On the Way Home EP.36 เพราะเป็นวัยรุ่น (เกาหลี) จึงเจ็บปวด

30 ตุลาคม 2020 79 ครั้ง

On the Way Home EP.36 เพราะเป็นวัยรุ่น (เกาหลี) จึงเจ็บปวด

ช่วงชีวิตวัยรุ่นน่าจะกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขในการค้นหาตัวตน แต่วัยรุ่นในประเทศเกาหลีใต้กลับต้องอยู่ในวังวนของการแข่งขัน สนามแข่งแห่งนี้จะหนักหนาขนาดไหน รางวัลแห่งความสำเร็จคืออะไร ติดตามได้ใน On the Way Home EP.36 เพราะเป็นวัยรุ่น (เกาหลี) จึงเจ็บปวด

 

เกาหลีใต้เป็นสังคมที่มีการแข่งขันสูงมาก เด็ก ๆ จะแข่งขันการเรียน เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่รู้จักกันในนาม SKY (S มาจากคำว่า Seoul National University / K มาจาก Korea University / Y มาจาก Yonsei University) ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยนี้เป็นสุดยอดแห่งความฝัน ความปรารถนาของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกหลานได้เข้าเรียน เพราะจะเป็นตัวการันตีในระดับหนึ่งว่าอนาคตของเด็ก ๆ จะมีที่ยืนที่ดีในสังคม

 

เด็ก ๆ ที่นี่จะเข้าเรียน 8 โมงเช้า เลิกเรียน 4 โมงเย็น ในโรงเรียนแรกของวัน หลังจากนั้นจะกลับบ้านไปกินอาหารเย็น และมาเรียนต่อในโรงเรียนที่ 2 ซึ่งเป็นโรงเรียนกวดวิชา ตั้งแต่ 6 โมงเย็น – 3 ทุ่ม หรืออาจมีครูพิเศษมาสอนแบบตัวต่อตัวที่บ้าน

 

โรงเรียนกวดวิชาของเกาหลีเรียกว่า ฮากวอน เป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของโรงเรียนกวดวิชาเอกชนที่แสวงหากำไร นักเรียน 3 ใน 4 ของเกาหลีใต้ต่างเข้าเรียนที่ฮากวอนทั้งสิ้น นับว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และเป็นธุรกิจที่ช่วยเร่งการแข่งขัน ช่วยสะสมอาวุธทางวิชาการ เพื่อให้เด็ก ๆ ไปแข่งขันกันในการเข้าสู่มหาวิทยาลัย 3 แห่งที่ได้กล่าวมาในข้างต้น

 

ในวันที่มีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตลาดหุ้นของประเทศจะเปิดช้ากว่าปกติ 1 ชั่วโมง บริษัทต่าง ๆ จะมีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเข้างานเพื่อลดปัญหาการจราจรช่วงเช้า ป้องกันไม่ให้นักเรียนต้องเสี่ยงว่าอาจไปสอบไม่ทัน เขาให้ความสำคัญกับการสอบมาก แม้แต่การขึ้นลงของเครื่องบินก็ยังมีการปรับเปลี่ยน

 

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลี ระบุว่า เด็กอายุระหว่าง 15-19 ปี ประมาณครึ่งหนึ่งอยากตาย เพราะการสอบความสามารถเชิงวิชาการ การสอบเข้ามหาวิทยาลัย และการสอบทั้งหลายที่เป็นการแข่งขันก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัย เด็ก ๆ กดดันมาก เครียด และเป็นทุกข์

 

เมื่อปี 2008 รัฐบาลต้องประกาศใช้เคอร์ฟิวส์กับฮากวอนทั้งหลาย โดยห้ามมีการเรียนการสอนหลัง 4 ทุ่ม เพราะถ้าฮากวอนเปิด พ่อแม่ก็ยินดีที่จะส่งลูกไปเรียน ทางรัฐบาลเลยต้องมาจัดการ และให้รางวัลนำจับกับผู้ที่แจ้งว่ามีฮากวอนหรือมีครูสอนพิเศษคนไหนฝ่าฝืนกฎนี้

 

หลังสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จนเรียนหนังสือจบ และทำงาน จากนั้นจะมีการแข่งขันอีกอย่างหนึ่ง คือ การทำศัลยกรรม

 

คนเกาหลี 1 ใน 50 คน เคยทำศัลยกรรม และเกาหลีครองอันดับ 1 ในเรื่องการทำศัลยกรรมเมื่อคิดเป็นอัตราต่อจำนวนประชากร ตัวเลขอยู่ที่ ศัลยกรรม 20 ครั้งต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่สหรัฐอเมริกา ประชากร 1,000 คน มีอัตราการทำศัลยกรรม 13 ครั้ง และอังกฤษมีตัวเลข 0.8 ครั้ง ต่อประชากร 1,000 คน

 

รายงานบางฉบับบอกว่า ผู้หญิง 20% เคยทำศัลยกรรมมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต ตัวเลขจริง ๆ อาจสูงกว่านี้ เพราะคลินิกบางที่อาจไม่ได้บันทึกไว้ บางรายงานบอกว่า ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 30 ปี จำนวน 50% เคยผ่านการทำศัลยกรรมในกรุงโซลมาแล้ว

 

 

ทำไมตัวเลขของคนที่ทำศัลยกรรมในเกาหลีใต้ถึงสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

 

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะมี 3 ปัจจัย คือ

 

1. การทำศัลยกรรมในกรุงโซลราคาไม่แพง ประมาณ 1 ใน 3 ของราคาในสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นตัวเลขที่สูง จึงเป็นตัวเลขที่รวมนักท่องเที่ยวที่มาทำศัลยกรรมด้วย ซึ่งมีข้อเสนอและแพคเกจให้เลือกหลากหลาย มีการอำนวยความสะดวกเอื้อกันหมด แม้กระทั่งโรงแรมที่พักก็จะมีการดีลกับทางคลินิก

 

2. การทำศัลยกรรมที่นี่เป็นเรื่องง่ายมาก เหมือนไปชอปปิง เช่น การทำศัลยกรรมตา 2 ชั้น โดยเพิ่มรอยพับในเปลือกตาให้ดวงตาดูโตขึ้น เป็นการทำที่ได้รับความนิยมมากและง่ายมาก เพราะใช้เวลาเพียง 15 นาที

 

3. ผู้ชายเกาหลีนิยมทำศัลยกรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งคิดเป็น 15-20% ของลูกค้าทั้งหมด อีกทั้งยังเคยมีอดีตประธานาธิบดีของเกาหลี ชื่อ โนห์ มู ฮยอน ก็เคยทำตา 2 ชั้นในขณะดำรงตำแหน่งเช่นกัน

 

การทำศัลยกรรมที่นี่ถ้าไม่นับจำนวนนักท่องเที่ยวก็เหมือนกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย คือเป็นการแข่งขัน ซึ่งการทำอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของคนคนนั้น และอาจมีผลในหน้าที่การงาน การอยู่ในสังคม จึงทำให้ต้องทำกัน กลายเป็นเรื่องของการแข่งขันอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่สมัยเด็ก ๆ เคยแข่งขันในการเรียน การสอบเข้ามหาวิทยาลัย พอโตขึ้นมาทำงานก็เป็นการแข่งขันความงาม

 

จากหนังสือ ลุกกะ : วิถีความสุขจากทุกมุมโลก เขียนโดย Meik Wiking (ไมก์ วิกิง) แปลโดย คุณลลิตา ผลผลา

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER