Mom Gen 2 EP.37 อย่า วิ่งหา ความสมบูรณ์ในครอบครัว

02 พฤศจิกายน 2020 92 ครั้ง

Mom Gen 2 EP.37 อย่า วิ่งหา ความสมบูรณ์ในครอบครัว

ความสมบูรณ์ในครอบครัวคืออะไร แบบไหนถึงเรียกว่าสมบูรณ์ แล้วทำอย่างไรครอบครัวถึงจะสมบูรณ์ หาคำตอบได้ใน Mom Gen 2 EP.37 อย่า "วิ่งหา" ความสมบูรณ์ในครอบครัว

 

ปี 2564 ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งหมายความว่า เราจะมีประชากรที่มีอายุไม่น้อยกว่า 60 ปีขึ้นไป ไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากร และผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป จะมีประมาณ 3 ล้าน 5 แสนคน

 

เมื่อเห็นตัวเลขประชากรแล้วคุณคิดอย่างไร? ให้มาย้อนดูว่า ตัวเราอยู่ในช่วงจังหวะไหน อีกไม่กี่ปี เราจะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย ปัญหาหนักของประเทศ คือ ประชากรในชาติมีลูกน้อยลงเรื่อย ๆ อัตราการเกิดต่ำมาก ล่าสุดอัตราการเกิดเหลือเพียง 6 แสนกว่าคนต่อปี เท่านั้น

 

เมื่อผู้สูงวัยมากขึ้น อัตราการเกิดน้อยลง ประชากรที่อยู่กลุ่มกลาง ๆ (วัยแรงงาน) ก็จะเกิดปัญหา ซึ่งมีหลายประเทศกำลังเผชิญปัญหา และด้วยการที่เรามีลูกน้อยลง ก็อยากจะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด มีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ พยายามทำให้ดีที่สุด และด้วยความที่อยากให้ดี ให้สมบูรณ์ที่สุด กลายเป็นว่าเราไปสร้างความคาดหวัง สิ่งที่ตามมาคือ ความกดดันทั้งตัวเองและลูก

 

โดยเฉพาะกับลูก ไม่ว่าลูกจะช่วงวัยไหน พ่อแม่ก็อยากให้ลูกเก่ง พอวัยเรียนก็อยากให้เรียนเก่ง เรียนดี เสริมการเรียนพิเศษให้ลูกมากมาย เมื่อมีความคาดหวังมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามวัยของลูก เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นก็อยากให้ลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดัง จะได้จบออกมาแล้วทำงานดี ๆ ตามความคิดของพ่อแม่ ซึ่งแน่นอนว่าความคาดหวังต่าง ๆ นำมาซึ่งความกดดันของตัวเองและลูก และต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด (จนกระทั่งถึงวัยที่ลูกมีครอบครัวและเลยไปที่หลานด้วยก็เป็นได้)

 

 

 

ความสมบูรณ์แบบในครอบครัวมีจริงหรือ?
 

เราวิ่งหาความสมบูรณ์ในครอบครัว ยิ่งวิ่งแล้วเราได้ไหม สุดท้ายแล้วมันคือความสุขหรือเปล่า ทำให้เราและลูกมีความสุขไหม แล้วความสุขในครอบครัวคืออะไร เรามาฉุกคิดเรื่องนี้กัน

 

ความสุขในครอบครัวน่าจะเป็นเรื่องของสัมพันธภาพที่ดีใช่หรือไม่ เพราะสัมพันธภาพคือ จุดเริ่มต้นของการวางรากฐานของลูก และสมาชิกทุกคนในครอบครัว

 

เรามาเปลี่ยนหรือลดความคาดหวังลง แล้วมาสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวกันจะดีกว่าไหม ซึ่งทำให้เราเห็นคุณค่าจากความสุข มากกว่าความสมบูรณ์หรือเปล่า ที่สุดแล้วเราต้องการอะไรในครอบครัวกันแน่

 

 

 

วิธีสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว...จุดเริ่มต้นของความสุข

 

เรามาสำรวจกันว่าเราเป็นครอบครัวแบบไหน เรามีเวลาคุณภาพด้วยกันไหม ทุกคนมีเวลาเท่ากัน แต่ต่างกันที่การบริหารจัดการเวลา เวลาคุณภาพของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับลูก และในวัยที่ลูกต้องการเวลาจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูกในช่วงที่เขาต้องการ เมื่อลูกโตขึ้น ไม่ว่าพ่อแม่จะมีเวลามากแค่ไหน ลูกก็ไม่ต้องการแล้ว ไม่อยากใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่แล้ว จะไปใช้กับเพื่อนแทน

 

1. ครอบครัวมีทำกิจกรรมร่วมกันไหม เพราะการทำกิจกรรมในครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้พฤติกรรมซึ่งกันและกัน ถ้าเราทำอย่างสม่ำเสมอ พ่อแม่จะเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับลูกได้ เราก็จะรู้ว่า ลูกเรามีพื้นนิสัยแบบไหน พ่อแม่ก็จะมีวิธีการสอดแทรกทักษะชีวิตในด้านบวกเข้าไป แต่บางครอบครัว ไม่เคยทำกิจกรรมร่วมกับลูก ปล่อยให้อยู่กับพี่เลี้ยง ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะมีปัญหากับคำว่าการสร้างความสมบูรณ์ให้กับครอบครัว

 

2. พ่อแม่ต้องปรับวิธีคิดบวก ท่ามการสภาพปัญหาปัจจุบัน พ่อแม่ต้องปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ต ให้มีวิธีคิดบวกในการพูดคุยกับลูก เพราะวิธีคิดจะส่งผลต่อไปยังลูกด้วย เวลาลูกอยู่กับพ่อแม่ ก็จะซึมซับวิธีคิด วิธีทำ วิธีการต่าง ๆ เวลาที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ มีวิธีการในเชิงบวกหรือเปล่า สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวต้องเริ่มจากการรับฟังอย่างตั้งใจเพราะนำไปสู่ความเข้าใจ พ่อแม่ต้องเข้าใจวิธีคิดของลูก ว่าลูกเข้าใจอย่างไรต่อเรื่องนั้น ๆ ทำให้พ่อแม่เรียนรู้ลูกได้ด้วย ผู้ใหญ่ควรเปิดใจรับฟัง ไม่ว่าลูกจะอยู่วัยไหน ไม่ใช่ฟังแบบผ่าน ๆ

 

3. ความไว้วางใจ พ่อแม่ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่า พ่อแม่ไว้ใจลูกเสมอ เปิดโอกาสให้เขาได้คิด ได้ทำ ได้ลงมือด้วยตัวเอง ไม่ต้องเล็งผลเลิศว่าต้องสำเร็จทุกเรื่อง ให้ดูกระบวนการของการทำ เช่น ลูกเห็นแม่กวาดพื้น ก็ไปหยิบไม้กวาดมากวาดตามแม่ ถ้าแม่หงุดหงิดแล้วต่อว่าเพราะลูกทำเลอะมากขึ้น ลูกก็จะหยุด แต่กลับกันถ้าเราไว้ใจ และปล่อยให้ลูกได้ทำเอง (แล้วเราค่อยมาทำให้สะอาดใหม่ภายหลัง) ในขณะที่ลูกทำก็เกิดกระบวนการเรียนรู้ทางสมอง ได้ใช้ความพยายาม ไม่จำเป็นต้องให้พื้นสะอาด แต่เราได้เห็นถึงความพยายามของลูก ลูกเองได้ฝึกทักษะทางร่างกาย เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง เมื่อเติบโตขึ้นไปก็จะสามารถเกิดความรู้สึกไว้วางใจในคนอื่นด้วย

 

4. ให้ความเป็นมิตรกับลูก ยิ่งลูกโตขึ้นเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่ควรจะเป็นเพื่อนของลูกได้อย่างเหมาะสม อย่าคิดว่าเราเป็นพ่อแม่เท่านั้น เพราะการเป็นเพื่อนคือ พร้อมจะเข้าใจในตัวลูก พร้อมยืนเคียงข้างกับลูกในทุกสถานการณ์

 

 

ทั้งหมดนี้คือ การเพิ่มสัมพันธภาพที่ดี ซึ่งเป็นการเพิ่มความสุขในครอบครัว และเมื่อในครอบครัวเรามีความสุข ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาความสมบูรณ์แบบในอุดมคติ ที่อาจไม่มีอยู่จริง เรามาเรียนรู้กันภายในครอบครัว สร้างความเติบโตทางความคิด ความเข้าใจกัน ให้มองเห็นความไม่สมบูรณ์ในครอบครัว แท้จริงแล้วก็คือความสมบูรณ์ในแบบของเรา แล้วเราจะพบว่า ความสุขที่แท้จริงมันคืออะไร

 

ครอบครัวที่มีความสุขเราออกแบบได้ เราสร้างได้

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

 

OTHER