Walk the Talk season 2 EP.12 ดนตรี ภาษาสากลของทุกคน

06 ตุลาคม 2020 167 ครั้ง

Walk the Talk season 2 EP.12 ดนตรี ภาษาสากลของทุกคน

จากความหลงใหลในสไตล์เพลงของวง The Beatles ทำให้ครูยุ้ย อุสริญญา กิตติกรเจริญ ตัดสินใจไปเรียนต่อด้านดนตรีเพื่อตามรอยศิลปินที่ชื่นชอบ จนกระทั่งได้มีโอกาสสมัครเรียนในหลักสูตรการใช้เสียง ที่ LIPA (Liverpool Institute for Performing Arts) ซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของ The Beatles จากความชื่นชอบในวันนั้น ส่งผลให้ปัจจุบันนี้ครูยุ้ยได้เปิดโรงเรียนสอนดนตรีเป็นของตัวเอง มุมมองและแนวทางในการสอนแบบฉบับครูยุ้ยจะเป็นอย่างไร แล้วดนตรีกับภาษามาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ติดตามได้ใน Walk the Talk season 2 EP.12 ดนตรี ภาษาสากลของทุกคน

 

ชาว Walk the Talk รู้หรือไม่ว่าดนตรีสามารถดึงอารมณ์ที่ซ่อนอยู่ในสมองของเราได้ นั่นทำให้ทั้งในวันดี ๆ และวันที่อะไรก็ไม่เป็นใจ เรามักจะเปิดเพลงหรือเล่นเครื่องดนตรีเพื่อเยียวยาจิตใจเรา หรือแม้กระทั่งประกอบกิจกรรมเข้าจังหวะอย่างการออกกำลังกาย ดนตรีสนุก ๆ ทำให้เอนจอยก็เปรียบเหมือนแรงเชียร์จากเพื่อน ทำให้มีกำลังใจในการเสียเหงื่อ แถมสนุกไปกับการออกกำลังกายมากขึ้น 

 

“น้องยุ้ย – อุสริญญา กิตติกรเจริญ” ผู้รักเสียงดนตรีมาตั้งแต่สมัยเรียน ประกอบกับความหลงใหลใน The Beatles จนตามรอยศิลปินวงนี้ไปทุกอย่าง ไม่เว้นแม้กระทั่งโรงเรียนที่ศิลปินกลุ่มนี้เข้าเรียน เธอก็เข้าไปสมัครเป็นรุ่นน้อง จนทำให้เธอได้ค้นพบความสุขจากเสียงดนตรีที่แท้จริง

 

 

 

What got you into the business, the music school? จุดเริ่มต้นสถานที่แห่งความสุข

 

“ตอนที่ไปเรียนที่อังกฤษ มันจะมีวิชาคล้าย ๆ กับ CSR คือ ให้พวกเราไปสอนดนตรีคนที่ด้อยโอกาส เหมือนเป็นการไปแชร์ประสบการณ์ ปรากฎว่านอกจากความสนุกสนาน บรรยากาศใหม่ ๆ ได้ความอิ่มเอมใจจากการได้แชร์สิ่งที่เรามีไปให้คนอื่น แล้วมันเป็นประโยชน์สำหรับเขา เราก็อารมณ์นี้เป็นที่ตั้ง พอเรียนจบกลับมาเลยคิดว่าเราอยากทำสิ่งที่เรารักและเป็นประโยชน์กับคนอื่น เลยตัดสินใจเปิดโรงเรียน”

 

 

 

Nurturing passion in music - หล่อเลี้ยงด้วยความรัก

 

แม้ว่าในประเทศไทย (และในอีกหลายประเทศ) ตอนนี้จะมีรายการประเภท Talent competition shows หรือเวทีประกวดความสามารถ หนึ่งในประเภทการแข่งขันที่มีให้เลือกชมมากที่สุดคงหนีไม่พ้น Singing competition show (การประกวดร้องเพลง) นั่นทำให้เด็กส่วนมากที่มาสมัครเรียนต้องการเรียนดนตรีเพื่อแข่งขัน

 

“จริง ๆ ดนตรีอยู่กับชีวิตเราตั้งแต่เกิดจนตายนะ เวลาที่ผู้ปกครองมาสมัครให้เด็กเรียนดนตรี มันเป็นเหมือน pattern ว่าเด็กก็ต้องมีทักษะอื่น ๆ เสริม เราเปิดโลกให้ลูกเราได้ ให้เขารู้หลาย ๆ สกิล แต่สุดท้ายเด็กเขาจะเลือกเองว่าเขาชอบอันไหน ดังนั้นดูที่วัตถุประสงค์ก่อนว่าต้องการอะไรให้ลูก ส่วนมากจะเจอ คุณหมอบอกว่าหรือข้างบ้านพาลูกไปเรียนดนตรีก็เอาลูกไปเรียน หรือเห็นลูกชอบแสดงออกเลยจับเรียนเพื่อประกวดเลย แต่คำถามสำคัญคือ เด็กเขา enjoy ไหม? พอเราทำอะไรแล้วมีความสุข เราจะไปต่อได้เรื่อย ๆ มันเป็นเรื่องที่วิเศษมาก เรื่องอื่นจะเป็นเรื่องรอง”

 

 

 

How parents can support learning or practicing at home?

 

“การที่เราเอาลูกไปเรียน พ่อแม่มีส่วนอย่างมากในการสนับสนุน การเรียนดนตรีที่เป็นทักษะที่เขาเรียนแค่ 1 ชม.ต่อสัปดาห์คือไม่พอ ต้องผลักดันให้เขาได้ฝึกซ้อมที่บ้าน ที่โรงเรียน เราจะมีการอัพเดท ผู้ปกครองต้องเปิดใจ เป็นเพื่อนในการซ้อมกับลูก เด็กจะรู้สึกว่านี่คือกิจกรรมร่วมกัน ไม่ใช่ผลักภาระไปให้เด็ก ไม่งั้นเด็กจะรู้สึกว่าเขาโดดเดี่ยว ดังนั้นเขาจะปิดกั้น แล้วรู้สึกว่าไม่รักดนตรีไปเลย ดังนั้นคำว่า ผลักดัน คือมันต้องเรียนไปพร้อมกันทุกฝ่าย ร่วมมือกัน ทั้งโรงเรียน ผู้ปกครอง และเด็ก เราคือทีมเดียวกัน”

 

 

 

Teachers truly have an impact on students. จะหยุดหรือไปต่อ? ครูมีผล

 

เนื่องจากคนเรียนดนตรีไม่ได้มีเยอะ แล้วเรียนมาเพื่อเป็นครูสอนยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ ความสามารถในการเล่นดนตรีและการถ่ายทอด เรื่องของวินัย ความรับผิดชอบ จึงเป็นเรื่องที่ทางโรงเรียนใช้เป็นหลักในการสอบสัมภาษณ์

 

“การสอนเด็กเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ครูต้องสามารถถ่ายทอดให้เขารู้จักดนตรีและรักดนตรีก่อนที่จะไปต่อ บุคลากรที่เลือกมาจึงต้องสามารถสร้างคนได้ เขาต้องรักเด็ก เราจึงมีการคุยเรื่องวัฒนธรรมองค์กร ให้ลงงานแล้วเราคอย observe”

 

 

 

Make sure that you choose one that fits their age and ability. พ่อแม่คือโค้ชที่ดี

 

นอกจากทักษะการร้องเป็นแล้ว ทักษะการเล่นเครื่องดนตรีให้ได้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครองหลายคนมั่นหมายไว้ในใจ คำถามคือ เราจะเลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับลูกของเรา?

 

“เด็กในแต่ละช่วงวัยจะมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ที่ต่างกัน เด็กเล็กแนะนำเปียโนก่อน เพื่อพัฒนาทักษะการฟัง จูนหูเขาในเบื้องต้นก่อน หลังจากนั้นก็เป็นการฝึกกล้ามเนื้อนิ้วทั้ง 10 นิ้ว โตไปกว่านั้นแล้วค่อยเลือกว่าจะไปเรียนอะไรต่อ”

 

แล้วถ้าลูกเราดูทีวีแล้วเกิดอยากเรียนไวโอลินขึ้นมาละ?

 

“ไวโอลินกับเด็กเล็ก การใช้นิ้วกดต้องใช้แรงพอควร หูต้องแม่น เราต้องรอกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เด็กต้องถือ กล้ามเนื้อแขนทั้งแขนมันทำงานตลอด กล้ามเนื้อที่ถือโบว์ bow (ไม้สีไวโอลิน) มันทำงานตลอด โอเค การเห็นจากสื่อต่าง ๆ แล้วชื่นชอบ มันเป็น sign ที่ดีนะว่าเขาชอบดนตรี แต่หน้าที่ของผู้ปกครองคือ หาข้อมูลและเล่าให้น้องฟัง ให้เขารู้จักเครื่องดนตรีเหล่านั้นอย่างดีก่อน รวมถึงเล่าให้ฟังด้วยว่าระหว่างทางก่อนที่จะไปประสบความสำเร็จแล้ว จะต้องเจอกับอะไรบ้าง คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องรู้ว่าตัวเองต้องเสียสละและเตรียมตัวอะไรให้น้องบ้างเหมือนกัน”

 

 

 

The bottom line is that playing an instrument should be fun, should be stimulating, and it should engage your child. เด็กวัยนี้เขาควร enjoy

 

“อยากให้เรียนดนตรีเพื่อจรรโลงใจ อยากให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ในการใช้ชีวิตทุกวันนี้ เราจะต้องเจอสิ่งเร้าต่าง ๆ เราอาจจะมีกิจกรรมหลายอย่างช่วย ดนตรีก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้เรา release ตัวเองจากความเครียด ถ้าจะมาเรียนก็อยากให้เรียนเพื่อที่จะจรรโลงอารมณ์ของเรา ให้ maintain อารมณ์ของเราได้ มากกว่าที่เรียนเพื่อจะสอบ เพื่อแข่งขัน"

 

 

 

Music and language - ดนตรีกับภาษาเป็นทักษะที่เกี่ยวกันมาก

 

"เพลงไทยมีน้อยเพลงที่โชว์พาวเวอร์เทคนิค เด็กเห็นจากในทีวีอยากร้องได้บ้างก็ต้องไปที่เพลงภาษาอังกฤษ เราก็ต้องผันไปเป็นครูภาษาอังกฤษไปด้วย คือ เด็กจะไปโฟกัสที่เทคนิค ที่การโชว์ หรือ การโปรเจคเสียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราก็จะช่วยให้เขาเห็นความสำคัญของการออกเสียงคำ การเปิดปาก ปิดปาก stress เพราะเราร้องภาษาของคนอื่น เราก็ต้องให้เกียรติภาษานั้น ๆ ด้วยการแสดงความใส่ใจในรายละเอียด ถ้าไม่ได้ดูเรื่องรายละเอียดคำ เจ้าของภาษาฟัง หรือ คนที่เขารู้ภาษาฟังจะงงว่า นี่ภาษาอังกฤษหรืออย่างไร แล้วมันก็จะมีคำศัพท์ต่าง ๆ ที่เขาได้เรียนรู้ไปในตัวอีกด้วย บางทีจดจำเอาไปใช้ได้จริงเลยก็มี”

 

 

 

This stage is to inspire.

 

“วัตถุประสงค์ของการจัดคอนเสิร์ต เพื่อให้มีเวทีเสมือนเวทีมืออาชีพจริง ๆ ให้เด็กขึ้นมารับประสบการณ์ตรงนั้นไป พอเขาได้ปล่อยของบนเวที พอกลับมาจะกลับมาด้วยความภาคภูมิใจ แล้วถ้าในระหว่างทางใครไม่ได้ซ้อม แต่อยากขึ้นเวที พอเขา control บนเวทีไม่ได้ เขาก็จะลงมาด้วยความเฟล ซึ่งเราก็จะบอกเขาว่า มันไม่ผิดอะไรเลยที่จะขึ้นไปเล่นแล้วเฟล สำคัญคือ วันนี้เขาเก่งที่เขาขึ้นไปแล้วทำได้ขนาดนี้ เหมือนทำอะไรแล้วกล้า ๆ กลัว ๆ ก็ยังดีกว่ากล้า ๆ กลัว ๆ จนไม่ได้ทำ คราวนี้เขาจะเรียนรู้การรับมือกับความผิดหวัง เขาจะรู้วิธีเอาตัวรอดในการใช้ชีวิตได้”

 

 

 

Opportunity is the key.

 

“กับเด็กพิเศษ บางครั้งคนจะ question ว่าเขาทำได้เหรอ ตัวเขาเองก็รู้ว่าเขาไม่ได้รับการยอมรับ แต่พอเขาร้องออกมา ทุกคนหยุด หันมามอง เดินเข้ามา ยิ้มให้เขา คอยซัพพอร์ทเขา เขาก็ยิ้ม มีกำลังใจ มันเป็นอะไรที่ touching มาก คือ คนเราไม่จำเป็นที่จะต้องแข่งขันกัน หรือ appreciate แต่คนที่เก่งเท่านั้น ยังมีคนอีกเยอะที่ต้องการโอกาส แค่เราหันกลับมามองและให้โอกาสซึ่งกันและกัน สังคมจะน่าอยู่มากเลย”

 

 

 

 

คำศัพท์

 

"If your actions inspire others to dream more, learn more, do more and become more, you are a leader."

 

ถ้าสิ่งที่คุณทำสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนฝันใหญ่ขึ้น เรียนรู้มากขึ้น ทำมากขึ้น และกลายเป็นคนที่ดีขึ้น แสดงว่าคุณนั้นคือผู้นำ

 

 

 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัฐนันท์ ฐาปนาประเสริฐ

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER