เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.25 ลูกขอมือถือ ให้ได้ไหม

13 สิงหาคม 2020 168 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.25 ลูกขอมือถือ ให้ได้ไหม

เดี๋ยวนี้เราคงปฎิเสธที่จะไม่ยื่นโทรศัพท์มือถือให้ลูกยากขึ้นทุกที โดยเฉพาะในวัยประถม ด้วยความจำเป็นหรือการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป แต่ก่อนจะให้นั้นลองมาฟังวิธีของ พ.ญ.วนิดา เปาอินทร์ ก่อนว่าเราต้องเตรียมพร้อมอย่างไร

เพราะทุกวันนี้มือถือเป็นทุกอย่างไว้ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก เป็นห้องสมุด เป็นร้านเกม เป็นทีวี เป็นศูนย์การค้า เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว แต่เราก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมาพร้อมกับปัญหา เช่น ปัญหาติดเกม การถูกขโมย อาจนำไปสู่การถูกทำร้าย การเข้าสู่โลกโซเซียลมีเดียที่อาจจะมีเรื่องของความรุนแรงเรื่องเพศ การล่อลวงในรูปแบบต่าง ๆ การพนันออนไลน์ ฯลฯ ฉะนั้น เด็กที่ติดมือถือมีอันตรายมากเพราะเป็นช่วงที่สมองกำลังพัฒนาต้องมีการใส่ข้อมูลเพื่อให้เซลล์สมองที่กำลังเติบโตสร้างสายใยประสาทที่มีความหลากหลาย ฉะนั้นถ้าเขาติดตั้งแต่เล็ก สมองบางส่วนจะไม่ได้รับการพัฒนา ถ้าห้ามไม่ได้ก็ต้องเรียนรู้ที่จะใช้อย่างถูกต้อง 
 

 

ในวัยประถมถ้าจะยื่นมือถือให้ต้องยื่นให้พร้อมกฎกติกา ไม่ว่าจะเป็นการให้ชั่วคราวเพื่อการติดต่อกันหรือให้เป็นสมบัติส่วนตัว สิ่งสำคัญที่ต้องตกลงกันคือ ช่วงเวลา และระยะเวลา 
 

ช่วงเวลา คือ ช่วงไหนห้ามหยิบมือถือขึ้นมาใช้ เช่น ระหว่างเรียน กำลังกินข้าว ก่อนนอน 
 

ระยะเวลา คือ ต้องมีระยะเวลากำหนดว่าใช้ได้เท่าไหร่ 
 


เรื่องต้องระวังที่พ่อแม่ต้องบอกลูก 


- การรับสายจากเบอร์ไม่รู้จัก 


- การเข้าเว็บไซต์ที่ไม่ควรหรือตกลงกันว่าเว็บไซต์ไหนไม่ควรเข้า 


- การดาวน์โหลดที่ต้องเกิดค่าใช้จ่าย 
 

- การแช็ต เวลาจะตอบแช็ตต้องอ่านก่อนส่งเสมอ หรือได้รับแช็ตที่เราอ่านแล้วไม่พอใจ เราจะจัดการอย่างไร 
 

- การส่งรูปที่ไม่ควร รูปล่อแหลม 


- การติดต่อกับคนแปลกหน้า เพื่อนของเพื่อนต้องระวังตัวอย่างไร 


เรื่องที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างที่อาจเป็นภัยมาสู่ตัวลูกได้ถ้าใช้โซเซียลมีเดียไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องพวกนี้ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเด็ก พ่อแม่ต้องพูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ตัวช่วยที่ดีที่สุดคือ การตั้งกติกา 


เราย้ำกันหลายรอบแล้ว คือ ต้องตั้งร่วมกัน เช่น คุยกันเรื่องมารยาทในการใช้มือถือ สถานที่ไหน สถานการณ์ใดไม่ควรนำออกมาใช้ ถ้าลูกทำตามไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น จะทำอย่างไร เรื่องพวกนี้ต้องคุยกับลูก ทำความเข้าใจกันก่อน ต้องอย่าลืมว่าให้ลูกเป็นคนช่วยคิดกับเราด้วย 
 

การใช้มือถือในแต่ละช่วงวัย เราต้องเคารพการเป็นส่วนตัว เช่น ถ้าวัยรุ่น เราก็ต้องยอมรับว่าเขามีโลกส่วนตัวที่ไม่อยากให้พ่อแม่รู้ แต่ลูกจะคุยกับเราในเรื่องที่เขาสบายใจ เรามีหน้าที่รับฟัง ในวัยประถมปลาย อาจจะพูดคุยกันไว้ก่อนว่าถ้าแม่ขอดูมือถือได้ไหม มีส่วนไหนบ้างที่ลูกไม่อยากให้พ่อแม่เข้าไปยุ่ง ส่วนประถมต้นส่วนใหญ่ยังไม่มีความลับกับพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ต้องดูตามวัยลูกไป 


สิ่งสำคัญของกติกาต่าง ๆ ที่ตั้งมานั้นดูเหมือนจะเยอะแยะมากมาย แต่จริง ๆ แล้วขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกว่าเราเลี้ยงลูกมาในลักษณะไหน ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดี ลูก ๆ กล้าคุยกับพ่อแม่ มีความไว้วางใจ ลูกก็จะไม่มีเรื่องอยากปิดบังพ่อแม่อยู่แล้ว แต่ถ้าพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ลูกรู้สึกไม่มั่นคง กติกาต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นอาจจะไม่มีความหมายมากนัก ดังนั้น เราจึงต้องตระหนักเรื่องนี้ 

 

อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เราอยากให้ลูกเราใช้แบบไหน เราต้องใช้ให้ลูกเห็น เอาเรื่องง่าย ๆ ที่เห็นได้เด่นชัดก่อนก็ได้เช่น เราห้ามลูกใช้มือถือเวลาไหน เราก็ไม่ควรใช้เวลานั้นเช่นกัน

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER