พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.06 โดนลูกสะใภ้ไล่ออกจากบ้าน

29 ตุลาคม 2020 361 ครั้ง

พลิกแฟ้มคดีปวดใจ EP.06 โดนลูกสะใภ้ไล่ออกจากบ้าน

Q : ตระกูลหยินหยางมีบุตรชายเพียงคนเดียว และได้แต่งงานแล้ว พ่อแม่เกษียณแล้วจึงโอนบ้านให้ หวังให้ลูกชาย​ ต่อมาลูกชายเสียชีวิต สะใภ้จึงยึดบ้านและไล่พ่อแม่ออกจากบ้าน แบบนี้พ่อแม่สามีจะฟ้องขอบ้านคืนได้หรือไม่


A : พ่อแม่ยกที่ดินให้กับลูกชายซึ่งมีครอบครัวแต่งงานแล้ว ในการยกให้นั้นถ้าเกิดไม่ได้ระบุว่า ให้เป็นสินสมรส ทรัพย์สินที่ให้นั้นจะเป็นสินส่วนตัวของผู้รับก็คือของลูกชาย แต่ถ้าเกิดระบุว่าทรัพย์สินที่ให้เป็นสินสมรส ผู้รับก็จะกลายเป็นของลูกชายกับลูกสะใภ้สองคนเป็นผู้ได้รับ 


ปรากฏว่าต่อมาลูกชายเสียชีวิตทรัพย์สินนั้นก็จะเป็นมรดก ในกรณีที่ไม่ได้ระบุว่าให้เป็นสินสมรส ที่ดินนั้นทั้ง 100% ก็จะเป็นของผู้เสียชีวิต คือ ลูกชาย


ในกรณีเสียชีวิตแล้ว ทรัพย์นั่นก็จะเป็นมรดก ก็จะต้องดูว่าผู้เสียชีวิต (เจ้าของทรัพย์) ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือไม่  


ถ้าเกิดไม่ได้ทำพินัยกรรม ในกรณีนี้ทรัพย์ก็จะตกได้กับทายาทอันดับที่หนึ่งคือ ลูก แล้วอันดับที่สองคือ พ่อแม่ร่วมถึงภรรยาด้วย แต่ถ้าปรากฏว่าไม่มีลูก สิทธิก็จะตกไปที่พ่อแม่และภรรยาของผู้เสียชีวิต 


ดังนั้น 3 คนนี้ก็จะมีสิทธิได้รับที่ดินโดยแบ่งเท่า ๆ กัน คือ ได้คนละหนึ่งในสามส่วน แล้วทั้ง 3 คนมีสิทธิที่จะใช้สอยทรัพย์สินที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ฉะนั้นลูกสะใภ้จะมาไล่พ่อแม่ของสามีออกไปไม่ได้ เพราะพ่อแม่ของสามีก็เป็นเจ้าของในทรัพย์สินด้วย ก็มีสิทธิที่จะใช้สอย 


ส่วนกรณีที่ลูกชายคนนี้ก่อนจะเสียชีวิตได้ทำพินัยกรรม และยกทรัพย์ทั้งหมดให้ภรรยา พ่อกับแม่ที่มีชีวิตอยู่ก็จะไม่ได้ ซึ่งที่ดินทั้งผืนก็จะเป็นของภรรยา 100% และมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินได้อย่างเต็มที่


ในกรณีที่มี "ผู้ให้ทรัพย์ และ ผู้รับทรัพย์” นั้น เมื่อให้แล้ว คือ ให้เลย (ให้ขาด) เว้นเสียแต่ว่า ผู้รับทรัพย์ภายหลังมีการประพฤติเนรคุณ เช่น ดุด่า หรือ ทำร้ายร่างกาย ก็ถือเป็นการเนรคุณ


อีกกรณีหนึ่ง ต่อมาในภายหลัง ผู้ให้ทรัพย์ยากไร้ลง ผู้รับทรัพย์ก็สามารถให้การอุปการะเลี้ยงดูได้ แต่ถ้าเกิดปฏิเสธเลี้ยงดูก็ถือว่า เป็นเหตุเนรคุณแบบหนึ่ง ซึ่งผู้ให้ทรัพย์สามารถเรียกคืนทรัพย์ที่ให้ไปเอาคืนกลับมาได้


การไล่เลียงทายาทนั้น ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายจะมี 6 อันดับ ซึ่งจะเป็นสายญาติเท่านั้น (ส่วนกรณีคู่สมรสจะถูกแยกออกไปอีกมาตราหนึ่งในการที่จะมีสิทธิได้รับมรดก) อันดับที่ 1 คือลูก   2. พ่อแม่  3. พี่น้อง (ร่วมบิดามารดาเดียวกัน) 4. พี่น้อง (ร่วมแต่บิดา หรือ ร่วมแต่มารดา) 5. ลุงป้าน้าอา  6. ปู่ย่าตายาย


เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีนี้มีวิธี คือ เมื่อให้แล้ว ก็สามารถจดทะเบียนย้อนกลับมาให้ตนเองเป็นผู้มีสิทธิอาศัยได้


โดยไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินในวันเวลาเดียวกับที่ไปโอนให้ บันทึกลงไปในโฉนดที่ดินเป็นอีกรายการหนึ่ง ซึ่งรายการแรก การยกให้ คือ พ่อแม่ยกให้ลูก ส่วนรายการที่สอง คือ ลูกจดทะเบียนให้พ่อแม่มีสิทธิเก็บกิน 


โดยสิทธิจะมี 2 อย่าง คือ สิทธิเก็บกิน กับ สิทธิอาศัย


สิทธิเก็บกิน คือ ในกรณีที่อาจจะเป็นทรัพย์สินที่จะนำออก หรือหาประโยชน์ได้ อาจจะให้เช่าทำประโยชน์ด้วยตัวเอง เช่น ทำเกษตรกรรม เป็นต้น


สิทธิอาศัย คือ มีสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในทรัพย์สินชิ้นนั้น แล้วก็จดทะเบียนว่ามีสิทธิตลอดชีวิต


การจดทะเบียนนั้นไม่ต้องกังวลว่าทรัพย์สินจะเสื่อมค่าหรือด้อยราคาลง เพราะว่าจะยกเลิกทะเบียนเมื่อไรก็ได้ สมมุติจดทะเบียนยกที่ดินให้ลูกไปแล้ว และจดทะเบียนย้อนกลับมาให้พ่อแม่มีสิทธิอาศัยอยู่ในที่ดินผืนนี้ตลอดชีวิตของพ่อแม่ 


แต่เมื่อปรากฏว่า อยู่มาวันหนึ่งอยากจะขายที่ดินแปลงนี้ แล้วไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ ก็สามารถจดทะเบียนยกเลิกได้ (ยกเลิกสิทธิอาศัย) ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาโดยพร้อมเพรียงกัน
 

ในกรณีนี้หากมีการซื้อขาย พอถึงวันนัด ฝ่ายผู้ขาย-ฝ่ายผู้ซื้อ-ฝ่ายพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเก็บกิน สามารถแจ้งความจำนงต่อเจ้าหน้าที่ วิธีการ คือ เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกลงไปในโฉนดที่ดิน ยกเลิกสิทธิเก็บกิน หลังจากนั้นก็จะจดทะเบียนการขายก็จะเป็นการจบไปในคราวเดียวกัน

 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  อ.ชัยยง อัชฌานนท์ อดีตกรรมการสภาทนายความ และ คุณนฤมล พุกยม 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ถอดเทปเสียง: เจษฎา สดครั่ง

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

OTHER