On the Way Home EP.41 โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ (Charlie and the Chocolate Factory)

04 ธันวาคม 2020 247 ครั้ง

On the Way Home EP.41 โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ (Charlie and the Chocolate Factory)

On the Way Home อีพีนี้ มีหนังสือที่ชอบมาก ๆ มาแนะนำ เป็นหนังสือที่เด็ก ๆ น่าจะชอบ และคุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะอ่านร่วมกับเด็ก ๆ ได้ เพราะนอกจากความสนุกแล้ว ยังให้ข้อคิดหลายอย่างกับคุณพ่อคุณแม่และเด็ก ๆ ได้ด้วย และหนังสือเล่มที่พูดถึงก็คือ โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ วรรณกรรมเยาวชนของ โรอัลด์ ดาห์ล นักเขียนชาวอังกฤษ

 

“โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์” เล่าถึงครอบครัวของชาลี ที่มีฐานะยากจน สมาชิกในครอบครัวมีผู้สูงอายุ 4 คน เด็ก 1 คน และพ่อแม่ 1 คู่ พ่อทำงานคนเดียว แม่เป็นแม่บ้าน รายได้ไม่เยอะ ต้องกินอยู่อย่างประหยัด

 

ชาลีเป็นเด็กดี น่ารัก เรียบร้อย สุภาพ ใครเห็นใครก็ชอบ เขาชอบกินช็อกโกแลตมาก แต่ช็อกโกแลตถือเป็นของฟุ่มเฟือย ชาลีจะมีโอกาสได้กินช็อกโกแลตเพียงแค่วันเดียวในหนึ่งปี นั่นคือวันเกิดเขา ทุก ๆ คนจะเก็บเงินเพื่อซื้อช็อกโกแลตให้ชาลี ที่เมืองนี้มีโรงงานช็อกโกแลตขนาดใหญ่ตั้งอยู่ เป็นโรงงานที่โด่งดังที่สุดในโลกของคุณวิลลี่ วองก้า

 

วิธีการกินช็อกโกแลตของชาลีน่าสงสารมาก คือ พอเขาไปซื้อช็อกโกแลตแท่งเล็ก ๆ เป็นของขวัญวันเกิดในยามเช้าแล้ว วันแรกจะยังไม่กิน เขาเก็บไว้ในกล่องไม้เล็ก ๆ เป็นอย่างดี มองก่อนสัก 2-3 วัน พอรอต่อไปไม่ไหว ก็จะค่อย ๆ แกะกระดาษชิ้นเล็ก ๆ ที่มุมหนึ่ง แล้วค่อย ๆ กัดช็อกโกแลตคำเล็ก ๆ เพื่อให้รสชาติซึมซาบแผ่ซ่านไปทั่วลิ้น พอวันถัดมาก็จะกัดคำเล็ก ๆ อีกคำหนึ่ง กัดวันละคำ ทีละนิด ๆ ฉะนั้นช็อกโกแลตแท่งเล็ก ๆ ก็จะอยู่กับเขาได้นานกว่า 1 เดือน

 

เรื่องของเรื่องเกิดขึ้นเพราะว่า วิลลี่ วองก้า เจ้าของโรงงานช็อกโกแลต ประกาศว่า จะเอาแผ่นทอง (เรียกว่า ตั๋วทอง) ใส่ไว้ในช็อกโกแลต 5 ชิ้น ใครที่ได้ตั๋วทองจะได้รับเชิญให้เข้าชมโรงงาน ให้เห็นความลับในการผลิตช็อกโกแลต เพราะช็อกโกแลตจากโรงงานของคุณวิลลี่ วองก้า เป็นช็อกโกแลตที่อร่อยที่สุดในโลก ใครได้ชิมแล้วต้องติดใจ นอกจากนี้ คนที่ได้ตั๋วทองจะได้รับขนมหวาน ช็อกโกแลตฟรีตลอดชีวิต

 

ว่ากันว่า คุณวิลลี่ วองก้า เป็นคนแปลก ลึกลับ ไม่ธรรมดา ชาวบ้านพากันร่ำลือว่า คนงานในโรงงานของวิลลี่ วองก้า ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา เพราะก่อนหน้านี้ มีคนงานหลายพันคนทำงานอยู่ในโรงงาน แต่จู่ ๆ วองก้าก็ขอร้องคนงานทั้งหมดให้ออกจากโรงงาน กลับไปบ้าน แล้วก็ไม่ต้องกลับมาอีก สาเหตุที่ต้องไล่ออก เพราะมีคนจ้องจะส่งสายลับมาขโมยสูตรช็อกโกแลตแสนอร่อย ฉะนั้น เขาเลยไม่ไว้ใจใคร เลยเอาคนงานออกหมดเลย

 

หลังจากที่คนงานออกหมด เขาก็ปิดประตูใหญ่ของโรงงาน แล้วก็ล่ามโซ่ไว้อย่างแน่นหนา หลังจากนั้นโรงงานก็เงียบ ไม่มีการผลิตช็อกโกแลตอีกเลย

 

คุณวิลลี่ วองก้า หายตัวไปหลายเดือน จู่ ๆ วันหนึ่งก็มีกลุ่มควันสีขาวลอยออกมาจากยอดปล่องไฟสูงของโรงงาน ชาวเมืองก็ตกใจ คุณวองก้าเปิดโรงงานผลิตช็อกโกแลตอีกแล้ว แต่ประตูยังคงถูกล็อก แล้วก็ล่ามโซ่ไว้ ไม่มีใครเจอคุณวองก้า แต่โรงงานเดินเครื่องจักร มีเสียงผลิตช็อกโกแลต ผลิตขนมหวาน และที่สำคัญมีกลิ่นหอมของช็อกโกแลตที่กำลังถูกกวนลอยออกมา คนก็สงสัยว่า ไม่มีคนงาน แล้วใครเป็นคนทำงาน

 

หลังจากนั้นโรงงานนี้ก็ผลิตช็อกโกแลตและขนมหวานเรื่อยมา จนกระทั่งถึงวันที่ชาลีได้ยินข่าวว่า คุณวองก้าจะเปิดโรงงาน เป็นเวลา 10 ปี

 

ข่าวการเปิดโรงงาน และจะรับเด็ก 5 คนให้มาเที่ยวชมความลับในการผลิตขนมหวานและช็อกโกแลต เป็นข่าวใหญ่ที่ทุกคนตื่นเต้นกันทั้งเมือง เช่นเดียวกับชาลี หลังจากวิลลี่ วองก้า ปล่อยตั๋วทอง 5 ชิ้นออกสู่ท้องตลาด ช็อกโกแลตก็ขายดีมาก

 

เด็กคนแรกเป็นเด็กอ้วน ชื่อ ออกัสตัส กลู๊ป เป็นเด็กที่กินทั้งวัน อายุ 9 ขวบ พอรู้ว่าคุณวองก้ามีตั๋วทอง เขาก็กินช็อกโกแลตทั้งวัน แม่ก็ซื้อมาให้ แม่บอกว่า ลูกชายของเธอมีการกินเป็นงานอดิเรก จนกระทั่งเจอตั๋วทอง ออกัสตัส กลู๊ป เลยเป็นตัวแทนของเด็กอ้วน เด็กกินเก่ง ไม่สนใจการออกกำลังกาย

 

คนที่สองเป็นเด็กผู้หญิง ชื่อ เวรูก้า เป็นตัวแทนของเด็กที่พ่อแม่ตามใจมาก พ่อแม่ประเคนทุกสิ่งทุกอย่างให้ ทันทีที่ลูกสาวอยากได้ตั๋วทอง พ่อก็รีบเข้าเมืองซื้อช็อกโกแลตมาให้มากที่สุด ซื้อเป็นหมื่น ๆ แท่ง ขนใส่รถบรรทุก แล้วกลับไปที่โรงงาน คือบ้านของเขาทำโรงงานถั่วลิสง มีคนงาน 100 คน พอไปถึงก็บอกทุกคนว่า ให้เลิกแกะถั่วลิสง ให้มาแกะกระดาษห่อช็อกโกแลตแทน เพื่อที่จะค้นหาตั๋วทองให้กับลูกสาว 

 

แกะกันอยู่ 3 วัน ลูกสาวก็ตะโกนบอกตั๋วทองอยู่ไหน หนูอยากได้ตั๋วทอง แล้วก็ล้มตัวลงนอนกับพื้นเป็นชั่วโมง ๆ ชักดิ้นชักงอ ส่งเสียงหนวกหูตลอดทั้งวัน พ่อก็ทุกข์ใจ ไม่ชอบเห็นลูกไม่มีความสุข ตั้งใจว่าจะต้องหาต่อไปจนกว่าจะได้ตั๋วทองที่ลูกต้องการ จนกระทั่งวันที่ 4 คนงานหญิงก็ร้องบอกว่า เจอแล้วตั๋วทอง ลูกสาวถึงกับเลิกชักดิ้นชักงอ ยิ้มออกมาได้ ครอบครัวเลยกลับมามีความสุขเหมือนเดิมอีกครั้ง

 

เด็กคนที่ 3 เป็นเด็กที่ชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง และชอบแกล้งคน พอเคี้ยวแล้วจะชอบสั่งหมากฝรั่งเอาไปติดไว้ที่โน่นที่นี่แกล้งคนอื่น เป็นเด็กที่นิสัยไม่ดี

 

เด็กคนที่ 4 เป็นเด็กที่ติดโทรทัศน์ ชื่อว่า ไมค์ ดูตลอดทั้งวัน แล้วก็ชอบเกมที่โหด เกมที่ใช้ความรุนแรง มีการต่อสู้ฟาดฟันทิ่มแทงกันด้วยมีด มีการยิงกัน เขาจะสนุกมากกับเกมหรือรายการที่มีความรุนแรง เวลาดูหนังก็จะดูหนังบู๊ มีการยิง เตะต่อยใส่กัน ไมค์เป็นตัวแทนของเด็กติดจอ แล้วก็เป็นเด็กที่อยู่กับความรุนแรง พ่อแม่ก็ตามใจ พ่อแม่ไม่เคยที่จะให้ไปทำอะไรอย่างอื่นเลย เขารู้สึกว่าอยู่กับทีวีก็โอเคดีแล้ว ไมค์เลยกลายเป็นเด็กที่เสียเด็ก

 

เด็ก 4 คนที่ได้รับตั๋วทอง เรียกว่าเป็นสุดยอดของเด็กนิสัยเสียในเรื่องต่าง ๆ

 

ทีนี้ก็เหลือตั๋วอีกใบหนึ่ง คือตั๋วที่ชาลีได้นี่เอง พอถึงวันเกิดทุกคนก็ลุ้นกันว่า ชาลีจะมีโอกาสแค่ครั้งเดียว เขาก็ไปซื้อช็อกโกแลต แล้วก็มาแกะต่อหน้าปู่ย่าตายาย ปรากฏว่าไม่มี ทุกคนก็ทำใจ แล้วก็แยกย้ายกันไปนอน

 

2 สัปดาห์ต่อมา ชาลีไปเจอเหรียญเงินตกอยู่ริมถนน เขาก็เลยไปที่ร้านขายช็อกโกแลต ตั้งใจว่าจะซื้อช็อกโกแลตแท่งหนึ่ง แล้วเงินที่เหลือจะเอาให้แม่

 

พอได้ช็อกโกแลตมาแท่งหนึ่ง เขาก็กินช็อกโกแลตแบบอร่อยมาก กัดเต็มปากเต็มคำ หมดภายในเวลาไม่ถึงครึ่งนาที มีความสุขมาก

 

พอกินหมดยังเหลือเงินพอซื้อได้อีก 1 แท่ง คนขายก็ถามว่าจะเอาอีกไหม ชาลีเลยบอกว่า เอา เขาก็ซื้อช็อกโกแลตแท่งที่ 2 พอแกะห่อช็อกโกแลตแท่งที่ 2 ก็เจอตั๋วทอง

 

ชาลีรีบวิ่งไปที่บ้าน เอาตั๋วทองไปบอกแม่ บอกพ่อ แล้วก็บอกปู่ย่าตายาย ชาลีเลยเป็นคนสุดท้ายที่ได้ตั๋วทอง ที่น่าสนใจคือ วิลลี่ วองก้า อนุญาตให้เด็กแต่ละคนพาผู้ปกครองมาได้ด้วย 1-2 คน ครอบครัวชาลีตัดสินใจให้ปู่โจ ซึ่งดูเป็นคนที่มีความรู้มากที่สุด และสนิทกับชาลีมาเป็นผู้ปกครองชาลี

 

หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องการผจญภัย คุณวิลลี่ วองก้า ก็จะมีวิธีจัดการกับเด็กเกเรทั้ง 4 คน เลยเกิดเรื่องสนุก ๆ ขึ้นที่นั่น

 

ส่วนเรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ลองไปหาซื้อหนังสือมาอ่านแล้วก็มาเล่าให้เด็ก ๆ ฟังกันได้ เพราะมีแง่มุมเอาไว้คุยไว้สอนเด็ก ๆ ได้เยอะเลย จากหนังสือ โรงงานช็อกโกแลตมหัศจรรย์ วรรณกรรมเยาวชนของ โรอัลด์ ดาห์ล

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัศมี มณีนิล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER