On the Way Home EP.43 เรื่องของอากุ๊ง ต้นธารแห่งความรัก

18 ธันวาคม 2020 167 ครั้ง

On the Way Home EP.43 เรื่องของอากุ๊ง ต้นธารแห่งความรัก

วันนี้มีเรื่องของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของ “คุณปู่” ซึ่งเธอเรียกว่า “อากุ๊ง” ให้ได้ติดตามกัน หนึ่งเรื่องราวที่น่าประทับใจคือ เรื่องราวความรักของคุณปู่ที่มีต่อคุณย่า จนเป็นที่มาของชื่อตอนในอีพีนี้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรติดตามได้ใน On the Way Home EP.43  เรื่องของอากุ๊ง ต้นธารแห่งความรัก

 

“อากุ๊ง ต้นธารแห่งความรัก” เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งก็คือผู้เขียน ได้เล่าถึงคุณปู่ของเธอไว้ว่า คุณปู่เป็นชายร่างสูงใหญ่ ผิวคล้ำกร้านแดด เสียงดังเฉียบขาดดุดัน ไม่หล่อ แต่หลานคนนี้รักปู่มาก (ผู้เขียนเรียกปู่ว่า อากุ๊ง)

 

ปู่มักสวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้น กางเกงจีนสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดพุง ปู่มักไปไหนมาไหนด้วยรถเครื่อง (มอเตอร์ไซค์) พอปู่มาหาก็มักจะจูงปู่เดินเข้าบ้าน ปู่ก็จะถามว่ากินข้าวหรือยัง หลานก็จะตอบโดยอัตโนมัติว่ากินแล้ว

 

แล้วปู่ก็มักถามว่ามีตังค์หรือเปล่า หลานก็มักจะตอบว่ามี เพราะแม่เคยสอนเอาไว้ว่า อากุ๊งแก่แล้ว อย่าไปรับเงินอากุ๊ง อากุ๊งจะได้มีเงินเอาไว้ใช้จ่ายส่วนตัว แต่ว่าอากุ๊งก็มักจะให้เงินหลาน

 

อากุ๊งเป็นคนจีน มาจากเมืองจีน อพยพเข้ามาในประเทศไทย ตอนเข้ามาเมืองไทยใหม่ ๆ ก็ไปอยู่แถวราชบุรี แล้วก็เริ่มต้นชีวิตด้วยการเป็นกุลีขุดดินขุดคลอง ขุดอยู่ 5 ปี ในสมัยนั้นมีการขุดคลองสำคัญเป็นคลองสายประวัติศาสตร์ คือ คลองราชดำเนิน รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริว่า ถ้ามีคลองที่เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ สมุทรสงคราม และราชบุรี การสัญจรไปมาของราษฎรก็น่าจะสะดวกโดยใช้แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน เป็นสื่อกลางในการขุดคลองเชื่อม

 

รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามว่า คลองดําเนินสะดวก ตลอดความยาวของคลองจะมีเสาหินแกรนิตปักเอาไว้ที่พื้นดิน 9 หลัก ตั้งแต่หลักที่ 0-8 มีตัวอักษรภาษาไทย โรมัน แล้วก็จีน การขุดคลองครั้งนั้นมีการว่าจ้างแรงงานชาวจีนที่เพิ่งมาสยามเป็นส่วนใหญ่ ใช้เวลา 2 ปีเสร็จสิ้นในปีพ.ศ 2411

 

ปู่เข้ามาเมืองไทยในปี 2466 แม้ว่าจะไม่ได้เข้ามาในสยามช่วงที่มีการขุดคลอง แต่หลังจากขุดคลองดำเนินสะดวกแล้วเสร็จ ก็มีการขุดคลองซอยเชื่อมต่อกับคลองดำเนินสะดวกมากกว่า 200 คลอง

 

ปู่เริ่มมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเองที่บ้านกรับใหญ่ จังหวัดราชบุรี ทำนาแล้วก็ทำไร่ใบยาสูบ แต่ว่าการปลูกยาสูบทำให้ดินจืดแล้วก็เสื่อมโทรม ก็ต้องมีการย้ายไปทำที่อื่น จากนั้นก็มีการเคลื่อนย้ายหนีทั้งภัยน้ำท่วม และภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อพยพย้ายถิ่นมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถางป่าลงหลักปักฐานที่บ้านหนองหมัน ตำบลบ่อสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี

 

ก็มาทำไร่ยาสูบอีก 6 ปี ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุดแม้กระทั่งตอนฝนตก ซึ่งเหนื่อยยากลำบากมาก ปู่ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 บางช่วงก็ต้องทำงานทั้งกลางวันกลางคืนแล้วก็เตรียมไถพรวนดินทำร่องยา คือ การทำร่องดินกว้าง 1 เมตร ยาว 10 วา ทำคันกั้นน้ำ เพาะต้นกล้าแล้วก็ย้ายมาปลูก จากนั้นก็เก็บใบยาเมื่อตอนอายุได้ 60 วัน แล้วก็เอามาหั่นให้เป็นเส้นขนาดเท่าเส้นผม ก่อนนำไปตากแดด 15-20 วัน การบ่มใบยา การนำมาพับให้ได้ขนาด ก็ต้องทำตอนกลางคืนจนสว่าง กลางวันก็ทำไร่ กลางคืนก็มาทำใบยา

 

ต่อมาเปลี่ยนมาปลูกอ้อย ฐานะความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น สมัยเด็ก ๆ ผู้เขียนบอกว่า ข้าวต้มที่บ้านปู่จะหุงผสมหัวเผือกหัวมัน ปู่เป็นคนไม่ขี้เหนียวเรื่องอาหารการกิน จะเป็นคนไปจ่ายตลาดเอง ลูกหลานจะต้องอิ่มท้องไม่ต้องอดอยากเหมือนกับที่ปู่กับย่าได้เจอมา

 

ถ้าปู่เข้ากรุงเทพฯ ไปเยี่ยมหลานชาย (ลูกพี่สาว ซึ่งพี่สาวปู่อยู่เมืองจีน) อยู่ที่คลองเตย ขากลับปู่จะหิ้วขนมปังปอนด์มาให้หลานกิน กินขนมปังเปล่า ๆ กันอย่างเอร็ดอร่อยทั้ง ๆ ที่ไม่มีแยม ไม่มีเนย สาเหตุที่ปู่หิ้วขนมปังแถวหรือขนมปังปอนด์ก็เพราะเป็นของฝากราคาถูก มีน้ำหนักเบา และสามารถแบ่งปันทุกคนได้อย่างทั่วถึง

 

ปู่เคยเดินทางกลับไปเมืองจีนเพื่อเยี่ยมญาติ แต่ละครั้งก็จะเตรียมข้าวของเงินทองไปฝาก เวลาไปจะมีข้าวของเงินทองไปให้ครอบครัวทางโน้น แต่พอขากลับไม่เหลือแม้กระทั่งเข็มขัด แล้วก็นาฬิกาข้อมือเพราะว่าจะมีคนขอ ปู่ก็จะให้ด้วยความเต็มใจเพราะนึกถึงความอดอยากและชีวิตทุกข์ยากที่บ้านเกิด

 

ปู่อยู่กินกับย่า มีลูกด้วยกัน 10 คน ปู่รักและซื่อสัตย์กับย่าตลอดชีวิต ปู่กับย่ามีตำนานรักที่น่าประทับใจมาก ปู่เป็นคนจีนมาจากเมืองจีน ย่าก็เป็นคนจีน ย่ากับปู่เติบโตมาด้วยกันในบ้านดินสีเหลือง มีเรื่องเล่าบอกว่า แม่ของปู่ซื้อย่ามาเลี้ยงเป็นคนรับใช้แล้วก็ไม่รัก บางคนก็บอกว่า ย่าเป็นลูกคนมีฐานะ แต่ว่าครอบครัวไม่ชอบลูกสาวก็เลยยกให้กับคนอื่น ปู่กับย่าเติบโตมาด้วยกัน เจอกันตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อย่าได้กลายเป็นลูกสะใภ้ก็ถูกแม่ของปู่รังแก

 

ตอนที่ตัดสินใจมาเมืองไทยก็พาย่ามาด้วย แล้วก็รักย่า มีย่าคนเดียว ซื่อสัตย์มาตลอดชีวิต ด้วยความยากจนในช่วงต้นของชีวิต ปู่ต้องยกลูกสาว 2 คนให้กับคนอื่นซึ่งย่าก็คงจะเสียใจมาก ย่าเป็นคนเงียบขรึม พูดน้อย แล้วก็ดูเศร้า ๆ

 

คนเขียนบอกว่า ฉันเพิ่งจะรู้ว่าปู่รักย่ามากมายเพียงไหน เมื่อวันไปดูงิ้วกับปู่ที่ศาลเจ้าครั้งกระโน้น ปู่จะอธิบายให้ฟังด้วยภาษาจีนง่าย ๆ สั้น ๆ เพราะว่างิ้วพูดแล้วก็ร้องเป็นคำกลอนให้เข้ากับท่วงทำนองของดนตรี

 

ในคืนนั้นงิ้วเล่นเรื่องราวของแม่ผัวลูกสะใภ้ ก็จะมีหญิงชราสวมชุดคลุมมีลายปักที่ปก กำลังกราดเกรี้ยวด่าทอกรีดนิ้วชี้หน้าลูกสะใภ้ ส่วนลูกสะใภ้ก็จะแต่งตัวปอน ๆ ร่างกายบอบบาง พอถูกแม่ผัวตรงเข้าทุบตี เธอก็จะเซถลาล้มลง

 

ปู่ก็เล่าให้หลานฟังว่า เมื่อก่อนทวดก็รังแกย่าของเจ้าแบบนี้แหละ แล้วปู่ก็น้ำตาไหล หลานบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันเห็นน้ำตาของปู่ น้ำตาของปู่ที่ไหลเป็นทางบนริ้วรอยเหี่ยวย่น เสียงปู่สั่นเครือปนสะอื้นในลำคอ ไม่เหลือเค้าของปู่ผู้ดุดันคนเก่าเลย ปู่ถนอมย่า รักย่า ชดเชยให้ย่าไม่ใช่ด้วยคำพูด แต่ด้วยการกระทำ ที่แท้ปู่เดินทางมาไกลแสนไกลถึงแดนสยามเพื่อจะพาย่ามาให้พ้นจากห้วงทุกข์ยากและความทรมานที่นั่น

 

ทวดไม่ยินดีที่ปู่จะมาเมืองไทย ก่อนมาทวดแช่งปู่ให้เรือล่ม ทวดบอกว่า “แกไปเมืองสยามขอให้ถูกปลาใหญ่กลางทะเลกิน” แต่ปู่โต้ตอบไปว่า “ฉันจะไปเมืองสยาม ไปกินปลาตัวใหญ่”

 

ปู่เป็นคนชอบดูงิ้ว เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน แล้วก็มักจะซื้อแต่ปลาตัวใหญ่ ๆ มากิน เหมือนกับที่เคยประกาศเอาไว้กับแม่ ปู่เป็นคนทระนง เป็นคนสู้ชีวิต แล้วก็ต่อสู้ทุกความยากลำบากเพื่อคนที่ปู่รัก ปู่ผู้เป็นต้นธารแห่งความรักของพวกเราอย่างแท้จริง

 

ที่มา “อากุ๊ง ต้นธารแห่งความรัก” เขียนโดย คุณอุษา ญาดา จากหนังสือขอบฟ้ากลางใจ (หนังสือรวมผลงานคัดสรรของผู้เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการการเขียนประวัติชีวิตบุพการี โครงการหอมกลิ่นลำดวน รุ่นที่ 1-2 ประจำปี 2561 สนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม)

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER