Money and the Family EP.24 เลิกซะที เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด

14 พฤศจิกายน 2020 192 ครั้ง

Money and the Family EP.24 เลิกซะที เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด

ช่วงวิกฤตแบบนี้ ดูแลแค่ตัวเองก็ลำบากแล้ว หลายคนยังต้องหยิบยื่นให้ความช่วยเหลือกับคนใกล้ตัวที่มีปัญหาด้านการเงินแบบไม่รู้จบ สภาวะที่ต้องถูกพึ่งพิงไปตลอดแบบนี้ คุณแบกรับไหวจริงหรือ? มาหาทางออก พร้อมฟังข้อคิดดี ๆ กับโค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ได้ใน Money and the Family EP.24

 

การที่เราอยู่ในวัยทำงาน แล้วต้องส่งเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ หรือส่งเสียน้อง ๆ ที่คลานตามกันมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

 

แต่หากเราต้องคอยช่วยเหลือคนใกล้ตัวที่อยู่ในวัยทำงาน คือ ยังสามารถทำงานได้สบาย ๆ แต่ไม่ทำงาน หรือทำงานแต่สร้างปัญหา สร้างภาระหนี้อยู่ตลอด แบบนี้ก็เป็นโจทย์ที่ยากพอสมควร

 

คนเราควรจัดการการเงินของตัวเองได้ คำว่า “การเงินส่วนบุคคล” เป็นคำที่สำคัญมาก เป็นสิ่งที่แต่ละคนต้องดูแลกันเอง ไม่ใช่เรื่องที่จะไปผลักภาระหรือไปสร้างภาระให้กับคนอื่น

 

“สภาวะพึ่งพิง” เกิดจากการที่คนคนหนึ่งขาดความรับผิดชอบทางการเงิน หรือไม่มีความสามารถ ในการดูแลจัดการการเงินของตัวเองได้ ต้องดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ความช่วยเหลือของญาติพี่น้อง เพื่อน หรือคนใกล้ชิด ซึ่งคนที่อยู่ใกล้ชิดก็มักช่วยหรืออุปถัมภ์ เพราะกังวลว่าถ้าไม่ช่วยจะทำให้เขา ดูแลตัวเองไม่ได้ แล้วจะเกิดปัญหาที่ใหญ่โตขึ้น

 

แต่หารู้ไม่ว่า การหยิบยื่นเงินให้ความช่วยเหลือเป็นครั้งคราว กลับสร้างสภาวะปัญหาที่มากขึ้น เนื่องจาก เขาจะเริ่มเสพติดการช่วยเหลือ เริ่มไม่รับผิดชอบตัวเอง ไม่คิดแก้ปัญหาอะไรด้วยตัวเอง เพราะเมื่อเกิดปัญหา สิ่งที่เขานึกถึง คือ คนที่จะขอหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เขาตลอดเวลา 

 

หลายครั้งผู้ที่ช่วยเหลือก็ประสบปัญหาไปด้วย คือ ทำให้การเงินของตัวเองมีปัญหา สูญเสียสภาพคล่อง สูญเสียเงินเก็บ และมีปัญหาลุกลามมาถึงครอบครัวของผู้ช่วยเหลือ

 

สิ่งที่ยากสำหรับกรณีสภาวะพึ่งพิง คือ การมีเรื่องของความสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะทุกครั้งที่ปฏิเสธ หรือตั้งใจจะปฏิเสธ จะมีความรู้สึกผิดเกิดขึ้น พี่ไม่ช่วยน้อง รู้สึกผิด น้องไม่ช่วยพี่ รู้สึกผิด พ่อไม่ช่วยลูก ลูกไม่ช่วยแม่ เพื่อนไม่ช่วยกัน จะมีความรู้สึกผิดเข้ามา

 

 

แนวทางให้ความช่วยเหลือกรณีมีสภาวะพึ่งพิงเกิดขึ้นในครอบครัว

 

1. ประเมินสภาพคล่องทางการเงิน

 

ถ้าจะให้ความช่วยเหลือเป็นตัวเงิน ควรประเมินสภาพคล่องว่าจะไม่เกิดผลกระทบทางการเงินกับตัวเอง นอกเหนือจากดูสภาพคล่องแล้ว อย่าให้ความช่วยเหลือเป็นเงินก้อนใหญ่ แล้วทำให้เขาไม่ต้องทำอะไรเลยในการหลุดพ้นจากปัญหา

 

มีเคสตัวอย่างคือ น้องเป็นหนี้ 400,000 บาท พี่สาวเอาเงินไปช่วย 400,000 บาท เพราะคิดว่าน้องจะดีขึ้น แล้วจะกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติ ไม่กลับไปสู่ปัญหาแบบนั้นอีก แต่กลับกลายเป็นว่า ภายหลังน้องมีหนี้เพิ่มขึ้นอีก 600,000 บาท

 

สิ่งที่ถูกคือ เราต้องเอาหนี้ 400,000 บาทมากางดูว่า มีหนี้ตัวไหนที่เป็นตัวล็อก ทำให้ชีวิตเคลื่อนไปไม่ได้ เช่น อาจจะค้างหนี้บ้าน 3 งวด ดังนั้น ถ้าเราช่วยหนี้บ้าน 3 งวด ซึ่งไม่ถึง 400,000 บาท ก็ทำให้เขากลับมาผ่อนเป็นปกติได้ แล้วก็อาจปิดหนี้บัตรเครดิตตัวใหญ่ ๆ บางตัว แค่นั้นก็พอ ที่เหลือเขาต้องรับผิดชอบเอง 

 

เติมเงินให้เขาในลักษณะที่พอให้ชีวิตเขาขับเคลื่อน แล้วบวกด้วยการกำชับว่า นี่คือการช่วยเหลือครั้งสุดท้าย เขาจะต้องหาทางจัดการเรื่องจากนี้ต่อไปเอง

 

ถ้าคุณจะช่วยเหลือด้วยการเงิน ต้องมีการสอน มีการแนะ ให้บางก้อน เพื่อจะช่วยให้ขับเคลื่อน แล้วก็แนะนำช่องทางต่าง ๆ ที่ทำให้เขาหลุดพ้นจากปัญหาได้ แต่จะไม่ใช่ให้เงินทั้งก้อนซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

 

 

2. ยื่นมือแทนยื่นเงิน

 

ถ้าไม่มีเงินช่วยเขา แล้วก็ไม่คิดจะช่วยเขาด้วยเรื่องเงิน แนะนำให้ยื่นมือแทนยื่นเงิน ความหมาย คือ ถ้าเขาติดปัญหาเรื่องหนี้ สถานะทางการเงินมีปัญหา ก็ให้เข้าไปคุย บีบลดงวดผ่อนต่าง ๆ หรือถ้าถึงขั้นต้องขึ้นศาล เราก็ไปศาลเป็นเพื่อนเขา นั่งคุยเจรจากับเจ้าหนี้ที่ศาล หรือถ้าแหล่งรายได้เขามีปัญหา เราก็ช่วยหางาน แนะนำงานให้ นี่คือการยื่นมือ ไม่ยื่นเงิน ซึ่งเป็นการช่วยที่ยั่งยืนกว่า และเป็นประโยชน์มากกว่า

 

 

3. เมื่อช่วยแล้วก็ทำใจให้สบาย

 

ไม่ว่าจะช่วยด้วยตัวเงินหรือไม่ใช่ตัวเงิน สิ่งที่ต้องเข้าใจ คือ เขาไม่ใช่เรา เขาอาจเป็นพี่น้องเรา แต่เขาไม่ใช่ตัวเรา ทุกคนบนโลกใบนี้ มีหน้าที่ดูแลการเงินของตัวเอง หลังการดูแลการเงิน จริง ๆ แล้วข้างหลัง คือ การดูแลชีวิต เขาต้องรับผิดชอบ ดูแลชีวิตของเขาให้ดี ดังนั้น เรามีหน้าที่ดูแลเขา ช่วยเหลือเขาอย่างพอเหมาะพอสม เมื่อช่วยแล้วก็ทำใจให้สบายว่าเราได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และสุดความสามารถแล้ว ไม่ต้องไปกังวลอะไร

 

จากประสบการณ์มักพบว่า กรณีเสพติดสภาวะพึ่งพิง หลายครั้งที่แหล่งพึ่งพิงหลักปฏิเสธที่จะช่วย หรือไม่ช่วยอีก คนที่ไม่รับผิดชอบต่อตัวเองก็จะหาแหล่งพึ่งพิงใหม่ เขาจะหาทางของเขา หรือบางคนพอไม่มีคนช่วยก็เริ่มคิดได้ เริ่มปรับตัว เริ่มสู้ อันนี้เป็นเรื่องความรับผิดชอบส่วนบุคคลซึ่งสอนกันไม่ได้

 

ถ้าเกิดเราไม่ช่วย สุดท้ายเขาไปมีชีวิตที่ไม่ดี นั่นไม่ใช่ความผิดเรา เพราะทุกคนเกิดมา มีหน้าที่ต้องดูแลชีวิตตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไร ความคิดนี้ต้องอยู่กับตัว ฉะนั้น ถ้าคนคนหนึ่ง ตัดสินแล้วว่า เขาจะไม่ดูแลชีวิตเขา จะปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม ปล่อยชีวิตไปตามภาวะพึ่งพิง ใครช่วยก็รอด ใครไม่ช่วย เขาก็ไม่รอด แบบนี้เขาเองก็อาจไม่ควรค่าแก่การให้ความช่วยเหลือก็เป็นได้

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

 

OTHER