Money and the Family EP.25 เริ่มทำงาน คือวัยเริ่มวางแผนเกษียณ

27 พฤศจิกายน 2020 110 ครั้ง

Money and the Family EP.25 เริ่มทำงาน คือวัยเริ่มวางแผนเกษียณ

คุณคิดว่าคนเราควรเริ่มต้น “วางแผนเกษียณ” เมื่อไร แล้วเราจะ “วางแผนบริหารเงินเกษียณ” ได้อย่างไรบ้าง มาฟังไอเดียดี ๆ จากโค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ใน Money and the Family EP.25 เริ่มทำงาน คือวัยเริ่มวางแผนเกษียณ

 

วางแผนเกษียณควรเริ่มเมื่อไร

 

“การวางแผนเกษียณ” ควรศึกษาตั้งแต่เริ่มทำงาน เพราะถ้ารู้ตั้งแต่วันแรกที่ทำงานในช่วงอายุประมาณ 20 ปี แล้วเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี เราจะมีช่วงเวลาในการเก็บเงินและลงทุนถึง 40 ปี ประสบการณ์ในการลงทุนจะสูง เพราะการลงทุนไม่ใช่เรื่องของความรู้และหลักการอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของประสบการณ์ด้วย ดังนั้น ถ้าวางแผนได้เร็วก็จะเป็นเรื่องดี

 

 

 

การวางแผนบริหารเงินเกษียณ

 

หลังเกษียณจะต้องมองยาว ๆ ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างน้อยอีก 15 ถึง 20 ปี ยิ่งถ้าเกษียณอายุไว เวลาหลังเกษียณก็จะยาวกว่าเดิม ดังนั้น ต้องวางแผนไว้ว่าจะอยู่อย่างไร ซึ่งคำถามที่มักเจอบ่อยของคนวัยเกษียณ คือ 

 

 

1. เกษียณแล้วมีหนี้ ควรจัดการอย่างไร

 

จริง ๆ แล้ว ก่อนเกษียณควรเคลียร์หนี้ให้หมดก่อนจะได้ไม่เป็นภาระ เพราะหลังเกษียณ รายได้ก็ถูกจำกัด โอกาสในการสร้างรายได้ก็ไม่เหมือนกับตอนหนุ่มสาว

 

แต่ในกรณีมีหนี้หลังเกษียณ หลายองค์กรจะมีเงินสะสมต่าง ๆ เป็นสวัสดิการ เช่น เงินชดเชยกรณีเลิกจ้างด้วยเหตุเกษียณ ปัจจุบันจ่ายกันสูงสุดคือ 400 วัน ถ้าทำงานเกิน 20 ปี จะได้เงินชดเชย 400 วัน ถ้าทำงาน 10 ปีแต่ไม่เกิน 20 ปี จะได้ 300 วัน ลดหลั่นลงไป หรือบางคนอาจมีบำเหน็จ-บำนาญประกันสังคม ถ้าส่งประกันสังคมตลอดอายุการทำงานไม่ถึง 15 ปี จะได้เป็นบำเหน็จ แต่ถ้าส่งเกิน 15 ปี จะได้บำนาญ หรือบางคนอาจมีเงินเก็บในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็จะได้เป็นเงินก้อนออกมาตอนเกษียณ

 

คำถามต่อมา คือ ควรนำเงินทั้งก้อนที่ได้จากการเกษียณไปโปะหนี้หรือไม่

 

คำตอบ คือ ถ้าเงินก้อนมีมากกว่าหนี้อยู่พอสมควร เช่น มีเงินเก็บ 5 ล้านบาท มีหนี้ล้านกว่าบาท แบบนี้การปิดโปะหนี้ถือว่าโอเค เพราะยังมีส่วนต่างที่ยังไปบริหารจัดการได้ ถือว่าไม่เสี่ยงมาก

 

แต่ถ้าเงินแทบจะพอดีกัน อาจเลือกใช้วิธีทยอยผ่อนไปเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับการใช้เงินเกษียณ แล้วค่อยมองหาช่องทางหารายได้เพิ่ม

 

 

 

2. ถ้าประเมินแล้วเงินไม่พอใช้หลังเกษียณควรทำอย่างไร

 

อย่างแรกคือ คำนวณเงินเก็บหลังเกษียณ สมมติประเมินว่า หลังเกษียณจะใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท (หลายท่านอาจมากกว่านี้) ให้นำ 10,000 บาท คูณ 12 จะเป็นเงินที่ต้องใช้ 1 ปี คือ 120,000 บาท จากนั้นนำ 120,000 มาคูณ 20 ปี จะได้ 2,400,000 บาท เป็นต้น

 

ถ้าเรามีเงินเก็บอยู่ประมาณ 4 ล้านบาท แต่เป้าหมายที่จะใช้คือ 2,400,000 บาท เราอาจไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเกษียณมาก เราก็กันเงินไว้ใช้จ่ายต่าง ๆ เงินส่วนต่างที่ยังไม่รีบใช้ก็เอาไปลงทุนแบบที่ไม่ต้องหาผลตอบแทนสูง แล้วก็เสี่ยงจนเกินไป อาจไปลงทุนกองทุนตราสารหนี้ พันธบัตร สลากออมทรัพย์ต่าง ๆ หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

 

แต่ถ้าคำนวณแล้ว เงินเก็บปริ่ม ๆ คือมีประมาณ 2 ล้านบาท ก็อาจต้องจัดสรรเงิน คือ ให้เอาเงินที่มี กันไว้กินใช้ได้ประมาณ 3 ปีก่อน เช่น ใช้เดือนละ 10,000 บาท สามปีเป็นเงิน 360,000 บาท

 

จากนั้นกันออกมาอีกส่วนหนึ่งสำหรับกินใช้อีก 7 ปี ก้อนนี้ให้นำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ต้องเสี่ยงมาก เช่น พันธบัตร สลากออมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ แล้วส่วนที่เหลือที่จะใช้หลังปีที่ 10 อาจนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นมาหน่อย เพื่อให้เงินขึ้นมาใกล้เคียงกับเป้าหมายที่เราต้องการ

 

อีกกลุ่มที่ยากหน่อย คือ กลุ่มที่มีตัวเลขต่างกันมาก เช่น มีเงินเก็บอยู่ 1 ล้านบาท แต่เป้าหมายที่จะใช้คือ 2,400,000 บาท กลุ่มนี้จะใช้เรื่องการลงทุนไม่ได้ ทางออก คือ หารายได้เพิ่ม ไม่มีทางอื่นแล้วจริง ๆ

 

 

ทั้งหมดนี้เป็นไอเดียง่าย ๆ สำหรับจัดการเรื่องการเงินหลังเกษียณ สิ่งที่อยากย้ำ คือ ทุกคนควรคิดเริ่มต้นวางแผนการเงินตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงานแล้วว่าเราจะวางแผนอย่างไรหลังเกษียณ สำหรับใครที่เกษียณไปแล้ว ทุกอย่างก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นปัญหาหรือทำให้เรามีชีวิตการเงินที่แย่ไปซะหมด ถึงจะมีความช้าเกินไปในเรื่องการจัดการหรือเตรียมตัว แต่ก็ไม่เสียหายถ้าเราจะเริ่มต้นกันตั้งแต่วันนี้

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

OTHER