ส่งต่อรักแบบแม่ EP.02 คุณลูกชิน (ชินวุฒ อินทรคูสิน)

14 ตุลาคม 2020 177 ครั้ง

ส่งต่อรักแบบแม่ EP.02 คุณลูกชิน (ชินวุฒ อินทรคูสิน)

“ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยกลัวที่จะเป็นตัวของตัวเอง มันทำให้ผมมีความสุข เพราะคุณแม่ให้ความสำคัญกับการที่ลูกเป็นในแบบที่ลูกเป็น เขายอมให้เราเป็นตัวเรา แต่แม่ก็จะสอนว่าเวลาอยู่ข้างนอกอาจต้องลดความโน่นนี่นั่นบ้าง…..สิ่งที่แม่ให้เราเป็นแบบนี้ เราโคตรโชคดีเลย เพราะเขาไม่เคยทำให้เราเครียดกับการที่เราจะต้องเป็นใคร ไม่เคยเอาเราไปเปรียบเทียบ ไม่เคยบอกว่าเราเป็นแบบคนนี้สิ คนนั้นสิ.....ผมว่าการยอมรับจากพ่อแม่มันทำให้เด็กยอมรับตัวเองและมั่นใจในตัวเอง” ฟังมุมมองความรักแบบแม่ของ "ลูกชิน ชินวุฒ อินทรคูสิน" ได้ใน ส่งต่อรักแบบแม่ EP.02 คุณลูกชิน (ชินวุฒ อินทรคูสิน)

 

Host: เคยทำให้แม่ร้องไห้ไหม เรื่องอะไร

 

ลูกชิน: เคยครับ โอ้ย! ตะโกนด่ากันเลย หลายเรื่องเลย ครั้งที่หนักที่สุดคือ ตอนผมอายุประมาน 15-16 ตอนนั้นก็เป็นเด็กผู้ชายเฟี้ยว ๆ คนหนึ่ง วัยรุ่นจัด ๆ อยู่กับเพื่อน จำไม่ได้ว่าทะเลาะเรื่องอะไร แต่เป็นครั้งที่ผมเสียใจที่สุด

 

 

Host: อะไรที่ทำให้คิดได้

 

ลูกชิน: คือแม่เหนื่อยอยู่แล้ว แม่ทำงานหนัก แล้วทำไมเราถึงมาเป็นคนที่ทำให้แม่เจ็บปวดที่สุดอีก เพื่ออะไร

 

 

Host: มีนะลูกหลายคนที่เคยด่าแม่แล้วก็ยังทำอีก

 

ลูกชิน: ผมว่าเขาคิดได้นะ แต่ว่ามีอีโก้ครับ ไม่มีใครไม่รู้หรอกว่า การด่าแม่ผิดอะ ไม่มีใครไม่รู้ว่า การทำอะไรให้แม่ต้องเจ็บมันผิด ไม่มีใครไม่รู้ คนเราเกิดมาด้วยความคิดที่รู้ว่า การด่าแม่ ด่าพ่อผิด หรือเรื่องอะไรที่ไม่ควรทำ การตบตีพ่อแม่อย่างนี้ การทำร้ายคนในครอบครัวเป็นเรื่องไม่ควรทำ

 

แต่อีโก้ ด้วยความที่อยากจะเก๋ากับเพื่อน หรือพอทำไปแล้วเป็นคนพูดขอโทษไม่เป็น ยอมรับผิดไม่เป็น มันคืออัตตาทั้งหมด แต่ถ้าคนเราสามารถที่จะปล่อยวางตรงนี้ได้ ทุกคนสามารถเริ่มใหม่ได้เสมอ แต่ไม่มีใครมาบอก หรือคนในสังคมที่ตัวเองอยู่มาบอกว่า การทำแบบนี้มันไม่ดี ต้องไปขอโทษแม่นะ ไปกราบท่านนะ ควรทำอะไรแบบนี้ แต่คือถ้าอยู่ในสังคมที่เออไม่เป็นไรหรอก มันก็ไปเรื่อย

 

 

Host: ถ้าวันนี้ชินเป็นพี่คนหนึ่งที่สามารถบอกน้อง ๆ เหล่านั้นได้ว่า การที่เราหยุดได้มันมีผลดีอย่างไร ให้เขาได้ฟัง ให้เป็นแนวทางสำหรับเด็กที่อาจจะทะเลาะกับแม่หนักเลย

 

ลูกชิน: ผมว่าการทะเลาะกัน มีความขัดแย้งกัน ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเด็กมีความคิดของตัวเอง คุณแม่คุณพ่อมีความต้องการที่อยากให้ลูกเป็นแบบใดแบบหนึ่งอยู่แล้ว มันคือสิ่งที่เขาถูกสอนมา ความหวังดีของเขา มุมมองของเขา

 

แต่ลูกก็มีมุมมองของตัวเอง เพราะฉะนั้นการมีความขัดแย้งกันไม่ใช่เรื่องแปลก คุณพ่อคุณแม่เติบโตมาในเจเนเรชันแบบหนึ่ง ถูกเลี้ยงแบบหนึ่ง เหนื่อยมาแบบหนึ่ง ลูกสบายแบบหนึ่ง ลูกเหนื่อยอีกแบบหนึ่ง ลูกมี value ในสังคมไม่เหมือนแบบที่พ่อแม่มี คุณค่ามันไม่เหมือนกัน ลูก value ให้กับ share comment แต่พ่อแม่ไม่ไง มันต่างกัน

 

ความขัดแย้งมีเพื่อที่จะคุยกัน ถ้าไม่มีความขัดแย้ง เราจะไม่เปิดปากคุยกัน คนส่วนมาก ถ้าไม่ได้ถูกเลี้ยงดูให้คุยกันแบบเปิดใจอยู่แล้วนะ ความขัดแย้งมันจะทำให้เห็นมุมมองของแต่ละคนที่แตกต่าง ขออย่างเดียวคือเปิดใจแล้วคุยกัน ไม่ใช่ด่า

 

ซึ่งไม่ใช่แค่ลูกนะ ต้องพ่อแม่ด้วย ไม่ใช่ด่า ไม่ใช้อารมณ์ ไม่เอาความต้องการของตัวเองมาเป็นตัวตั้งไปเสียหมด มันต้องฟังความต้องการของอีกฝ่ายด้วย ลูกควรที่จะต้องฟังความต้องการของพ่อแม่ด้วย ไม่ใช่ว่าผมเป็นอย่างนี้ ผ,ต้องการแบบนี้ แล้วผมจะได้ ก็เพื่อว่าอย่างนี้ ก็ผมอยากอย่างนี้ มันไม่ใช่ คุณต้องมานั่งคิดก่อนว่า เพราะอะไรเขาถึงห้าม แล้วพ่อแม่ก็ต้องมาดูว่า ทำไมเขาถึงอยากได้ แล้วค่อยมาหาจุดกลางกันไหม ไม่ใช่เอาแต่ตะโกนด่ากัน แล้วบอกคนนั้นผิด ต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้

 

ผมแค่รู้สึกว่า ถ้าลูกฟังแม่ แม่ฟังลูก หรือพ่อฟังลูก ลูกฟังพ่อ ทุกอย่างมันจะง่ายขึ้น คือผมผ่านจุดที่ไม่ฟังจนฟัง แล้วก็ไม่ฟัง แล้วก็ฟัง ผมไม่ได้บอกว่าผมฟังแล้วฟังเลยนะ ผมก็เป็นคนไง ก็มีมุมที่ อ่าฮะๆ อ่าฮะๆ อ่าฮะๆ แล้ววันหนึ่งถ้ามันเกิดอะไรขึ้นเดี๋ยวเราก็จะจำในสิ่งที่แม่เราพูดมาเอง ผมแค่จะบอกว่า มันแย่แค่ไหนที่ด่าแม่ เราก็จะรู้สึกในใจเอง

 

 

Host: บางคนมันเบรกไม่อยู่ไง เวลาโมโห

 

ลูกชิน: จริงหรือ ข้ออ้างหรือเปล่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างนี้หรือ ที่เบรกไม่อยู่เพราะไม่คิดจะเบรก ถ้าคิดจะเบรก คุณจะไม่ทำตั้งแต่แรก หรือทำไปถึงจุดหนึ่งแล้วจะรู้ว่าพอแล้ว สมมุติด่ากันแล้ว ทะเลาะกันแล้ว แยกไปนั่งคิดไหมว่า ทำอะไรลงไป ควรจะพอหรือเปล่า อะไรแบบนี้ มันต้องเป็นส่วนผสมของหลาย ๆ อย่างครับ มันอาจจะเป็นแบบว่า ไม่มีสติ ทำไปเพราะอารมณ์ แต่ผมว่าจริง ๆ อารมณ์มันเบรกอยู่ แต่ต้องมานั่งทบทวนว่าทำอะไรลงไป 

 

จริง ๆ อารมณ์มันเบรกได้ แต่มันต้องฝึกครับ มันเป็นเหมือนการนั่งสมาธิแหละที่ต้องฝึกฝน ความคิดทุกอย่างมันคือการฝึกฝนครับ มันคือนิสัย นิสัยเกิดขึ้นจากการทำซ้ำ แล้วเกิดจากการฝึกฝน ผมไม่ได้เป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็ก ผมก็เป็นคนใช้อารมณ์พอสมควร แต่ด้วยการฝึกฝนทำให้เราเบาลง

 

 

Host: ชินว่าตอนเด็ก ๆ ที่อาจจะเห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน แล้วทำให้ชินไม่ชอบ เลยอาจทำให้เราไม่อยากทำกับแม่แบบนี้หรือเปล่า

 

ลูกชิน: พ่อไม่เคยตีแม่ ผมไม่เคยได้ยินคำหยาบจากพ่อด้วย พ่อจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ แต่พ่อไม่เคยด่าแม่ ไม่เคยแม้แต่ใช้คำหยาบกับแม่ อันนี้คือข้อที่ผมได้จากพ่อเลยนะ หมายถึงว่า พ่อให้เกียรติแม่โดยการไม่พูดแบนั้น ซึ่งต่อให้ทะเลาะกัน แม่ผมจะปากไวกว่า แต่พ่อผมจะไม่ ผมเลยไม่รู้สึกว่าการทะเลาะมันหนักมาก พ่อให้เกียรติแม่

 

การที่เด็กเห็นพ่อแม่มีผลมาก เพราะเด็กก็ทำตาม เด็ก ๆ เราเห็นใคร ก็เห็นพ่อแม่ ถ้าเห็นพ่อด่าแม่ เด็กโตขึ้นมาคุณก็ด่าเมียคุณ ถ้าถามผมนะ การที่บอกว่า ให้เด็กทำ กับให้เด็กไม่ทำ เด็กมันมีความดื้ออยู่แล้ว แต่ถ้าพ่อแม่ทำให้เห็น เด็กมันจำ จำโดยไม่รู้ตัว มันจึงทำให้เห็นว่า ที่เราเป็นอย่างทุกวันนี้ก็แบบที่เราถูกเลี้ยงมา

 

แต่ทุกวันนี้ในโลกโซเชียลทำให้มีสื่อสิ่งอื่นที่เด็กจำด้วย เร็วด้วย เพราะเด็กทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ผมว่าพ่อแม่ยุคนี้มีความยากที่จะต้องเซ็นเซอร์ คัดกรอง อย่างถ้าเมื่อก่อน เราจะทำอะไร ดูทีวีก็ดูกับพ่อกับแม่ แต่ทุกวันนี้ ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ เด็กมันจะทำอะไรในเวลาของตัวเอง พ่อแม่ไม่รู้ไง เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องการวิธีการสอนอีกแบบหนึ่งให้ลูกมีวิจารณญาณเร็ว

 

 

Host: ในฐานะที่ชินเป็น gap ตรงกลางแล้ว ในวันหนึ่งถ้าชินมีลูก คิดว่าอะไรคือข้อดีของพ่อและของแม่ที่คิดว่าสิ่งนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเราได้

 

ลูกชิน: ผมบอกแม่ตลอดว่า ถ้าผมเป็นแม่ แล้วผมต้องเลี้ยงตัวผมเอง ผมคงเลี้ยงไม่ได้ดีเท่าที่แม่เลี้ยงหรอก ผมคิดแค่นี้ แค่มาคิดว่า ผมก็แบบหนึ่ง น้องผมก็อีกแบบหนึ่ง แต่ผมว่า ข้อหนึ่งที่ผมกับน้องมี ซึ่งได้จากแม่เลยนะ คือความอดทนในสิ่งที่รู้ว่ายาก รู้ว่าเหนื่อย แต่ก็ต้องทำ มีความเป็นนักสู้ เพราะนั่นคือสิ่งที่ผมและน้องเห็นแม่เป็นมา ทั้งผมและน้องเลยรู้สึกว่าแม่ทำได้ แม่เหนื่อยกว่าเราเยอะ เราเลยไม่ย่อท้อ

 

ถ้าผมจะเอาข้อดีของพ่อและแม่มาสอนลูก ผมไม่รู้นะ แต่วันหนึ่งที่มีลูก ผมคิดว่าผมคงรู้เอง เพราะผมไม่รู้ว่าคนที่เราจะเลี้ยงนั้นจะเป็นคนยังไง เพราะฉะนั้นเราไม่รู้ว่า อะไรที่จะเอามาใช้ได้ แต่ผมรู้ว่า วันหนึ่งเมื่อมันถึงเดี๋ยวมันจะถูกเอามาใช้เอง เพราะว่าเราถูกสอนมาแบบนี้อยู่แล้ว

 

แล้วมันจะรู้สึกว่า ผมเป็นคนที่ค่อนข้าง extrovert หมายถึงว่า เป็นคนที่ค่อนข้างแสดงออกพอสมควร เป็นคนที่ท่าทางหรืออะไรก็แล้วแต่ค่อนข้างชัดเจน เพราะว่า หนึ่ง ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยกลัวที่จะเป็นตัวของตัวเอง แล้วผมรู้สึกว่ามันทำให้ผมมีความสุข เพราะว่าคุณแม่ให้ความสำคัญกับการที่ลูกเป็นในแบบที่ลูกเป็น เขายอมให้เราเป็นตัวเรา แต่แม่ก็จะสอนว่าเวลาอยู่ข้างนอกอาจจะต้องลดความโน่นนี่นั่นบ้าง แต่ท้ายสุดแล้ว ผมรู้สึกว่าการที่ทำให้ลูกฉลาด หรือลูกมีการศึกษาที่ดี หรือมีงานที่ดี มันไม่มีความสุขเท่ากับที่ลูกมีความสุขที่ได้เป็นตัวของตัวเอง

 

ผมเห็นหลาย ๆ คนมีทุกอย่างเลยนะ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองแฮปปี้กับตัวเองที่ตัวเองเป็นอะ มันเหนื่อยนะเพราะอึดอัดตลอดเวลา แต่กลับกลายเป็นเราอาจจะไม่ต้องมีทุกอย่าง แต่เรามีความสุขกับตัวเองทุกวัน โดยที่เราอยู่ในพื้นฐานของการเป็นคนดี ไม่ทำร้ายไม่เอาเปรียบผู้อื่นนะ ไม่เบียดเบียนสังคม แต่ก็เป็นตัวเอง มันมีความสุข

 

เราเลยรู้สึกว่า สิ่งที่แม่ให้เราเป็นแบบนี้ เราโคตรโชคดีเลย เพราะว่าเขาไม่เคยทำให้เราเครียดกับการที่เราจะต้องเป็นใคร แม่ไม่เคยเอาเราไปเปรียบเทียบ ไม่เคยบอกว่าเราเป็นแบบคนนี้สิ คนนั้นสิ ผมว่าหลาย ๆ คนในชีวิตอาจจะไม่รู้สึกแฮปปี้กับที่เขาเป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะมันไม่ใช่ตัวเอง ผมว่าการยอมรับจากพ่อแม่มันทำให้เด็กยอมรับตัวเองและมั่นใจในตัวเอง

 

มันเป็นหลายสิ่งที่ลูกไม่พูดด้วยนะ การที่พ่อแม่อยากให้ลูกเป็น มันมาจากความหวังดีของพ่อแม่ที่เขาอยากให้ลูกได้ดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำให้ได้ในมุมมองของเขา ในการเติบโตมาแบบเขา ว่านี่คือคำว่า ค่านิยมของการประสบความสำเร็จและความดี มันคือคุณค่าของเรา สำหรับผมมันคือการเคารพใน value คุณค่าของแต่ละคน 

 

คือแม่ผมให้ความสำคัญกับ value ของคน ไม่ได้อยู่ที่อาชีพและความสำเร็จของการงาน แม่ผมไม่ได้ให้คุณค่าของความสำเร็จตรงนี้ หรือภาพลักษณ์ในสังคมในสายตาคนอื่น แต่ให้ความสำคัญกับการมองตัวเองว่าตัวเองเป็นคนยังไง เป็นคนมีความสุขตรงไหน

 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  คุณลูกชิน ชินวุฒ  อินทรคูสิน / สุรางคณา สุนทรพนาเวศ

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

OTHER