โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.03 เลี้ยงลูกอย่างมีความสุขในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

02 สิงหาคม 2021 49 ครั้ง

โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.03 เลี้ยงลูกอย่างมีความสุขในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

เมื่อ 2 คุณแม่นักบัญชีต้องเผชิญกับการเลี้ยงเดี่ยวลูกน้อยที่เป็นเด็กพิเศษใส่ไข่ ปัญหาการงานก็ต้องเผชิญ ปัญหาจิตใจก็ต้องดูแล ความสุขของลูกก็ต้องไม่ขาด แล้วแบบนี้จะจัดการอย่างไรดี มาฟังประสบการณ์และคำแนะนำดี ๆ จากคุณแม่ทั้งสองท่านได้ใน โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.03 เลี้ยงลูกอย่างมีความสุขในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

 

คุณใหม่ - วันนี้มีคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว 2 ท่าน แม่นกและแม่เก่งจะมาคุยกันในหัวข้อ เลี้ยงลูกอย่างมีความสุขในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

 

 

แม่นก - แม่นกเป็นคุณแม่ของน้องนะโม ปีนี้น้องอายุ 13 ขวบแล้ว เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมาตั้งแต่น้องอายุ 4 ขวบ ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ นักบัญชีอิสระ

 

 

แม่เก่ง - เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เพิ่งจะมีประสบการณ์ค่ะ ตอนนี้ลูกอายุ 9 ขวบ คุณแม่ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ฝ่ายบัญชี

 

 

สถานการณ์ตอนนี้ คือ คุณแม่ออกมาอยู่บ้านญาติ เริ่มออกมาตั้งแต่น้องจะปิดเทอม อยู่ตรงนี้มาได้ 2-3 เดือนแล้ว สถานการณ์ตอนนี้คุณแม่ยังไม่ได้บอกรายละเอียดอะไรกับน้องมาก อยู่กันแบบใช้ชีวิตปกติ แต่หลังจากนี้อาจต้องกลับไปอยู่ที่เดิม สภาพแวดล้อมเดิม คุณแม่เลยกังวลว่า เราจะรับมือกับตรงนี้ยังไงดี

 

 

คือตอนนี้สามียังไม่ได้ย้ายออกไป แต่คุณแม่เองก็จะต้องกลับไปอยู่บ้านเดิมอยู่แล้ว ก็อาจจะต้องรอเวลาที่เขาออกไป ฉะนั้น ช่วงระยะเวลานี้ คุณแม่ก็ไม่มั่นใจว่าจะต้องทำยังไงกับลูก จะต้องดูแลยังไง เพราะเหมือนเรากับสามียังต้องอยู่ด้วยกัน แต่สถานะเปลี่ยนไป

 

 

แม่นก - ก็คือช่วงแรก คุณแม่จะต้องใช้ชีวิตอยู่กับคุณพ่ออยู่แล้วใช่ไหมคะ แล้วคิดว่า คุณแม่จะยังติดต่อคุณพ่อได้อยู่ไหม คุณพ่อยังมาดูแลลูกอยู่ไหม

 

 

แม่เก่ง - เขาก็คงดูแลอยู่ คงไม่ได้ไปไหน แต่ว่ามันอาจมีการเปลี่ยนแปลง อย่างบางทีจันทร์ถึงศุกร์ คุณพ่ออาจไม่ได้อยู่กับเรา ถ้าเขามีเวลา เขาจะแวะมาดู อะไรแบบนี้ค่ะ

 

 

แม่นก - แม่นกขอแชร์ตอนที่แม่ประสบเหตุการณ์นี้นะ มันอาจไม่ได้เหมือนแม่เก่งเสียทีเดียว จริง ๆ แล้วตอนอยู่ด้วยกัน คุณพ่อเป็นคนเลี้ยงน้องเอง คุณแม่ทำงานคนเดียว เขาค่อนข้างจะติดกันด้วยซ้ำ แล้วช่วงที่เรามีปัญหากัน ตอนนั้นคุณพ่อเริ่มไปทำงานแล้ว แต่คุณพ่อจะไปทำงานที่ต่างจังหวัด แล้วนาน ๆ กลับที ในช่วงนั้นก็จะกลายเป็นว่า แม่ก็ทำงานประจำเหมือนกัน น้องประมาณ 3-4 ขวบ เขาก็ยังไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นกิจจะลักษณะ

 

 

แม่ต้องฝากคนดูแล ไปจ้างเขาเลี้ยง อาศัยเขาค่อนข้างเยอะเหมือนกัน บังเอิญว่าโชคดี แม่เจอคนที่ค่อนข้างเอ็นดูเขา ส่วนตัวแม่เอง แม่ก็ดูแลน้องปกติ เวลาที่เคยให้เขายังไง แม่ก็ให้เขาอย่างนั้น เพียงแต่ว่าในมุมของลูก ตอนนั้นเขาอาจไม่ประสีประสา ในภาวะออทิสติกของเขา เขาอาจอยู่ในโลกส่วนตัวสูง แล้วเขาติดแม่มากกว่าพ่อ การดูแลของแม่ก็เลยค่อนข้างง่าย

 

 

แล้วพอพ่อเขานาน ๆ กลับมาที มันเป็นช่วงที่เราคิดเหมือนกันว่าเราจะยังไงกับเขา ตอนนั้นก็ให้พ่อลูกใกล้ชิดกันเหมือนเดิมนะ เพียงแต่ว่าเวลาพ่อไม่อยู่ ก็บอกลูกว่า ป๊าไปทำงาน จนกระทั่ง ทุกวันนี้ ไม่ได้เจอหน้าพ่อน่าจะหลายปีแล้ว เพราะต่างคนต่างอยู่ จะเป็นแค่ช่วงแรก ๆ ที่พ่อเทียวไปเทียวมาอยู่ประมาณปีเดียว

 

 

พอแม่สร้างความผูกพัน ความใกล้ชิดให้ลูกกับคนที่ฝากเลี้ยง เขาก็ค่อนข้างที่จะสบายใจขึ้น แล้วก็อยู่ได้ แม่ก็มองว่าลูกไม่ขาดนะ เขาอบอุ่นดี ของคุณแม่เก่งถ้ากลับไปอยู่กับญาติ อาจต้องมีปฏิสัมพันธ์กับทางญาติเยอะ ๆ ให้ลูกรู้สึกว่าเขาวางใจ ไว้ใจได้

 

 

แม่เก่ง - จากวันนั้นที่คุณแม่เอาน้องมาอยู่ที่บ้านญาติ ที่บ้านก็อยู่กันหลายคน ก็จะมีเด็ก ๆ พี่ ๆ ก็ช่วยเขาไปได้บ้าง แต่เดี๋ยวพอถึงสถานการณ์ที่เราจะต้องกลับไปอยู่กันแบบครอบครัวเรา สามคนพ่อแม่ลูก แล้วก็คุณยายอีกคนหนึ่งที่อยู่ด้วย ก็อาจจะไม่มีพี่ให้เล่น แม่ก็กังวลว่า บางทีเราทำงานก็อาจจะเติมเต็มให้เขาได้ไม่เต็มที่

 

 

แม่นก - คืออันนี้ไม่รู้จะใช้ได้หรือไม่ได้นะ ขอเสนอแนะนิดหนึ่งว่า ถ้าคุณแม่เป็นเหมือนแกนหลักให้ลูก ต่อให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปยังไง แม่อยู่กับลูกเสมอ แล้วก็สำรวจความรู้สึกของลูกในแต่ละวัน เราอาจต้องละเอียดอ่อนในช่วงแรก ๆ ขึ้นมานิดหนึ่งว่า พฤติกรรมลูกมีอะไรแปลกไปไหม เขาอาจสื่อสารหรือบอกเราไม่ได้ เราอาจต้องสังเกตเพื่อที่จะรู้เท่าทันเขาว่าเขารู้สึกยังไง เพราะแม่ไม่รู้ว่า น้องบอกความรู้สึกได้แค่ไหน แต่สำหรับนะโม เขาแทบบอกความรู้สึกของเขาไม่ได้เลย

 

 

แม่ต้องสังเกตพฤติกรรมของลูก แม้กระทั่งการกิน การนอน เขามีอาการกังวลใจไหม แล้วสิ่งที่เราพูดกับเขาออกไป เวลาเขาฟีดแบคมา มันตอบสนองเขาได้ไหม อาจเพิ่มความสนใจในตัวเขาเข้าไปนิดหนึ่งในช่วงแรก ๆ ให้เขารู้สึกว่า พอกลับมาอยู่ในสถานการณ์ สภาวะแบบนี้ ชีวิตเราก็จะปกติเหมือนเดิม จนกว่ามันจะเข้าในลูปนั้น ซึ่งเด็กบางคนก็ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน เป็นเรื่องของความใกล้ชิด ความเข้าใจ แม่เชื่อว่าตรงนั้นน่าจะช่วยได้

 

 

แม่เก่ง - ช่วงนี้ก็โชคดีว่าเรา work from home เราก็ได้อยู่กับเขามากขึ้น แต่ก็มีอีกเรื่องที่กังวล คือ เราไม่ได้พูดกับลูกเรื่องสถานะของพ่อกับแม่ อันนี้กำลังชั่งใจว่า เราควรจะบอกความจริงเขาไปไหม หรือว่าเราจะไม่บอกเลย

 

 

แม่นก - อันนี้แม่ดูตามสถานการณ์ก่อนดีไหม คือ อาจจะยังไม่ต้องรีบบอก แต่อาจดูว่า เขามีข้อสงสัยแค่ไหน เมื่อไร อย่างนี้ดีไหม

 

 

อาจจะเหมือนกับว่า อยู่ ๆ  กันไป แล้ววันหนึ่งน้องอาจจะมีเหตุการณ์อะไรที่รู้สึกว่า ทำไมต้องเป็นแบบนั้น ทำไมพ่อต้องทำอย่างนั้น ทำไมแม่ต้องทำอย่างนั้น แต่ก็ต้องพิจารณาคำตอบอีกนะว่าจะมีผลในอนาคตไหมถ้าเราตอบออกไปอย่างนี้ แล้วมันจะยาวไปสร้างความเข้าใจเขาในระดับไหน เพราะแม่ไม่รู้ว่า ความเข้าใจว่าพ่อกับแม่ต้องอยู่แบบนี้ น้องซีเรียสกับมันแค่ไหน พอลูกเราเป็นพิเศษแล้ว มันจะไม่เหมือนเด็กทั่วไป อันนี้ต้องใช้ความเข้าใจเยอะ ละเอียดมาก

 

 

แม่เก่ง - ใช่ค่ะ อย่างสมมติแรก ๆ ใหม่ ๆ เลย พูดกับเขา บางทีเขามีอาการกังวล แล้วพอหลัง ๆ ก็เริ่มค่อย ๆ พาเขาออกมาจากสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ก็เหมือนพาตัวเราออกมาจากตรงนั้นด้วย มาอยู่ตรงที่ใหม่ มันก็ช่วยได้เยอะ แต่ก็ต้องดูกันอีกทีว่าจะยังไง

 

 

แม่นก - ก็เหมือนว่าคุณแม่ก็แก้ปัญหาในระดับหนึ่งได้ดีเลยแหละ ทีนี้พอจะกลับไปสู่ภาวะหนึ่งที่ตอนนั้นเขาก็กังวล แม่ก็กังวลขึ้นมาอีกเนอะว่าจะยังไง ก็อย่างที่เราคุยกันเมื่อสักครู่ ลองค่ะคุณแม่ เชื่อสิ ยังไงคุณแม่ก็ทำได้

 

 

คุณใหม่ - ฟังเพลินเลยแม่เก่ง แม่นก พี่ใหม่จับได้ 3 เรื่องนะคะ อันที่ 1 - สิ่งที่แม่เก่งถามไป จริง ๆ มันเป็นการรับมือกับตัวเองด้วยเนอะ รับมือกับตัวเองที่จะดูแลลูก รับมือกับอารมณ์ตัวเอง จิตใจ การจัดการ อันที่ 2 - รับมือกับลูก ที่แม่นกบอกว่าสังเกตลูกนะ ต้องช่วยเหลือลูกด้วย หากิจกรรมให้ลูกทำ อันที่ 3 - การรับมือกับสถานการณ์เลี้ยงเดี่ยวที่จะบอกลูกอย่างไร อันนี้เป็นเหมือนกันทุกบ้านตั้งแต่ทำกลุ่มเลี้ยงเดี่ยว แม่ ๆ ก็จะบอกลูกยังไงดี บอกเมื่อไร บอกตอนไหน

 

 

ดูเหมือนว่า เราจะต้องเข้มแข็ง ลูกไม่ได้แปลกแยกนะ เราเลี้ยงลูกได้ เราเข้มแข็งได้ ลูกไม่ได้ผิดปกติอะไรในความเป็นเลี้ยงเดี่ยว แล้วการดูแลลูก ก็คือสังเกตลูก เพื่อจะช่วยลูก แล้วการบอกลูก บอกเมื่อลูกพร้อม อันนี้ดี พี่ใหม่ว่าเราได้เรียนรู้ด้วยกัน 3 เรื่องนี้

 

 

แม่เก่ง - ก็ได้เรียนรู้ในเรื่องที่ เราเองก็ต้องเอาใจใส่ดูแลลูกมากขึ้นกว่าเดิม เพราะอย่างปกติ เราคิดว่า เราดูแลลูกดีแล้ว อาจจะต้องใส่ใจเขามากขึ้น คือสังเกตเขามากขึ้น แล้วมันเหมือนสะท้อนกลับมาถึงเราด้วยว่า เราเองก็ต้องดูแลรักษาจิตใจและอารมณ์ของเรา สมมติเราคุยกับลูก อยู่กับลูก เราต้องมีความสุข เด็กเขารับรู้ได้ ถ้าเราจิตใจอารมณ์เป็นยังไง เราเองก็ต้องฟื้นฟูจิตใจเราด้วย ถ้าเราทำตัวเองดีแล้ว โอเคแล้ว เราก็ต้องส่งผ่านไปยังลูกด้วย

 

 

คุณใหม่ - ขอบคุณมากเลยค่ะแม่เก่ง เราต้องมีความสุข เราต้องมั่นคง เพราะกระแสนี้มันจะไปถึงลูกจริง ๆ

 

 

แม่นก - ฟังจากที่แม่เก่งสรุปเมื่อกี้สวยงามนะคะ อันนี้คือสิ่งที่อยากได้ฟัง และก็ได้ฟังด้วย ใช่ค่ะ เราต้องมีความสุขก่อน เราต้องรู้สึกมั่นคงก่อน แล้วลูกจะรู้สึกกับเรา แม่นกเชื่อว่าหลาย ๆ ครอบครัว ยิ่งถ้าเลี้ยงเดี่ยว ความสัมพันธ์ ความรู้สึกที่มีต่อแม่ มันชัด มันค่อนข้างที่จะสื่อถึงไวมาก ๆ เพราะฉะนั้น เราเป็นยังไง ลูกก็จะเป็นเช่นนั้น แม่เชื่ออย่างนั้น เพราะแม่ไม่ได้มีมุมแค่สวย มุมที่แม่แย่ ลูกก็แย่มากเหมือนกัน ด้วยลักษณะงาน แม่ว่าเราไม่ต่างกันมาก เวลาที่เราเครียด เราต้องเอาตัวเองให้อยู่ก่อนจริง ๆ เราถึงจะเข้าหาลูกได้

 

 

คุณใหม่ - เราก็เป็นมนุษย์มีอารมณ์เนอะ หนึ่งเราเป็นเลี้ยงเดี่ยว สองเรามีลูกที่เป็นเด็กพิเศษใส่ไข่ แล้วเรามีอะไรรอบตัวเยอะแยะเลยทั้งเรื่องงานหลาย ๆ เรื่องที่ต้องดูแล งั้นเราจะดูแลรับมือกับอารมณ์อย่างไร จะประครองครอบครัวเราให้มีความสุขอย่างไร เลี้ยงเดี่ยวก็มีความสุขได้ ฝากให้กำลังใจกับผู้ฟังที่ฟังเราอยู่หน่อยค่ะ

 

 

แม่นก - ฝากกำลังใจถึงคนที่ฟังอยู่นะคะ แม่รู้สึกว่า ไม่ว่าเราจะเป็นเลี้ยงเดี่ยว หรือไม่เลี้ยงเดี่ยว ลูกแต่ละคนก็เลี้ยงดูค่อนข้างยากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ลูกจะเกิดปัญหายังไง หรือเราจะเกิดปัญหายังไง ก็ขอให้พร้อม ตั้งสติให้ดีกับปัญหาทุกวันนี้ ซึ่งมันค่อนข้างจะเยอะขึ้น แล้วก็สภาวะจิตใจเราอาจจะต้องหาสิ่งผ่อนคลาย หาความสุขให้กับตัวเองเยอะหน่อย เติมพลังให้ตัวเองเยอะ ๆ แล้วก็คนรอบข้างเรา ให้ความสำคัญกับเขาให้เยอะ รวมทั้งตัวเรา และลูกเองด้วย แล้วเราจะผ่านทุกอย่างไปได้เหมือน ๆ กัน

 

 

แม่เก่ง - สมัยนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก เจนรุ่นลูกจะมีสิ่งเร้าอะไรเยอะแยะไปหมด ทุกวันนี้เลี้ยงลูกคนหนึ่งเราต้องให้ความรักและความเข้าใจเขาอย่างมากเลยทีเดียว อย่างตอนนี้พวกแทบเลต มือถือกับเด็กเล็กก็เข้ามามาก ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ มันก็จะเป็นอันตราย แม่เลยคิดว่า สมัยนี้เลี้ยงลูกค่อนข้างยากขึ้น แต่ด้วยสัญชาตญาณของคนที่เป็นแม่ก็น่าจะผ่านอุปสรรคตรงนี้ไปได้ เราต้องเรียนรู้ เข้าใจลูกเราให้มากขึ้นกว่าเดิม อยากจะเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคน ทั้งที่เลี้ยงเดี่ยวหรือเป็นครอบครัว ก็อยากจะให้คุณแม่เอาใจใส่ดูแลลูกให้มาก ๆ

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ฐาณิชชา ลิ้มพานิช

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER