พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.07 พี่น้องแบ่งมรดกไม่ลงตัว

03 พฤศจิกายน 2020 614 ครั้ง

พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.07 พี่น้องแบ่งมรดกไม่ลงตัว

Q : ในขณะที่ยังมีชีวิต พ่อกำลังจัดการแบ่งที่ดินให้ลูก 5 คน ระหว่างนั้นลูกคนกลางเสียชีวิต (แต่มีครอบครัว) ลูกคนโตจึงขอเป็นผู้ดูแลแทน โดยให้โอนเป็นชื่อตนเอง พอเวลาผ่านไปก็ไม่ได้มีการโอนคืนให้ครอบครัวลูกคนกลาง กรณีนี้จะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

 

A : ทางกฎหมายคำว่า “มรดก” หมายถึงทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตขณะที่มีชีวิต แสดงว่าทรัพย์สินเป็นของเขา แต่เมื่อเสียชีวิตก็จะเป็นมรดก และก็จะตกทอดไปทางพินัยกรรม หรือให้กับทายาทโดยธรรม

 

ในความเข้าใจชาวบ้านนั้น ขณะที่เจ้าของทรัพย์สิน คือ พ่อแม่แบ่งสรรปันส่วนให้กับลูก ๆ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เรียกกันว่า การแบ่งมรดก ซึ่งในความเป็นจริง คือ “การแบ่งทรัพย์สินให้กัน”

 

อีกกรณี คือ ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้มาด้วยกัน คือ การทำธุรกิจ ทำกิจการร่วมกัน หรือที่เรียกกันว่า “กงสี” เช่น พ่อแม่เปิดกิจการร้านค้า และลูก ๆ ก็อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ช่วยงานกัน จนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ดังนั้นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เกิดจากการทำมาหาได้มาด้วยกัน จึงเรียกว่าเป็น “กรรมสิทธิ์รวม

 

กรรมสิทธิ์รวมในที่นี้อาจจะอยู่ในชื่อของทุกคนร่วมกัน หรืออาจจะอยู่ในชื่อคนใดคนหนึ่งก็เป็นไปได้

 

ในหลาย ๆ กรณี เช่น พ่อแม่อาจจะให้ลูกคนโตเป็นผู้มีชื่อในทรัพย์สิน และถือทรัพย์สินในชื่อของลูกคนโตแทนทุกคน ซึ่งความจริงเป็นของทุกคน เพราะทำมาหาได้ด้วยกันมา

 

ในกรณีนี้ปรากฏว่า เมื่อมีการแบ่งทรัพย์สินกันในหมู่ลูกหลายคน ซึ่งพ่อแม่จัดการแบ่งให้ ก็ปรากฏว่า ระหว่างแบ่งนั้นลูกคนกลางเสียชีวิตก่อน

 

การเสียชีวิตนั้นจะไม่ทำให้สิทธิของเขาหายไป คือ สิทธิของเขาเป็นสิทธิที่ถือว่า เป็นมรดก

 

มรดกนั้นมีทั้งสิ่งที่เห็นเป็นทรัพย์สินเป็นตัวเป็นตน เช่น บ้าน, ที่ดิน, รถยนต์, เงินฝากธนาคาร ซึ่งเห็นเป็นรูปร่างชัดเจน ส่วนสิทธิที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน แต่ยังไม่เห็นเป็นตัวเป็นตนนั้น ก็ถือเป็นมรดกด้วย ก็จะตกทอดไปยังทายาท

 

ดังนั้นกรณีนี้ที่ลูกคนโตเป็นคนรับโอนส่วนของน้องเอาไว้ในชื่อของตัวเอง เพื่อรอที่จะแบ่งให้ในภายหน้า กรณีนี้เป็นเรื่องของ “ตัวการตัวแทน” ก็คือพี่คนโตทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการรับโอนที่ดินไว้ในชื่อของตัวเองในฐานะที่เป็นตัวแทน ส่วนเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง คือ ลูกคนกลางที่เสียชีวิต ถือเป็น “ตัวการ” ก็คือมอบที่ดินไว้ในชื่อของพี่ชาย ซึ่งตัวการมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ตัวแทนที่ถือครองทรัพย์สินแทนนั้น คืนทรัพย์เมื่อไรก็ได้

 

ส่วนวิธีการที่จะเอาคืนนั้นอยู่ที่ข้อเท็จจริง ซึ่งถือว่าเป็นภาคปฏิบัติ คือ จะต้องมีการหาพยานหลักฐานมานำสืบกัน

 

อย่างในกรณีนี้ ลูกของลูกคนกลางที่เสียชีวิตซึ่งเป็นหลาน เมื่อปู่กับย่าร่วมถึงบรรดาอา ๆ ทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ ก็จะเป็นพยานชั้นดี เพราะฉะนั้นเมื่อเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงต้องการที่จะเอาทรัพย์คืน ก็มีสิทธิที่จะเอาคืนได้

 

เรื่องพยานนั้นจะมีกี่คนก็ไม่สำคัญเท่ากับความน่าเชื่อถือ ถึงแม้จะมีพยานเพียงปากเดียว เมื่อพูดแล้วข้อเท็จจริงมีความน่าเชื่อถือ มีความเชื่อมโยงเห็นภาพ แล้วมีที่มาที่ไปชัดเจน มีข้อมูลครบถ้วน พยานปากเดียวก็เพียงพอ

 

ในกรณีที่ผู้เสียชีวิตไม่มีลูก ภรรยาที่ได้จดทะเบียนสมรสก็จะถือว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของสามีร่วมทั้งพ่อแม่ของสามีด้วย ก็จะมีสิทธิได้รับมรดก (ถ้ายังมีชีวิตอยู่) แบ่งกันในส่วนเฉพาะของลูกคนกลางที่เสียชีวิตไป

 

แต่ถ้าพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว ภรรยาก็จะต้องแบ่งกับพี่น้องของผู้ตาย ถ้าเกิดเป็นทรัพย์สินที่มีการยกให้หรือได้มาโดยทางมรดก ถ้าไม่ได้ระบุให้เป็นสินสมรส ก็จะเป็นสินส่วนตัวเสมอ

เพราะฉะนั้นส่วนของลูกคนกลางที่เสียชีวิต ทั้ง 100% เป็นสินส่วนตัว เมื่อเป็นสินส่วนตัวแล้วพอเสียชีวิต 100% ก็จะเป็นมรดกทั้งหมด ก็จะแบ่งให้ทายาท หรือผู้มีสิทธิได้รับ

 

ส่วนในกรณีที่ภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็จะไม่ได้ในตรงนี้ เพราะทางกฎหมายไม่ยอม ดังนั้น เมื่อชายหญิงที่อยู่ด้วยกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แม้จะมีพิธีวิวาห์ใหญ่โตแค่ไหนก็แล้วแต่ แม้สังคมรับรู้ แต่กฎหมายไม่รับรอง เมื่อไม่ได้เป็นสามีภรรยาโดยชอบ กฎหมายสิทธิในการรับมรดกของสามีก็จะไม่เกิด

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  อ.ชัยยง อัชฌานนท์ อดีตกรรมการสภาทนายความ และ คุณนฤมล พุกยม 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ถอดเทปเสียง: เจษฎา สดครั่ง

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

OTHER