Healthy Sex EP.03 เมื่อต้องการทำแท้ง

12 มีนาคม 2020 77 ครั้ง

Healthy Sex EP.03 เมื่อต้องการทำแท้ง

คลินิกเถื่อนไม่ใช่ทางออกที่ดีแน่สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และอยากยุติการตั้งครรภ์ แต่จะมีหนทางไหนช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้บ้าง

“ทำแท้ง” ปลอดภัยและถูกกฎหมาย

 

การยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยมีการดำเนินการในระบบบริการสุขภาพสำหรับประชาชน ภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมายและสุขภาพตามที่มีการกำหนดไว้ อย่างไรบ้าง? ไปฟัง นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

 

  • ใครนึกถึงการทำแท้ง แสดงว่าคนนั้นกำลังมีปัญหาอยู่ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อ

เวลามีเพศสัมพันธ์สิ่งที่ต้องนึกถึงตามมาด้วยคือ การท้อง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างเอชไอวี เอดส์ จึงต้องวางแผนคุมกำเนิด หรือการใช้ถุงยางอนามัยที่ป้องกันทั้งท้องและโรค เมื่อท้องโดยไม่ตั้งใจ จึงนำไปสู่ทางออกคือการทำแท้ง สิ่งที่อยากให้คิดต่อไปคือ ถ้าตั้งครรภ์ต่อไปจะเจอปัญหาอุปสรรคอะไร  หากไม่สามารถขจัดปัญหาออกไปได้ ก็ต้องนำไปสู่การยุติการตั้งครรภ์ เช่น  มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ อารมณ์แปรปรวน ตั้งครรภ์จากถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมา กลุ่มนี้สามารถยุติการตั้งครรภ์โดยถูกกฎหมาย 

 

ส่วนอีกกลุ่มที่ยุติการตั้งครรภ์คือ มีปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ถ้ากลุ่มนี้มารับคำปรึกษาแบบมีทางเลือก อาจแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องทำแท้ง ถ้าเจอปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และอยากยุติการตั้งครรภ์ ให้โทรมาปรึกษาที่ สายด่วน 1663 หรือ facebook 1663 เพื่อปรึกษาพูดคุยเรื่องหาทางออกอื่น ๆ ได้ ทุกอย่างเป็นความลับ

  • ถ้าคนต้องการทำแท้ง มาปรึกษาเรื่องยุติการตั้งครรภ์แต่ทำไม่ได้ จะทำอย่างไร

ปัจจุบันช่องทางในการยุติการตั้งครรภ์ ด้วยกฎหมายไทยตอนนี้สามารถเข้าได้กับเงื่อนไขในแต่ละข้อได้ เพราะส่วนใหญ่คนที่โทรเข้ามามักมีปัญหาด้านจิต สายด่วน 1663 ทำให้คนมีที่พึ่ง ทำให้เขาเข้ามาอยู่ในระบบดีกว่าไปเผชิญปัญหาเอง ไปเจอหมอเถื่อนอาจทำให้ติดเชื้อหรือเสียชีวิตได้ ตอนนี้พบว่าการเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อนลดไปเยอะในสังคมไทย การทำแท้งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในบ้านเราเพราะมีบริบทเฉพาะที่มองว่าเป็นเรื่องบาป จึงต้องมาปรับทัศนคติในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเพราะการทำแท้งเป็นเรื่องของสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ สิทธิทางเพศ สิทธิมนุษยชน เราต้องการให้คนยุติการตั้งครรภ์เข้าถึงความรู้ ช่องทาง และการบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่งกรมอนามัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐและเอกชนสนับสนุนหญิงไทยที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมเข้าสู่ระบบการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

  • ต้องทำอย่างไรต่อ ในกรณีที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์

ปัจจุบัน ประเทศไทยดำเนินตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก มีบริการยุติการตั้งครรภ์ 2 แบบคือ แบบหัตถการ โดยการใช้กระบอกสุญญากาศที่ปลอดภัยกว่าการขูดมดลูกแบบในอดีต อีกแบบคือ การใช้ยา สำหรับอายุครรภ์ต่ำกว่า 9 สัปดาห์ลงมา ยาตัวนี้ช่วยให้มดลูกบีบขับออกมา เป็นวิธีที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ได้รับการขึ้นทะเบียนยาแล้ว เป็นการพัฒนาให้ผู้ที่ต้องรับการยุติการตั้งครรภ์มีวิธีที่ปลอดภัยได้มาตรฐานสากล อายุครรภ์มีผลต่อการเลือกใช้วิธีการยุติการตั้งครรภ์ ถ้าเกิน 20 สัปดาห์ต้องปล่อยให้คลอด เพราะเสี่ยงต่อสุขภาพแม่ จึงต้องมีการรณรงค์ว่าผู้หญิงเวลามีเพศสัมพันธ์ต้องป้องกัน  ต้องสังเกตตัวเองว่ารอบเดือนมาปกติหรือไม่ ถ้าไม่มาควรรีบไปตรวจ หากตั้งครรภ์ก็ต้องรีบตัดสินใจว่าจะท้องต่อหรือยุติการตั้งครรภ์ เพื่อหาวิธีที่ปลอดภัย

  • ทำไมคนตั้งครรภ์ถึงไปคลินิกเถื่อน และผลที่ตามมาคืออะไร 

อาจเกิดจากความไม่รู้เพราะคิดว่าโรงพยาบาลรัฐไม่ทำให้ อยากย้ำว่าปัจจุบันเรามีเงื่อนไขทางกฎหมายที่ให้บริการได้ ถึงแม้ไม่ใช่ทุกแห่งที่ให้บริการแต่ถ้าใครโทรมา 1663 จะมีเครือข่ายสามารถส่งต่อไปรับการบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ใกล้บ้านที่สุด ทุกอย่างฟรีหมด เพราะทาง สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพ) ได้ให้ค่าตอบแทนสำหรับหน่วยงานที่ดำเนินการยุติการตั้งครรภ์ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงคลินิกที่ขึ้นทะเบียนกับทางกรมอนามัย มีหลายครั้งที่คนโทรเข้ามาเพื่อยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากกังวลล่วงหน้าว่าถ้าโรงเรียนรู้อาจถูกให้ออก ทางนี้จะให้ข้อมูลว่ามีกฎหมายรับรองแล้วว่าท้องแล้วก็ยังได้เรียนต่อก็หมดเงื่อนไขไป

 

สำหรับคนที่ไปทำแท้งเองตามคลินิกเถื่อน กลุ่มนี้จะมีผลข้างเคียงตามมาด้วยเรื่องการติดเชื้อ ตกเลือด เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้ให้บริการเป็นใคร ถ้าเจอช่องทางไม่ดีจะมีปัญหาตามมามากมาย

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER