ส่งต่อรักแบบแม่ EP.01 คุณลูกชิน (ชินวุฒ อินทรคูสิน)

12 ตุลาคม 2020 144 ครั้ง

ส่งต่อรักแบบแม่ EP.01 คุณลูกชิน (ชินวุฒ อินทรคูสิน)

“แม่ผมจะไม่ได้เป็นประเภทสั่งนะ แต่จะเป็นประเภทบอกว่าโทษของมันคืออะไร แล้วถ้า you รับโทษมันได้ ก็ทำ แต่ถ้ารับไม่ได้ก็อย่าทำ หรือถ้ารับโทษมันได้ ทำไปแล้วถ้าเกิดวันนั้นโทษมันมาจริง ๆ you รับได้จริงหรือเปล่า จะเป็นแบบนั้นมากกว่า แต่ไม่ได้เป็นประเภทห้ามทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้นะ คือสอนให้ทำแล้วรับผลมัน” ฟังมุมมองความรักแบบแม่ของ "ลูกชิน ชินวุฒ อินทรคูสิน" ได้ใน ส่งต่อรักแบบแม่ EP.01 คุณลูกชิน (ชินวุฒ อินทรคูสิน)

 

Host: สวัสดีค่ะชิน ถ้าเรามองภาพข้างนอกนะ ชินเป็นคนที่เต้นเก่ง เฮฮา สนุกสนาน แต่ไม่มีใครได้รู้ในอีกมุมของชิน ในครอบครัว ในบ้าน และชินกับแม่มีความผูกพันกันยังไงบ้าง อยากฟังความรู้สึกตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ เลยที่เรามีต่อคุณแม่

 

ลูกชิน: จริง ๆ แล้วผมอยู่ในวงการบันเทิงมาตั้งแต่เด็ก ๆ เข้ามาตอนอายุ 12-13 ปี หลาย ๆ คนอาจจะเคยเห็นผมกับแม่บ้าง เพราะมีรายการไปออกด้วยกัน พูดคุยเกี่ยวกับแม่ จริง ๆ เราก็เปิดเผยกันอยู่แล้ว ผมแค่รู้สึกว่าได้มีโอกาสแชร์ไม่ว่าจะเรื่องดีเรื่องไม่ดี ผมว่ามันก็เป็นบทเรียนให้กับคนได้ 

 

ผมเองก็พูดมาโดยตลอดว่าผมไม่ใช่เด็กที่จะตามใจแม่ ไม่ใช่ลูกแบบในอุดมคติที่แม่หลาย ๆ คนต้องการ อาจไม่ใช่เด็กที่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนที่ผ่านมา มองว่าเป็นเด็กที่ดีนะ แต่ผมมั่นใจอยู่เรื่องหนึ่งคือว่า “ผมไม่ใช่เด็กไม่ดี” 

 

เพราะในบ้านที่ผมเติบโตมาตอนเด็ก ๆ ผมอยู่กับคุณย่าส่วนใหญ่ เป็นหลานชายคนเดียว คุณย่าค่อนข้างหวงและรักมาก เขาจะดูแลแบบประเคนให้ทุกอย่างเลย แบบถูกสปอยด์เยอะ เช่น ไม่ต้องแปรงฟันเอง เวลาล้ม โทษพี่เลี้ยง โทษพื้น  (หน้าไม่ให้เลยแต่ถูกเลี้ยงมาคุณหนูมาก ๆ อย่างนั้นจริง ๆ ...หัวเราะ)

 

 

Host: ตอนนั้นคุณแม่อยู่ด้วยไหม

 

ลูกชิน: อยู่ แต่ก็ทำงานหนักครับ คือบ้านผมที่อยู่กับแม่ในตอนเด็ก ๆ กับบ้านย่าจะอยู่ใกล้กัน คุณปู่ก็จะไปรับที่โรงเรียน คุณปู่คุณย่าเรียกว่ายึดผมมาเลี้ยงเลย แต่คุณปู่ก็จะเป็นสายธรรมะธรรมโมเลย คุณย่านี่เป็นเหมือนหัวโจก ค่อนข้างมีอิทธิพลในละแวกนั้นพอสมควรเลยครับ เขาเป็นเหมือนคนเก่าแก่ในละแวกนั้น พอใครมีลูกมีหลานก็มาฝากไว้ แล้วผมเป็นเหมือนแมวที่นั่งข้าง ๆ คลีโอพัตราอะครับ อยู่อย่างนั้นตลอด เวลาใครมาก็จะเห็นย่ากับผม อย่างนั้นครับ

 

 

Host: เท่นะเป็นผู้ทรงอิทธิพล (หัวเราะ)

 

ลูกชิน: พอโตขึ้นมาประมาณ 7 ขวบ ย้ายไปภูเก็ต เพราะพ่อย้ายไปก่อน เมื่อก่อนพ่อกับแม่เป็นครูอยู่ที่ม.รังสิต พอ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ไปเปิดโรงเรียนอินเตอร์ที่ภูเก็ต พ่อกับแม่ก็ต้องย้ายไปดูแลเรื่องก่อสร้าง ส่วนคุณแม่ไปเป็นมาร์เก็ตติ้งไดเร็กเตอร์ที่นั่น ผมก็เลยต้องไปด้วย

 

พอย้ายไปที่โน่นก็ไม่ได้มีคุณย่ามาอยู่ด้วยแล้ว แต่ก็ยังมีพี่เลี้ยงที่คุณย่าส่งไปนะ ด้วยความที่พี่เลี้ยงสนิทกับบ้านผมอยู่แล้ว (ป้าต้อย) เขาก็รักมาก ครอบครัวเขาเหมือนเป็นแม่นม เขาเลี้ยงพ่อผมมาด้วย

 

 

Host: ฟัง ๆ แล้วคุณย่าเหมือนแม่คนที่สองของชินเลยนะ

 

ลูกชิน: ตอนเด็ก ๆ ใช่เลยครับ แล้วก็พอย้ายไปที่ภูเก็ตก็เริ่มต้องทำอะไรเองบ้าง แต่ก็ไม่ได้หนักมาก ง่าย ๆ เช่นแปรงฟันเอง (หัวเราะ) เราก็เริ่มเห็นครอบครัวตัวเองจริง ๆ เพราะอยู่กับพ่อกับแม่ แล้วก็มีน้องสาวซึ่งมาตอนผมอายุ 8 ขวบครึ่ง น้องห่างกับผมค่อนข้างเยอะ เราก็เริ่มเห็นทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เห็นมีปากเสียงบ้างทะเลาะบ้าง ซึ่งทุกบ้านก็มีครับ แต่เราก็เด็กไม่ได้คิดอะไรมากมาย 

 

จนวันหนึ่งอายุประมาณ 10 ขวบ คุณแม่ย้ายกลับมาที่กรุงเทพฯ แม่บอกว่ามาทำงานที่กรุงเทพฯ เราก็ไม่ได้คิดอะไร คุณพ่อก็เปิดร้านอาหารที่ภูเก็ต แม่ก็ลาออกจากโรงเรียนอินเตอร์ที่ทำงานอยู่ ผมก็เริ่มห่างกับแม่ ผมอยู่กับพ่อ จนอายุประมาณ 12 กว่า ๆ เราก็เริ่มสงสัย ทำไมพ่อกับแม่ไม่อยู่ด้วยกัน เริ่มคิดว่ามันคืออะไร พอเราย้ายมากรุงเทพฯ เริ่มทำงานที่แกรมมี่ ตอนนั้นเราก็รู้แล้วว่า พ่อกับแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แล้วตอนอายุ 13 เขาก็หย่ากัน

 

ทีนี้ผมก็ย้ายมาอยู่กับแม่ที่กรุงเทพฯ น้องยังอยู่ที่ภูเก็ต สักพักน้องก็ย้ายตามมา ตอนที่เราเริ่มอยู่ดูแลน้องได้ เพราะแม่เป็นคนที่ทำงานหนักมาก ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงทุกวันก็อยู่กับแม่ ตั้งแต่อายุ 13 จนถึง 31 ก็ 18 ปีครับที่อยู่กับแม่

 

พออยู่กับแม่ เราเริ่มเห็นความจริงแล้วของ single mom เราเห็นแม่เหนื่อย ความเหนื่อย ความสู้ ความเศร้า ผมไม่มองว่าแม่เป็นอาชีพนะสำหรับผม เพราะเขาดูแลเขาทำเป็นเรื่องปกติ คือแม่ไม่เคยมาบอกว่า มันเป็นเรื่องที่ยาก บางทีเวลาเราคิดถึงเป็นงานอะไรอย่างนี้ มันจะมีความยากง่ายที่จะเกิดขึ้น แต่แม่ไม่เคยดูแลเราเป็นงาน แล้วก็ไม่เคยบอกว่ายากหรือง่าย แม่คือแม่ มันเป็นหน้าที่ที่ไม่สามารถหนีได้ แม่จะพูดเสมอว่า มันเป็นหน้าที่ที่ลาออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่งาน

 

 

Host: จริงแล้วถ้าไม่เอาแบบที่แม่พูด เอาที่ความรู้สึกของชิน ในความเป็นแม่ของเรา อยากจะบอกอะไรกับเขาไหม

 

ลูกชิน: ผมบอกแม่ตลอดครับ ทุกวันนี้ยังพูดอยู่ว่า แม่เป็นชาวต่างชาติที่มาอยู่ประเทศไทย วันแรกที่มา พูดภาษาไทยไม่ได้เลย วัฒนธรรมอะไรต่าง ๆ ไม่รู้ คุณย่าผมก็ไม่ยอมรับเพราะว่าเป็นชาวต่างชาติ แล้วก็ไม่ให้พูดภาษาอื่นนอกจากภาษาไทย แม่ถึงกับโดนไล่ออกจากบ้านด้วย แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ เราเด็กมาก ตอนนั้นเขาท้องผมอยู่ด้วย ด้วยความที่แม่เป็นแม่ แม่เป็นคนสู้ เขาก็พิสูจน์ให้ย่าเห็นว่า ไม่เป็นไรเขาเลี้ยงลูกเองได้ 

 

จนคลอดแล้ว ย่าถึงเห็นว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ธรรมดา ย่าก็รู้ว่าพ่อผมเป็นคนชิลมาก ๆ เขาเห็นว่าผู้หญิงคนนี้อยู่กับพ่อได้ก็ต้องไม่ธรรมดา คือเป็นความแม่เห็นแม่อะครับเลยน่าจะมีความเข้าใจตรงนั้น

 

แม่เป็นชาวต่างชาติมาอยู่ประเทศไทย เขาจะไม่สามารถเป็นเจ้าของที่หรืออะไรได้เลย เขาก็รู้สึกว่า ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย ด้วยความที่มันเป็นกฏหมาย มันทำไม่ได้ ผมก็เลยบอกแม่ว่า ทุกวันนี้ที่เรามี ที่เราทำ บ้านที่เราอยู่ มันไม่ใช่ของเรานะ มันไม่ใช่ของผม เพราะถ้าแม่ไม่ได้เลี้ยง ไม่ได้สอนผมมาแบบนี้ ผมก็คงไม่มีวันนี้ไม่มีทุกอย่างที่มีอยู่ ณ ทุกวันนี้ 

 

ถ้าไม่ได้เป็นแม่ที่สอนหรือทำให้เห็นมา เราก็อาจจะเหลวแหลกไป เพราะผมเป็นเด็กค่อนข้างซ่าแสบอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้เราค่อนข้างที่จะรู้ลิมิตตัวเอง คุมตัวเองได้ด้วยวิธีเลี้ยงของแม่

 

แม่ผมจะไม่ได้เป็นประเภทสั่งนะ แต่จะเป็นประเภทบอกว่าโทษของมันคืออะไร แล้วถ้า You รับโทษมันได้ ก็ทำ แต่ถ้ารับไม่ได้ก็อย่าทำ หรือถ้ารับโทษมันได้ ทำไปแล้วถ้าเกิดวันนั้นโทษมันมาจริง ๆ You รับได้จริงหรือเปล่า จะเป็นแบบนั้นมากกว่า แต่ไม่ได้เป็นประเภทห้ามทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้นะ คือสอนให้ทำ แล้วรับผลมัน แล้วมันจะแข็งแกร่งขึ้นด้วยถ้าเราเจ็บ

 

 

Host: เคยเห็นแม่ร้องไห้ไหม

 

ลูกชิน: เห็นครับ มันเลยทำให้ผมเป็นคนเหนื่อยไม่เป็น

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  คุณลูกชิน ชินวุฒ  อินทรคูสิน / สุรางคณา สุนทรพนาเวศ

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER