Love Dose EP.11 โยนมันทิ้งไปเป็นคุณคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม

23 ธันวาคม 2020 223 ครั้ง

Love Dose EP.11 โยนมันทิ้งไปเป็นคุณคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม

เมื่อตัดสินใจที่จะ “หยุดยา” ทั้งผู้ติดยาและคนใกล้ชิดคงไม่อยากให้เกิดการกลับไปใช้ซ้ำอีก เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการป้องกันที่ดี ทั้งผู้ติดยาและคนใกล้ชิดจึงจำเป็นต้องรู้ถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากเลิกยา รวมถึงอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ที่เข้าบำบัดจะแสดงออกมาอย่างไรบ้าง ติดตามข้อมูลได้ใน Love Dose EP.11 โยนมันทิ้งไปเป็นคุณคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม

ผู้ที่เข้ารับการบำบัดเพื่อเลิกยา ส่วนใหญ่สามารถแบ่งกระบวนการที่จะเกิดขึ้นได้เป็นระยะต่าง ๆ ดังนี้

 

 

ระยะที่ 1 - ระยะขาดยา

 

คือหยุดได้ แล้วก็อาจกลับไปใช้อีก เป็นช่วงล้างพิษ ยาแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 3 วัน – 2 สัปดาห์ อย่างยาบ้า ไอซ์ จะอยู่ที่ประมาณ 1-2 สัปดาห์

อาการช่วงนี้ คือ สารเคมีสมองจะเริ่มปรับ เริ่มเรียกร้องที่จะกลับมาใช้ยา เป็นช่วงที่ทรมานที่สุด เหมือนสมองเคยชินกับความสุข พอวันหนึ่งไม่มีกลายเป็นความทุกข์ เศร้า กระวนกระวาย หงุดหงิด ผิดหูผิดตาไปหมด ตะโกนด่าคนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว หรือบางคนก็มีอาการเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อ

 

ฉะนั้น ที่หงุดหงิด ไม่ได้หงุดหงิดเพราะนิสัยจากตัวเขา แต่หงุดหงิดเพราะสมอง ร่างกายเรียกร้องที่จะเอาสารเสพติดกลับเข้ามา เลยทำให้อาการเป็นอย่างนั้น

วิธีแก้ไขคือ ต้องรู้ตัวเองว่ากำลังโกรธ กำลังหงุดหงิด เมื่อรู้แล้วต้องจัดการตัวเอง อย่ารอให้คนอื่นเข้าใจคุณอย่างเดียว แต่คุณต้องระงับให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

 

 

ระยะที่ 2 - ฮันนีมูน

 

เป็นช่วงข้าวใหม่ปลามัน คือ ผ่าน 2 อาทิตย์มาได้โดยไม่ใช้ยาเลย ทำให้มีความมั่นใจ ภูมิใจ มีกำลังใจ แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ คนรอบข้างที่สูญเสียความไว้ใจไปแล้ว พอเห็นอะไรน่าสงสัยก็คิดว่า กลับไปใช้ยาอีกหรือเปล่า

 

การสงสัย หรือการไปกล่าวหาว่ากลับไปใช้ยาอีก เป็นการไปจี้จุด ลดความภูมิใจของเขาลง บางคนกลายเป็นประชดกลับไปใช้ยาอีก อย่างไรก็ตามคนที่ใช้ยาก็ต้องอย่าลืมว่า เราเคยทำความเชื่อมั่นลดไปแล้ว คนใกล้ชิดหรือคนอื่นจะไม่เชื่อเราก็ไม่ใช่เรื่องผิด

 

 

ระยะที่ 3 - อุปสรรค

 

เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ความยากลำบาก คือ ได้เจอสิ่งปกติที่คนอื่นเจอกัน ทำให้ความภูมิใจลดลง สมองเริ่มกลับไปมองย้อนเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมา จะเริ่มอยากทำงาน อยากมีชีวิตปกติ อยากฟื้นฟูความสัมพันธ์ อยากมีสัมพันธภาพที่ราบรื่นมากขึ้น ทำให้ต้องพยายามมากขึ้น เกิดความเครียดกลับมา เพราะความสุขต้องหาจากตัวเอง ไม่ได้หาจากยาแล้ว

 

ฉะนั้น ช่วงนี้จะเหนื่อย หมดเรี่ยวหมดแรง อารมณ์จะแปรปรวนมาก ๆ อาการนี้ระยะเวลาจะอยู่ที่ 6-20 สัปดาห์

 

ระยะนี้เป็นระยะเสี่ยงที่สุดที่จะย้อนกลับไปใช้ยา เพราะปัญหาต่าง ๆ รุมเร้ามากมาย ฉะนั้น ต้องดูแลกันเยอะ ๆ กำลังใจสำคัญที่สุด การพูดคุย หรือการแนะนำบางอย่างสำคัญมาก คนใกล้ชิดจึงจำเป็นที่สุด ต้องให้กำลังใจ ต้องพยุงเขา อยู่กับเขา

 

 

ระยะที่ 4 - ระยะปรับตัว

 

คือ สามารถเลิกยาได้ ปัญหาคลี่คลายมากขึ้น สมองเริ่มกลับมาปกติอย่างมาก แม้ว่าจะยังต้องมีการแก้ไขทุกอย่างไปเรื่อย ๆ สิ่งที่จำเป็นก็เหมือนเดิม คือ กำลังใจ

 

 

ระยะที่ 5 - คงสภาพ

 

ระยะนี้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพูดถึงกันเพราะเป็นหลังจากเลิกยาได้แล้ว ไม่มีระยะเวลากำหนด คือคงสภาพไปเรื่อย ๆ

 

การคงสภาพที่ดีที่สุดคือ เราต้องเป็นตัวยึดเหนี่ยวให้คนอื่น แล้วเราจะรู้สึกภูมิใจ เมื่อคิดอยากกลับไปใช้ ก็จะรู้สึกว่าไม่ได้นะ มีคนมองเราอยู่ เราเป็นไอดอลของเขานะ ระยะนี้จึงเป็นระยะที่ค่อนข้างสำคัญอีกระยะหนึ่ง

 

 

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับการบำบัด การเลิกยา สามารถติดต่อสอบถามเข้ามาได้ที่ Facebook Fanpage - Krubb Bangkok หรือ The Family ขอเป็นกำลังใจช่วยให้ทุกคนสามารถก้าวผ่านเรื่องนี้ไปได้

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  เชาวน์พิชาญ เตโช และ อัครเษรต เชวงชินวงศ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER