ปลดล็อกกับหมอเวช EP.29 หางานที่ใช่และเติมเต็ม อย่าทนรอวันเกษียณ

12 กันยายน 2020 185 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.29 หางานที่ใช่และเติมเต็ม อย่าทนรอวันเกษียณ

บ่อยครั้งที่คนส่วนใหญ่มักบ่นเรื่องงาน โดยเฉพาะคนในช่วงวัย 40 ปลาย ๆ หรือ 50 ต้น ๆ ปัญหานี้จะตัดสินใจอย่างไรดี ทนอยู่ต่อหรือก้าวออกมา ลองมาฟังคำแนะนำและข้อคิดดี ๆ จาก นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล ใน ปลดล็อกกับหมอเวช EP.29 หางานที่ใช่และเติมเต็ม อย่าทนรอวันเกษียณ

 

ทำไมคนเราถึงไม่กล้าและกลัวการตัดสินใจออกจากงาน

 

 

1. วุฒิการศึกษา

 

อย่าปล่อยให้วุฒิการศึกษาใบแรกกำหนดเส้นทางการงานของคุณ เพราะนั่นเป็นเพียงก้าวแรก แต่คุณมีประสบการณ์สะสมขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้จะเปิดโอกาสทางเลือกและความเป็นไปได้ให้กับคุณ วุฒิใบแรกเป็นต้นทุนทางวิชาการอย่างหนึ่ง แต่คุณจะเดินเส้นทางไหน อยู่ที่คุณเลือกออกแบบ

 

 

2. การติดล็อกในเรื่องงาน

 

หลายครั้งที่คนเราติดล็อกในอาชีพการงาน ไม่ใช่เพราะคิดไม่ออกหรือไม่มีความฝัน แต่เกิดจากความกลัวภายในใจ การติดกับความต้องการความปลอดภัยและมั่นคงมากเกินไป ซึ่งทำให้ไม่กล้าลองไปแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ 

 

การแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เป็นเพียงกระบวนการมองหา ยังไม่ใช่กระบวนการตัดสินใจ ดังนั้น วางความกลัวลงชั่วคราว แล้วศึกษาให้ชัดที่สุด ให้ไกลที่สุด สลับไปมาระหว่าง การมองหา ดูข้อมูล ดูแนวโน้ม ดูตัวอย่างการปล่อยความคิดให้ลื่นไหล กับการพยายามจะตกผลึกทำความเข้าใจ

 

ถ้าเราเข้าใจกระบวนการจัดการความคิด แล้วรู้ว่าเป็นคนละขั้นกับการตัดสินใจ เราก็จะสามารถปลดล็อกภายในใจได้ง่ายขึ้น

 

 

3. อายุที่มากขึ้น

 

อายุไม่ใช่ข้อจำกัดของการเปลี่ยนแปลงอาชีพการงาน ตรงกันข้ามอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้นและรู้จักตัวเองมากขึ้น ถ้าคุณไม่หยุดทำความรู้จักตัวเอง คุณก็จะสามารถออกแบบเส้นทางการงานให้ดีขึ้นได้

 

 

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจย้ายงาน

 

1. หมดไฟในการทำงาน

 

2. ถูกให้ออกเพราะอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ทำกำลังฝ่อตัวและปิดลง

 

3. เกิดความสูญเสียบางอย่างในชีวิต เช่น มีปัญหาสุขภาพทำให้ต้องเปลี่ยนงาน หรือบางกรณีคนรักตายจาก ทำให้สถานการณ์ชีวิตเปลี่ยน

 

4. เสียงเรียกร้องจากภายใน เช่น การมีความฝันบางอย่างที่อยากทำ หรือมีความต้องการที่จะใช้ศักยภาพให้มากขึ้น เพราะรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ยังใช้ศักยภาพไม่เต็มที่ หรือการคิดว่าน่าจะสร้างรายได้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่

 

 

จะใช้การตัดสินใจอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงเส้นทางงาน

 

แต่ละวันเราตัดสินใจในทุก ๆ เรื่องตลอดเวลา การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเส้นทางงานก็เป็นหนึ่งในการตัดสินใจเหมือนกับการตัดสินใจแต่งงาน ซื้อบ้าน ซื้อรถ สั่งอาหาร แต่ละคนจะมีสไตล์การตัดสินใจเป็นของตัวเอง

 

การตัดสินใจครั้งสำคัญเรื่องใหญ่ ๆ มักใช้เหตุผลอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยกระบวนการภายในใจ ความรู้สึกบางอย่าง และเปิดโอกาสให้กระบวนการของจิตใต้สำนึกได้มีบทบาทเข้ามาด้วย จะทำให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้น

 

 

ปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อการเลือกงานใหม่

 

1. ลักษณะงาน งานที่คุณอยากจะทำ ลักษณะเนื้องานเป็นแบบไหน ต้องแยกให้ออกว่าคุณชอบงานที่เกี่ยวข้องกับคน หรืองานที่ต้องใช้เครื่องมือ หรืองานที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับข้อมูล

 

2. สถานที่ คุณอยากอยู่ในที่ทำงานแบบไหน อย่างไร อยู่ในออฟฟิส หรือกลางแจ้ง องค์กรเล็กหรือใหญ่

 

3. ผู้คนที่แวดล้อม บางคนไม่ชอบโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการคิดถึงผลกำไรเต็มรูปแบบ บางคนไม่ชอบระบบราชการ คุณต้องเรียนรู้ว่า คุณอยากอยู่กับคนแบบไหน

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของเวลา รูปแบบรายได้ รูปแบบการทำงาน เช่น พนักงานประจำ ธุรกิจส่วนตัว หรือ เป็นฟรีแลนซ์ ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนนำมาประกอบในการเลือกงานได้ทั้งสิ้น

 

 

งานที่ลงตัวประกอบไปด้วยปัจจัยง่าย ๆ คือ

 

1. ต้องมีรายได้ที่เพียงพอ

 

2. ทำด้วยใจรักและอยากทำ มีความสุข สนุกกับการทำ

 

3. เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ และตอบจุดหมายสำคัญของชีวิต 

 

 

สุดท้ายนี้ ต้องตระหนักว่า ทางเลือกทุกอย่างในชีวิต มีข้อดีข้อเสียปนกันเสมอ ทุกทางเลือกคุณจะได้อะไรบางอย่างที่คุณชอบ และจะต้องอยู่กับอะไรบางอย่างที่ไม่ชอบ ถ้าเข้าใจ 2 ปัจจัยนี้ ก็จะหาความลงตัวของชีวิตและงานได้ง่ายขึ้น

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER