เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.13 ค้นหาศักยภาพของลูกจากสิ่งที่ลูกชอบ

20 พฤษภาคม 2020 106 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.13 ค้นหาศักยภาพของลูกจากสิ่งที่ลูกชอบ

บางทีความสามารถ หรือความถนัดในเรื่องใด ๆ ของลูก อาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว

ทัศนคติของพ่อแม่ยุคปัจจุบัน เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนมาก เพราะพ่อแม่ผลักดัน ส่งเสริมให้ลูกค้นหาศักยภาพของตัวเองมากกว่ายุคก่อน นับเป็นความโชคดีของเด็กถ้าได้รับการสนับสนุนในเรื่องนี้ ซึ่ง พญ.วนิดา เปาอินทร์

ได้ย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ว่า

 

“การค้นหาศักยภาพ ถือว่าเป็นเรื่องดีมาก ๆ เพราะถ้าเด็กรู้ว่าตัวเองมีศักยภาพอะไร และได้รับการส่งเสริมศักยภาพตรงตามนั้น ก็ทำให้ความสามารถนั้นปรากฎออกมาชัดเจน สมัยนี้พ่อแม่มักให้ลูกได้ลองทำนู่นทำนี่ แล้วดูว่าลูกชอบอะไร พอรู้แล้วก็เสริมเรื่องนั้น โดยที่อาจจะตัดเรื่องที่ลูกไม่ชอบหรือไม่ถนัดออกไป แต่ในการค้นหาศักยภาพในลักษณะนี้ ก็มีเรื่องกระแสสังคมเข้ามาบ้างส่วนหนึ่ง ที่พ่อแม่พาลูกออกไปค้นหาได้ แต่ก็ยังมีความถนัดอีกหลายเรื่องที่อาจจะไม่ได้อยู่ในระบบการเรียนการสอนตามกระแสสังคม เช่น ชอบปลูกต้นไม้ ซึ่งไม่ได้มีการเปิดสอนทั่วไป แบบนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ที่จะคอยสังเกต อีกสิ่งที่หมอคิดว่าดีมาก ๆ คือ พ่อแม่มีอาชีพอะไร แล้วลองให้เด็กช่วยทำอาชีพนั้น ๆ เด็กคนนี้จะมีกำไร เพราะได้รับประสบการณ์ตรง”

 

 

ตามกระแสสังคม มีสถานที่หรือคอร์สเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ให้เด็กได้ลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างถือว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่?

 

“มีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1. ทำเพื่อค้นหาศักยภาพเขาเพื่อให้เติบโตต่อไป และ 2. คือ เพื่อความสนุก ที่สำคัญกว่า คือ

อย่าลืมกิจกรรมภายในบ้าน แทนที่จะต้องไปเข้าคอร์สเรียนทำคุ้กกี้ แต่ลองทำในบ้านไหม หลายครอบครัวทำได้ดี คือ แม่ทำอะไร หนูทำด้วย ซึ่งเรื่องนี้ได้หลายอย่าง อาจจะเป็นทั้งการค้นหาศักยภาพ เป็นการเรียนรู้ชีวิต ร่วมกับครอบครัวได้หลายแบบ ถ้าคนที่ให้ลูกได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างในครอบครัว เด็กคนนั้นจะเติบโตแบบคนที่มีเสน่ห์ เช่น ทำกับข้าวเป็น ดูแลบ้านได้ เป็นการสร้างตัวตนของเขา 

 

 

ถ้าความชอบลูก ทำให้พ่อแม่ไม่เห็นอาชีพในอนาคต ต้องเปลี่ยนที่ลูก หรือเปลี่ยนที่พ่อแม่?

 

“เรื่องนี้มีอยู่ 2 ประเด็น คือ ถ้าลูกเข้าสู่กิจกรรมที่ตัวเองมีความสามารถ จะเกิดปรากฎการณ์ความภาคภูมิใจ เมื่อเปิดโอกาสให้ลูกทำอะไรขึ้นมา แล้วทำได้ จะเกิดการบอกตัวเอง “ฉันเจ๋ง” internal feedback นี่คือ การบอกตัวเอง และถ้าคนอื่นเห็นแล้วชื่นชมเขาด้วย ก็จะเกิด external feedback ทั้งหมดก็จะรวมกันแล้วเกิดเป็นความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งยังไม่รู้หรอกว่าจะเกิดเป็นอาชีพได้หรือเปล่า แต่ความภาคภูมิใจจะอยู่กับตัวเขา และเมื่อต่อไป เขาต้องไปเรียนในสิ่งที่เขาไม่ชอบ หรือไม่ถนัดมากนัก แต่ก็จะไปแก้ปัญหาอื่น ๆ ได้ เพราะเขามีความเชื่อมั่น มีความภาคภูมิใจ

 

จึงอยากบอกว่า ถ้าเด็กเข้าสู่กิจกรรมที่เขาถนัด ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะสร้างเงินได้หรือเปล่า แต่กิจกรรมนั้นจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับเขา แล้วอาจจะกลายเป็นงานอดิเรกที่เขาสามารถมาพักผ่อนจากกิจวัตรอื่น ๆ หรือแม้แต่อาจจะเป็นการสร้างรายได้ก็ได้

 

เหมือนที่มีคนเคยพูดว่า ให้ทำสิ่งที่รัก แล้วเงินจะตามมาเอง เพราะเราทำอะไรที่เรารัก จะทำได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับอีกคนที่ทำแล้วไม่รัก ผลงานก็จะแตกต่างกัน แล้วเราทำสิ่งที่เรารักทุกวันจะไม่ใช่การทำงาน ตอนนี้เราไม่รู้หรอกว่า ในอนาคตจะได้ใช้สำหรับอะไร แต่ถ้าได้อยู่กับสิ่งที่เขาถนัด ด้วยความภาคภูมิใจ มีความมั่นใจในตัวเอง บอกตัวเองได้ว่าตัวเองดีพอ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเด็ก แค่ได้ทำแล้วมีความสุข น่าจะเป็นสิ่งสำคัญ

 

 

ความมั่นใจเสริมให้ลูกได้อย่างไร

 

เน้นตั้งแต่เล็ก ๆ เลย เปิดโอกาสให้ลูกได้พูด ได้ทำ เช่น เด็กอยากซน เราเห็นแล้วว่าสภาพแวดล้อมปลอดภัย ให้เขาได้ซนเลย เพราะการเปิดโอกาสเป็นการทำให้สมองพัฒนา ได้เรียนรู้ ได้ลองทำ อย่าเพิ่งไปหยุดเขา ให้เขาได้พูด เพราะการที่เขาจะพูดอะไรสักอย่างต้องผ่านวิธีการคิด ต้องรวบรวมก่อนแล้วถึงแสดงความคิดออกมา ดังนั้นเราต้องเปิดโอกาส เมื่อเด็กได้ทำ แล้วรู้ว่าเขาทำได้ ก็ชื่นชมเขา เรื่องที่เขาทำได้ เขาก็เกิดความมั่นใจ ภาคภูมิใจ 

 

เด็กที่ไม่มั่นใจ เพราะได้รับโอกาสไม่พอ บางคนอาจจะต้องได้รับโอกาสซ้ำ ๆ วิธีการ คือ ให้กลับไปฟังเขา ว่าเขาพูดอะไร ทำไมเขาถึงเชื่อแบบนั้น พูดแบบนั้น จริง ๆ แล้วเราต่างหากที่รับฟังเขาไม่พอ

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER