ปลดล็อกกับหมอเวช EP.08 ท่ามกลางวิกฤติ ให้นำด้านที่ดีที่สุดของคุณออกมา

15 เมษายน 2020 209 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.08 ท่ามกลางวิกฤติ ให้นำด้านที่ดีที่สุดของคุณออกมา

มาสู้วิกฤติด้วยด้านดี ๆ ในตัวเรา เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม

การที่สมาชิกในสังคมสามารถนำด้านที่ดีที่สุดออกมา คนที่จะได้ประโยชน์ก็คือสังคมโดยรวม แต่ถ้าทุกคนต่างแสดงด้านมืด เพราะตัวเองกำลังกลัวและเครียด หรือกำลังไม่สนใจว่าโลกกำลังเกิดอะไรขึ้น ตรงนั้นเป็นเรื่องของการเอาแต่ใจ ซึ่งเราเห็นอยู่มากที่เป็นปรากฎการณ์ในสังคมไทยตอนนี้ ดังนั้นในสถานการณ์ที่เราจะต้องเจอกับวิกฤติในเรื่องนี้ไปอีกนาน เราจะนำเอาด้านที่ดีที่สุดของตัวเราออกมาได้อย่างไร

 

3 มาตรการที่สามารถนำด้านที่ดีที่สุดของตัวเราออกมาได้

 

มาตรการที่ 1 จัดการความกลัวในใจตัวเอง 

 

ความเครียด ความกังวล และความกลัว ทำให้เราเปิดระบบสัญญาณอันตรายในสมอง เน้นการเอาตัวรอด มองเห็นแต่แง่มุมของตัวเอง ก่อให้เกิดพฤติกรรมเห็นแก่ตัว แก่งแย่งกัน พฤติกรรมแบบนี้ล้วนสร้างผลเสียต่อการจัดการการแพร่ระบาด เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้การจัดการความกลัว ดังนี้

 

1. รับรู้ข่าวสารอย่างถูกต้อง คือ รับจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ อย่ารับมากเกิน 

 

2. เรียนรู้การจัดการความคิดวน

 

3. ดูแลระบบชีวิตขั้นพื้นฐาน (กิน นอน ออกกำลังกาย ผ่อนคลาย พูดคุย) 

 

4. ทำสิ่งที่ทำได้ด้วยตัวเรา อย่ามัวแต่บ่น กล่าวโทษคนอื่น ลองตั้งคำถามว่าคุณทำอะไรได้บ้าง 

 

สาเหตุที่เรื่องเหล่านี้ช่วยจัดการความกลัวได้ เพราะทันทีที่เราลงมือทำ ใจของเราจะจดจ่อกับการทำให้ดีขึ้น ซึ่งทำให้เราคลายวิตกจากความกังวลลง จากนั้นก็ต้องจัดเวลาให้มีความสงบภายในใจ เพื่อจะได้ถอยจากเรื่องต่าง ๆ นี้เป็นการฝึกทักษะผ่อนคลาย 

 

5. เรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่แน่นอนของชีวิต ถ้าจะดีไปกว่านั้น คือ การฝึกเผชิญหน้ากับความตาย เพราะความตายเป็นแม่ของความกลัวทั้งหมดทั้งมวล ถ้าเราสามารถเผชิญหน้ากับความตายได้ และเข้าใจสัจธรรม เข้าใจความไม่แน่นอนของชีวิต เราจะกลัวอะไรน้อยลงไปเยอะเลย 

ในเรื่องความกลัว มีคำแนะนำทางจิตวิทยาข้อหนึ่ง คือ สิ่งที่คุณควรจะกลัวก็คือ การที่คุณจัดการความกลัวอย่างผิดวิธี เพราะจะทำให้คุณนำด้านมืดของคุณออกมา 

 

มาตรการที่ 2  เปิดใจมองจากมุมของคนอื่น

 

ในสภาวะกดดัน เรามีแนวโน้มจะมองจากมุมของตัวเรา ซึ่งถ้าแต่ละคนมองจากมุมของตัวเอง ก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้น แต่เนื่องจากเรายังต้องอยู่ร่วมกันในสังคม และมนุษย์มีความสามารถในการร่วมแรงร่วมใจกัน จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการเรียนรู้ที่จะช่วยกันในยามยาก ซึ่งการระมัดระวังสัญชาติญาณที่เราจะเห็นจากมุมของตัวเราเอง มีหลักอยู่ 3 ข้อ ดังนี้

 

1. ฝึกทำความเข้าใจในมุมมองคนอื่น คำว่าเข้าใจ ไม่ได้แปลว่าต้องเห็นด้วย แต่แปลว่าถ้าเราเข้าใจเขา เราอาจจะคาดการณ์พฤติกรรมเขาได้

 

2. เวลาที่เราเริ่มฝึกเข้าใจมุมมองของคนอื่น เราจะเรียนรู้และรับรู้ความทุกข์และความกังวลในใจคนอื่นได้ง่ายขึ้น แล้วเราจะเห็นความเหมือนกันระหว่างเขากับเรา อย่างตอนนี้ทุกคนมีความกังวลใจ อาจจะกังวลคนละเรื่อง เช่น คนที่ต้องมีรายได้เป็นรายวัน เชื่อว่าเขาต้องลำบากมาก เพราะเขาไม่มีหลักประกันอย่างอื่น เราก็จะสามารถรับรู้ได้ถึงความทุกข์ ความกังวล และบางครั้งอาจทำให้เห็นว่า พฤติกรรมของเขาถูกกำหนดจากเงื่อนไขชีวิตของเขา 

 

3. อยากให้มองคนที่ลำบากกว่าเรา น่าเห็นใจกว่าเรา คนที่ขาดรายได้กระทันหันและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม คนเหล่านี้คือคนที่น่าเห็นใจ และคนเหล่านี้คือคนที่อาจจะไม่ได้ทำตามมาตรการของรัฐ เพราะเขาจำเป็นที่จะต้องหาวิธีอยู่รอด 

 

การที่เราเข้าใจมุมมองคนอื่น เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ จะทำให้เรามีมาตรการระดับท้องถิ่น ชุมชน ที่จะเอื้อให้คนทุกคนสามารถอยู่ได้ และช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันการที่เราเห็นใจและเชื่อมโยงกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตรงนี้ คือพลังที่จะช่วยให้สังคมเราผ่านเหตุวิกฤติในครั้งนี้ได้

 

มาตรการที่ 3 มองตัวเองจากโลกอนาคต 

 

ขอเสนอใน 2 ประเด็นย่อย คือ

 

ประเด็นย่อยที่ 1 ถ้าเราอยากจะวางตัวเองได้ถูกต้อง ให้สมมติตัวเองว่า ถ้าเวลาผ่านไปจากวันนี้ประมาณสัก 2 ปี เราในอนาคตมองกลับมาที่เราในวันนี้ อยากเห็นเราในปัจจุบันเป็นอย่างไร ทำสิ่งที่ถูกต้องแม้จะกลัว ทำสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ แบ่งปันช่วยเหลือคนอื่นในยามยาก หรืออยากเห็นตัวเองสติแตก ทำเรื่องที่น่าละอาย ทำสิ่งที่เห็นแก่ตัว และเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ถ้าคุณตระหนักในคำตอบนี้ ก็จะช่วยทำให้คุณเตือนตัวเองได้ว่า คุณอยากเป็นคนยังไง ไม่อย่างนั้นสมองเราจะทำงานแต่เฉพาะหน้า มีโจทย์เข้ามาคุกคามเราก็แก้เป็นรายครั้งไป แต่ถ้าคุณมองยาว ๆ คุณจะเริ่มรู้ว่าคุณอยากเป็นคนยังไง แล้วคุณสามารถวางตัวเองให้ดีขึ้นได้ ตามแบบที่คุณอยากจะเป็น

 

ประเด็นย่อยที่ 2 โลกตอนนี้กำลังเปลี่ยนไป และการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงชั่วคราว มีนักคิดหลายคนที่เสนอแนวคิดเกี่ยวข้องกับโลกหลังการแพร่ระบาดไว้ว่า 

 

1. โลกที่เปลี่ยนไปนี้ เกิดการจัดระบบใหม่ คือ ขั้วอำนาจที่เคยอยู่ในซีกโลกตะวันตก จะขยับมาทางซีกโลกตะวันออกมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นแนวโน้มที่มีมาอย่างต่อเนื่องแล้ว 

 

2. เหตุการณ์ครั้งนี้จะทำให้ประเทศต่าง ๆ เกิดการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น จะเริ่มกลับมามองตัวเอง แล้วพยายามทำให้ระบบการดูแล การผลิตสินค้าบริการสำคัญ ๆ มีความครบวงจรในประเทศมากขึ้น ไม่มีการจ้างประเทศอื่นผลิตส่งมาให้ในแบบเดิม แนวโน้มนี้ในมุมหนึ่ง ถ้ามองในแง่ดี ก็คือการที่ประเทศจะต้องออกแบบระบบที่พึ่งพาตัวเองได้ภายใน แต่ก็ยังเกื้อกูลกันได้ระหว่างกัน ซึ่งคล้ายกันมากกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 

 

3. เศรษฐกิจยังไม่ล่มสลาย แต่เศรษฐกิจกำลังปรับโครงสร้างใหม่ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจะผลักดันให้เกิดการก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลเร็วขึ้น นั่นหมายถึง เราจะต้องปรับตัว ธุรกิจ การใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไป

 

ประเด็นสุดท้ายที่จะคุยในครั้งนี้ คือ ค่านิยมของคนในสังคมจะเผชิญกับบททดสอบครั้งใหญ่ จากเดิมสังคมตะวันตกได้ชูประเด็นของปัจเจกคือให้สิทธิส่วนบุคคลสูง ในขณะที่สังคมซีกโลกตะวันออกจะถูกมองว่าเป็นสังคมที่ Collective Society คือสังคมที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มก้อนหรือการรวมหมู่ ซึ่งนั่นแปลว่า จะเกิดการขยับของค่านิยม

 

ขณะที่เรากำลังเผชิญสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส เรากำลังพยายามจะเอาตัวรอด เรากำลังจัดการชีวิต ผลกระทบทางสุขภาพและการเงิน เรากำลังปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่ เรากำลังต้องการการออกแบบชีวิต ธุรกิจ และสิ่งสำคัญในชีวิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งคุณอาจจะเริ่มต้นได้วันนี้เลย เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นโอกาสหรือเป็นวิกฤติ แล้วแต่ว่าเราจะนำมาทบทวนและต้องออกแบบหาทางเพื่อช่วยให้เรามีชีวิตได้ดีในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER