เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.24 เลี้ยงลูกให้ไม่สร้างปัญหาให้สังคม

06 สิงหาคม 2020 269 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.24 เลี้ยงลูกให้ไม่สร้างปัญหาให้สังคม

จากข่าวที่ดังไปทั่วโลกในคดีทายาทนักธุรกิจระดับโลก ขับรถชนนายตำรวจเสียชีวิต แต่สุดท้ายคดีสิ้นสุดโดยที่ศาลสั่งยกฟ้อง โดยไม่มีความผิดใด ๆ มีกระแสต่อต้านออกมาเยอะมาก ในอีกมุมหนึ่งคือ เสียงสะท้อนของคนเป็นพ่อแม่ว่าลูกของเราจะเติบโตมากับสังคมที่ไร้ความยุติธรรมแบบนี้จริง ๆ หรือ แล้วเราจะเลี้ยงลูกของเราอย่างไรดี พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์ จะมาบอกวิธีให้ลูกเรา “ไม่สร้างปัญหาให้สังคม” กันค่ะ

ถ้ามองภาพโดยรวม ประเด็นแบบนี้ในบ้านเรามีเรื่อย ๆ แต่ถ้ามองกันจริง ๆ คนแบบนี้มีน้อยมาก ๆ ในสังคมเรา ส่วนใหญ่เราอยู่ร่วมชะตาเดียวกัน และเรามีวิธีการที่ทำให้ตัวเรา ลูกหลานเราไม่เป็นแบบนั้น เราสอนลูกเราได้ ดังนี้

 


สอนลูกให้รู้จัก “รับผิด” 


“ทำผิดแล้วยอมรับผิด” ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นขั้นสูงของมนุษย์ ฉะนั้นเราจะสอนเรื่องยาก ๆ ตอนลูกเติบโตเต็มที่แล้วไม่ได้เลย ในที่สุดแล้ว ครอบครัวจะเป็นคนหล่อเลี้ยงว่าเด็กคนหนึ่งจะเติบโตเป็นยังไง 


ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ที่เติบโตด้วยความมั่นคง ไม่เป็นปัญหา มีความรับผิดชอบจากการกระทำของตัวเอง ซึ่งหลักการในเรื่องนี้มีไม่กี่อย่าง 
 

เราจะรับผิดชอบคนอื่นได้ ต้องรู้จักเริ่มรับผิดชอบตัวเองก่อน หมายความว่า เมื่อเรารู้สึก “อิ่ม” คือ ความมั่นคง ความภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าเราเป็นคนดี มันดีพอ เราถึงจะเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่นได้ 
 


ฝึกให้เด็กควบคุมตัวเอง

 

ต้องมีกติกา เมื่อเราต้องใช้กฎร่วมกับคนอื่น ๆ พ่อแม่ต้องคาดหวังตามวัยของลูกในการประพฤติดี การทำตามกติกา ในการดำเนินชึวิต ถ้าเรามีกติกาที่เหมาะสม เด็กก็จะรู้จักการควบคุมตัวเองในชีวิตประจำวัน 


เวลาที่เรากำหนดกติกา เราต้องปรึกษากับลูกด้วย เช่น ถ้าทำได้จะเป็นอย่างไร ถ้าทำไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น โดยที่มีการตกลงร่วมกัน คือ เป็นมาตรการที่จะช่วยให้เด็กทำได้ มากกว่ามุ่งเน้นไปการลงโทษ 


สิ่งสำคัญคือ ถ้าทำได้ต้อง “ชม” ทันที ในวัยประถม เป็นวัยอยากเป็นฮีโร่ พอเขาได้รับคำชม เขาก็จะอยากทำให้คนอื่น การชมไม่ต้องกลัวเหลิง แต่ไม่ชมจนน่าเบื่อ ต้องให้ความพอดีของคำชม เช่น ชมสิ่งที่เขาทำได้เป็นครั้งแรก ๆ ชมพฤติกรรมที่เขาทำได้ ชมในความพยายาม 

 

 

ลูกควรได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย

 

และกิจกรรมนั้นเป็นกิจกรรมที่ลูกชอบ เขาก็จะทำได้ดี ซึ่งไม่ใช่แค่การเรียนเท่านั้น สิ่งสำคัญของการทำกิจกรรมคือ สมองลูกได้เรียนรู้อย่างรอบด้าน และมีความภาคภูมิใจในตัวเอง พ่อแม่ควรทำกิจกรรมร่วมกับลูก อย่าเอาแต่จ้างคนอื่นมาทำ เพราะการทำอะไรร่วมกัน เราจะมีความสัมพันธ์กับลูกมากขึ้น รู้จักลูกมากขึ้น 

 

 

สนับสนุนให้ลูกพูด อย่าไปขัดขวาง


จะช่วยให้ลูกคิดต่อยอดมากขึ้น ลูกจะรู้สึกว่าได้รับการฟัง ต่อไปลูกก็จะฟังคนอื่นเป็น อยู่กับความเห็นต่างเป็น แล้วยังเป็นโอกาสที่เราจะเห็นว่าลูกมีปัญหาหรือเปล่า เมื่อไหร่ที่ลูกทุกข์ เราก็รู้ได้ง่าย การคุยกับลูกต้องทำให้เป็นธรรมชาติ 

 

 

ฝึกให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเอง

 

ถ้ารู้อารมณ์เร็ว เราจะควบคุมได้และควบคุมเร็ว วิธีการสอน เช่น ถ้าเขากำลังร้องไห้อยู่ เราก็ไม่ต้องรีบไปใช้เหตุผล แต่ให้คุยกับลูกก่อนว่า หนูกำลังเสียใจหรือน้อยใจใช่ไหม ไหนบอกแม่ว่ารู้สึกอย่างไร ทำแบบนี้ฝึกไปเรื่อย ๆ ความเสียหายเมื่อเกิดอารมณ์ขึ้นก็จะน้อยลง การแสดงออกที่เป็นลบก็น้อยลง เมื่อลูกโตมาในแบบนี้ ลูกจะเป็นคนมั่นคงจากข้างใน ภูมิใจในตัวเอง ความดีความมั่นคงนี่แหละที่จะเผื่อแผ่ไปถึงคนข้างนอก เราก็จะไม่ไปก่อกวนใคร และคนอื่นก็มาก่อกวนเราไม่ได้ เราก็ไม่เป็นปัญหาของสังคม 
 

 

ถ้าลูกเราไปสร้างปัญหาให้คนอื่น พ่อแม่ต้องจัดการอย่างไร 

พ่อแม่ต้องสอนตั้งแต่เล็ก ๆ ซึ่ง ในตอนเด็กความผิดก็มักไม่รุนแรงมาก เราก็ต้องสอนเลยว่า “ทุกการกระทำของเรา เป็นความรับผิดชอบของเรา”  ในตอนแรกเราอาจจะคุยกับลูกว่า เขารู้สึกอย่างไร ผลกระทบเป็นอย่างไร แล้วเขาจะแก้ผลที่เกิดขึ้นอย่างไร ถ้าพ่อแม่ยืนยันว่าการกระทำที่เราทำเราก็ต้องรับผิดชอบสิ่งนั้น เช่น แม่อยากให้หนูรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่แม่จะช่วยอยู่ตรงนี้กับลูก เราจะรับผิดชอบไปด้วยกัน

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER