกว่า วันหนึ่งถ้าปุ๋ยมีเวทีที่จะพูดและให้กำลังใจใครก็ได้ที่ปุ๋ยเคยอยู่ในสภาพเดียวกับเขามา ปุ๋ยจะทำให้ดีที่สุด และวันนี้ทางทีมงานได้ทำแล้ว ปุ๋ยรู้สึกขอบคุณที่ได้ให้โอกาส ที่อย่างน้อยเหมือนเราได้โอบกอดคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับเรา แล้วเราจะเดินไปด้วยกันแบบไม่โดดเดี่ยว ปุ๋ยขอบคุณจริง ๆ

 

 

แม่จอย - แม่จอยก็ขอบคุณรายการนี้เช่นกัน ดีใจที่มีรายการนี้ขึ้นมา อย่างน้อยก็เหมือนกับอะไรที่เราอึดอัดในใจก็อย่างน้อย เราก็เหมือนได้มามีเพื่อนคุยอย่างที่แม่ปุ๋ยบอกเลยว่า คำว่าแม่เลี้ยงเดี่ยว บางทีมันก็เหงา ถึงจะมีเพื่อน แต่บางทีเพื่อนที่เขามีครอบครัวสมบูรณ์ กับความเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ถึงเขาจะเห็นใจ เข้าใจเรา แต่เขาก็เข้าไม่ถึงเหมือนคนที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน ก็เลยรู้สึกดีใจที่มีรายการแบบนี้ อย่างน้อย ๆ คิดว่าในอนาคต ถ้าได้คุยกับคนที่เข้าใจไปเรื่อย ๆ แบบนี้ เราก็จะได้มีกลุ่มสังคม มีเพื่อนมากขึ้นค่ะ

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ฐาณิชชา ลิ้มพานิช

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

OTHER