ปลดล็อกกับหมอเวช EP.21 จัดการใจอย่างไร ถ้าต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง

18 กรกฎาคม 2020 45 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.21 จัดการใจอย่างไร ถ้าต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง

Sandwich Generation คือช่วงวัยที่ต้องดูแลลูกและพ่อแม่สูงอายุ ซึ่งในบางคนอาจต้องดูแลพ่อแม่หรือคู่ชีวิตที่ป่วยเรื้อรัง นอกจากต้องช่วยเหลือดูแลกันให้ดีที่สุดแล้ว สุขภาพใจและการจัดการชีวิตของผู้ดูแลก็เป็นเรื่องสำคัญ จะจัดสมดุลย์ชีวิตของตัวเองได้อย่างไร มาฟังคำแนะนำและแนวทางจากคุณหมอประเวชกันค่ะ

ในภาวะที่เข้าสู่ช่วงวัยทำงาน คืออายุประมาณ 30-50 ปี มักจะถูกนิยามว่าเป็นช่วงแซนวิช คือ มีทั้งลูกและพ่อแม่ต้องดูแล ฉะนั้นจึงเป็นช่วงจังหวะชีวิตที่ต้องปรับสมดุลให้ดี ๆ 
ยิ่งถ้าต้องรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือสามี (ที่อายุเยอะกว่า) ยิ่งต้องปรับตัว เตรียมใจ 

ในบางคน เมื่อต้องมารับหน้าที่ดูแลพ่อแม่ที่อาจจะมีความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ยังมีการค้างคาใจอยู่ โดยที่เรายังไม่เคยได้หาคำตอบหรือสะสางปมค้างใจเหล่านี้ เมื่อต้องมาดูแลกัน 
ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแลด้วย 


ในเรื่องนี้คุณหมอประเวช ได้แนะนำวิธีการไว้ 4 วิธีจัดการดังนี้ 


1. ดูแลร่างกายเราอย่างไร 


สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ดูแลต้องได้นอนเต็มที่ ผู้ป่วยที่ตื่นบ่อยในช่วงกลางคืนจนทำให้ผู้ดูแลไม่ได้นอน ควรปรึกษาคุณหมอเรื่องการให้ยานอนหลับกับผู้ป่วย ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หรือ 
มีคนสลับเวรในการดูแลช่วงกลางคืน เพราะการนอนหลับไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบกับเรื่องอื่น ๆ เป็นอย่างมาก ต้องมีเวลาออกกำลังกาย สัมผัสแสงแดดบ้าง ถ้าทำแบบเต็มที่ไม่ได้ ต้องหาวิธีทำแทรกในช่วงดูแลผู้ป่วย ที่สำคัญต้องมีเวลาส่วนตัวบ้าง เพื่อทำธุระของตัวเองอย่างน้อยอาทิตย์ละครึ่งวัน 


2. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูแลและผู้ป่วย 


ในเรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ ถ้าระหว่างกันมีปมค้างใจกันอยู่ก็เป็นไปได้สูงที่จะมีปฎิกิริยาทางอารมณ์สูง ยิ่งถ้าผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมก็ยิ่งทำให้การปฎิบัติของผู้ดูแลแตกต่างกันตามสภาพอารมณ์ ฉะนั้นต้องย้อนกลับไปให้ผู้ดูแลได้นอนอย่างเต็มที่ พยายามมองทะลุเข้าไปในจิตใจผู้ป่วยให้เหมือนมองระลอกคลื่นน้ำ คือ มาแล้วก็ต้องไป ฉะนั้นก็ต้องย้อนไปทำข้อ 1 ให้ได้ดีด้วย เพื่อผลลัพธ์ในข้อนี้จะได้ดีขึ้น 

3. ความสัมพันธ์กับผู้ดูแลและญาติผู้ป่วย 


ในเรื่องนี้เป็นเรื่องซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะบางครั้งญาติก็มาพร้อมกับคำแนะนำ ซึ่งเราเอง (ผู้ดูแล) ก็ไม่อยากได้ยิน จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ก็อาจมีบางกรณี ถ้าเราเลือกฟังให้ดี นำมาแยกแยะในบางเรื่อง นำมาสังเกตตัวเอง ก็อาจจะได้ประโยชน์ และญาตินี่เองที่จะเป็นตัวช่วยให้เราได้บ้างในยามที่เราต้องการความช่วยเหลือ 


4. การเผชิญหน้ากับความตาย 


เรื่องนี้ถ้าเราเรียนรู้ด้วยใจสงบ ค่อย ๆ ทำความเข้าใจและยอมรับ เรียนรู้ว่าว่าทุกชีวิตมีร่างกายที่ค่อย ๆ เสื่อมถอย สุดท้ายก็ต้องจบชีวิต จะกลายเป็นบทเรียนที่สำคัญที่สุด และเราสามารถนำมาเลือกใช้ให้เป็นประโยชน์กับชีวิตได้อีกด้วย

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER