ปลดล็อกกับหมอเวช EP.28 กลไกทางจิตที่ทำให้ตัดสินใจทางการเงินผิดพลาด

05 กันยายน 2020 49 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.28 กลไกทางจิตที่ทำให้ตัดสินใจทางการเงินผิดพลาด

การบริหารการเงินที่ผิดพลาด พบว่าเกิดจากกลไกทางจิตบางอย่างที่ทำให้คนเราตัดสินใจผิดพลาด จะมีกลไกใดบ้าง และจะมีวิธีแก้ได้อย่างไร ติดตามใน ปลดล็อกกับหมอเวช EP28 กลไกทางจิตที่ทำให้ตัดสินใจทางการเงินผิดพลาด

 

เงินเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของชีวิต ถ้าบริหารการเงินดี ชีวิตก็จะราบรื่น แต่ถ้าขาดสภาพคล่อง ขาดเงินใช้จ่ายก็จะทำให้เครียด และถ้ายังจัดการได้ไม่ดีก็จะเครียดเรื้อรัง นำไปสู่ปัญหามากมาย เช่น ปัญหาสุขภาพ ความสัมพันธ์ การทะเลาะเบาะแว้ง การหย่าร้าง หรือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

 

 

ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ตัดสินใจทางการเงินผิดพลาด

 

การบริหารการเงินที่ผิดพลาด พบว่าเกิดจากกลไกทางจิตบางอย่างที่ทำให้คนเราตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยใหญ่ ๆ  7 เรื่อง ดังนี้

 

 

กลไกทางจิตที่ 1 ความกลัวการสูญเสีย

 

การที่เราลงทุนทั้งเงิน เวลา และความรู้สึกลงไป แล้วเกิดการสูญเสีย เช่น เล่นหวยหรือเล่นพนันแล้วเสีย คนส่วนใหญ่จะรู้สึกเสียดาย และพยายามเอาคืน ซึ่งจะกลายเป็นทำให้เสียมากขึ้น

 

ความกลัวการสูญเสียอาจปรากฎในของที่เราเป็นเจ้าของ เช่น เรามีรถ มีบ้าน แล้วเราอยากขายรถ ขายบ้าน คนที่เป็นเจ้าของมักมองราคาของตัวเองสูงกว่าที่ตลาดรับซื้อ

 

หรือบางคนซื้อของมาแต่ไม่ได้ใช้ พอจะขาย ราคาต่ำไปก็ทำใจไม่ได้ จึงเก็บไว้ เพราะคิดว่าคุ้มค่ากว่าขายถูก ๆ โดยที่ไม่ได้มองว่าการเก็บไว้ก็มีค่าใช้จ่ายเรื่องการดูแลรักษา การจัดพื้นที่

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกลัวเสียหน้า กลัวตกเทรนด์ เช่น ถ้าไม่ได้ซื้อของชิ้นใหม่จะตกเทรนด์ หรือกลัวถูกให้ออกจากกลุ่มแล้วทำให้ต้องเสียเงิน เช่น การหาสมาชิกเข้าร่วมธุรกิจหรือกิจกรรม

 

วิธีแก้ คือ ต้องรู้ทันเวลามีอารมณ์บางอย่างที่ผูกพัน หรือความรู้สึกต้องการรักษาหน้า หรือมีอีโก้ของตัวเอง แม้เป็นเรื่องยาก แต่เพียงให้รู้ว่า คนเรามีแนวโน้มแบบนี้ และตระหนักกับสิ่งนั้น ก็จะตั้งหลักได้ดีขึ้น หรืออาจถามคนที่ไม่มีส่วนได้เสียว่า เขามองอย่างไรในเรื่องนี้ เราอาจได้คำพูดเตือนสติจากคนที่มองอย่างเป็นกลางได้ สำคัญ คือ เวลาเขาพูดไม่ตรงกับความเห็นของเรา ก็ให้ลองฟังเขา

 

 

กลไกทางจิตที่ 2 บ้าซื้อของตอนลดราคา

 

เวลาเห็นของลดราคา เราก็อยากซื้อ บางทีพ่อค้าแม่ค้าตั้งราคาไว้ แล้วบอกอันนี้ลดให้เท่านั้นเท่านี้ เราก็รู้สึกว่าลดได้เยอะ ตัวเลขที่ตั้งไว้ตอนแรกมีผลต่อจิตใจของเรา เช่น ของราคา 1,000 บาท ลด 70% เหลือ 300 บาท เราจะรู้สึกว่าถูกจัง อยากซื้อจัง

 

แต่ถ้าเราลบภาพว่าของชิ้นนี้เดิมมีราคา 1,000 บาท แล้วสมมติเราไปเจออยู่ในตลาดนัด ขาย 300 บาท เราจะซื้อของชิ้นนั้นไหม

 

มีสินค้าหลายชิ้นที่ตั้งราคาไว้สูง และเอามาลดราคา จังหวะที่ขายได้ก็คือจังหวะที่ลดราคา เวลาดูของเซลลด 70%-80% เราจะรู้สึกว่าลดเยอะมาก พอซื้อมานั่งดูดี ๆ ก็ไม่ได้ถูกนะ บางครั้งซื้อมาก็ไม่ได้ใช้ แค่รู้สึกว่าถูกเลยอยากซื้อ

 

วิธีแก้ คือ ถ้าไม่มีสิ่งที่อยากได้อย่าไปดูของลดราคา ถ้ามีของที่อยากได้หรือมีของลดราคาตรงกับสิ่งที่อยากได้ ให้มองเรื่องของประโยชน์ใช้สอยกับความพร้อมจะจ่ายเงินซึ่งต้องตั้งตัวเลขไว้ล่วงหน้าในใจ อย่าไปดูว่าลดกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะเปอร์เซ็นต์ถูกตั้งเพื่อล่อใจให้รู้สึกว่าลดราคาถูก

 

 

กลไกทางจิตที่ 3 อยากรวยข้ามคืน

 

คนเราจะจดจำเรื่องราวหรือข้อมูลบางอย่างอยู่ในหัว ซึ่งมีผลกับการคิดและตัดสินใจเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน เช่น จดจำเรื่องคนถูกหวย คนได้รับมรดกแล้วรวยข้ามคืน พอเราจดจำแม่น เราก็อยากรวยข้ามคืนบ้าง ทำให้เราเอาเวลาและเอาเงินที่มีไปเล่นเพื่อหวังรวยข้ามคืน ซึ่งการตัดสินใจส่วนใหญ่มักเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด

 

โดยสถิติแล้วโอกาสสำเร็จในการรวยข้ามคืนน้อยมาก ๆ แต่คนก็จะมีความฝันว่า ตัวเองจะเป็นหนึ่งในคนที่น้อยมาก ๆ

 

วิธีแก้ คือ ให้ใช้พลังงานส่วนใหญ่ของตัวเองในการหารายได้ให้ดี หารายได้จากการลงมือลงแรง ในการทำงาน แต่การเลือกงาน เลือกสิ่งที่ทำเพื่อสร้างรายได้ให้ดีก็เป็นทักษะความสามารถอย่างหนึ่งที่ต้องวิเคราะห์ให้เป็นโดยเฉพาะในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจหลายอย่างกำลังฝ่อตัวลง

 

 

กลไกทางจิตที่ 4 กลไกความขี้เบื่อ

 

มนุษย์เราเวลาได้อะไรมา ใหม่ ๆ จะรู้สึกถูกใจ พอใจ แต่พอใช้ไปไม่นานความถูกใจ พอใจ จะลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้มาจากกลไกที่เกิดจากการปรับตัวของเราที่จะเคยชินอยู่กับของใช้ พอเริ่มรู้สึกว่าอยู่กับของเก่าแล้วไม่เพลิดเพลิน เห็นคุณสมบัติของของใหม่ก็อยากซื้อของใหม่ ซึ่งเป็นเหตุให้สินค้าอย่างโทรศัพท์มือถือออกรุ่นใหม่ทุกปี บางคนก็ตามซื้อทุกปี

 

การอยากซื้อของใหม่อยู่เรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ของเก่ายังใช้งานได้เป็นกับดักตัวหนึ่งที่ทำให้เราเสียเงินโดยไม่จำเป็น

 

วิธีแก้ คือ ฝึกละเลียดประสบการณ์ สมมติอยากเปลี่ยนโทรศัพท์ใหม่  อาจลองดูว่าจริง ๆ แล้วที่ใช้อยู่ยังมีความเพลิดเพลินไม่ต่างกันไหม คุณสมบัติใหม่ของเครื่องใหม่ก็ไม่แตกต่างมากนัก ละเลียดประสบการณ์ของของที่มีอยู่เพื่อรักษาไว้ซึ่งความพอใจในการใช้งาน

 

 

กลไกทางจิตที่ 5 การใช้เงินในอนาคต

 

กลไกนี้จะมีแนวโน้มการตัดสินใจโดยเน้นความพอใจที่ได้รับในปัจจุบัน ส่วนปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เราจะคิดว่าเดี๋ยวค่อยไปจัดการ โดยที่ไม่รู้เลยว่า ในอนาคตอาจรวมหลายปัญหาจากการตัดสินใจที่เราสร้างไว้ในช่วงปัจจุบัน จนยากที่จะฟื้นตัว

 

ตัวอย่างที่ชัดที่สุด คือการรูดบัตรเครดิต มีงานวิจัยพบว่า เวลารูดบัตร เราไม่ค่อยรู้สึกว่าต้องเสียเงิน แต่ถ้าถือเงินสด แล้วเห็นว่าต้องนับเงินไปจ่าย เราจะรู้สึกเสียดายเงินมากขึ้น

 

วิธีแก้ คือ ใช้เงินสด ไม่ใช้บัตรเครดิต การใช้เงินสดมีข้อดี คือ ทำให้รู้ว่ากำลังใช้เงิน แต่ใช้บัตรบางทีไม่รู้สึกตัว การเปลี่ยนแปลงที่จะไปสู่สังคมไร้เงินสด จำเป็นที่จะต้องฝึกตัวเองให้ดีในเรื่องนี้

 

 

กลไกทางจิตที่ 6 การแคร์สายตาคนอื่น

 

ในต่างประเทศมีวิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่เป็นห่วงว่าคนอื่นจะมองเรายังไง จะสังเกตไหมว่าเราใส่เสื้อผ้าแบบไหน ใช้รถอะไร ใส่นาฬิกายี่ห้ออะไร รุ่นไหน จึงเสียเงินเพื่อซื้อสิ่งของที่เกินความจำเป็นกับวิถีชีวิตและระดับรายได้

 

ซึ่งความรู้สึกแบบนี้มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Spotlight Effect คือคนเข้าใจว่ามีแสงส่องมาให้ตัวเอง แล้วทำให้คนอื่นเห็นว่าเรามีความเด่น และสังเกตเห็นว่า เราใส่เสื้อผ้าดีไหม ใส่นาฬิกาดีไหม ขับรถหรูไหม

 

แต่จริง ๆ แล้วในสังคมตะวันตกพบว่าไม่มีใครสนใจกันมากนัก ต่างคนต่างสนใจปัญหาของตัวเอง เรื่องราวของตัวเอง ดังนั้นแนวคิดเรื่องกำลังถูกคนมองว่าเรากำลังใช้อะไรจึงเป็นเพียงความคิดนึกที่อยู่ในหัวของเรา

 

ในสังคมไทย คนจำนวนมากใช้เงินเพื่อหน้าตา ซึ่งทำให้เสียเงินโดยไม่จำเป็น คุ้มกันไหมกับการต้องเสียเงินเพื่อซื้อความมีหน้าตา ตรงนี้แล้วแต่แต่ละคนจะเลือกตัดสินใจ

 

วิธีแก้ คือ ใช้คาถา “ช่างหัวมัน” ถ้าเราช่างหัวมันได้ เราก็จะไม่สนใจสายตาคนอื่น จะใช้อะไรมีไลฟ์สไตล์ หรือมีวิถีชีวิตแบบไหน ก็เป็นเรื่องของเรา การแคร์สายตาคนอื่น ให้ความสำคัญกับหน้าตามากเกินไป ทำให้เราต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

 

 

กลไกทางจิตที่ 7 การหลงตัวเอง คิดว่าตัวเองแน่

 

คนส่วนใหญ่มักประเมินตัวเองว่า ดีกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น และคิดว่าถ้าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่มีสิ่งยั่วยุ เช่น เดินผ่านร้านของที่ชอบกิน จะทนสิ่งยั่วยุได้ ไปเดินห้าง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีเป้าหมายในการซื้อ คิดว่าฉันเอาอยู่ ฉันทนได้ จัดการตัวเองได้ แต่ในความเป็นจริง คนจำนวนมากไม่สามารถควบคุมความอยากของตัวเองได้และพ่ายแพ้ต่อสิ่งยั่วยุ หรือจะไปลงทุนในตลาดหุ้น ก็คิดว่าตัวเองรู้ดี แต่จริง ๆ ไม่ได้รู้อะไรมาก

 

วิธีแก้ คือ อย่าเอาตัวเองไปอยู่ในสิ่งที่เป็นสถานการณ์ยั่วยุ หรือถ้าจะต้องไปอยู่ในสถานการณ์นั้น ด้วยเหตุอะไรก็ตาม ให้วางแผนล่วงหน้า ว่าเราจะออกแบบการตัดสินใจของเราอย่างไร คิดตอนที่ใจเรายังนิ่ง ไม่ใช่ตัดสินใจตอนกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกเผชิญโดยสิ่งยั่วยุ

 

นอกจากนี้ หากจะทำอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องสำคัญควรมีเวลาเรียนรู้ เพื่อจะได้ตัดสินใจได้ดีขึ้น อย่าคิดว่าฉลาดแล้วจะรู้ดีไปทุกเรื่อง ของทุกอย่างมีเนื้อหาวิชาการความรู้ การเรียนรู้ไม่หยุดยั้ง ทำให้ชีวิตสนุกขึ้น แม้จะเป็นการเรียนรู้โลกภายนอกก็ทำให้ชีวิตสนุกขึ้น และที่สำคัญยังป้องกันสมองเสื่อมได้ด้วย

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER