ปลดล็อกกับหมอเวช EP.44 เลี้ยงลูกอย่างไรให้ภูมิใจในตัวเอง

26 ธันวาคม 2020 341 ครั้ง

ปลดล็อกกับหมอเวช EP.44 เลี้ยงลูกอย่างไรให้ภูมิใจในตัวเอง

ถ้าลูกเริ่มโต แล้วพ่อแม่พบว่าเขาไม่ค่อยมีความภูมิใจ ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง พ่อแม่จะช่วยลูกได้อย่างไร หาแนวทางได้ใน ปลดล็อกกับหมอเวช EP.44 เลี้ยงลูกอย่างไรให้ภูมิใจในตัวเอง

 

ความเชื่อมั่นและความภูมิใจในตัวเองมีความสำคัญอย่างไร

 

ในทางจิตวิทยา “ความเชื่อมั่นและความภูมิใจในตัวเอง” ถือเป็นส่วนสำคัญที่เป็นแกนกลางของการที่คนคนนั้นจะมีสุขภาพจิตดีหรือไม่ดี ความภูมิใจในตัวเองยังส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การมีวินัย การควบคุมตัวเอง การตัดสินใจ การคบเพื่อน ไปจนถึงการอดทนต่อสิ่งยั่วยุได้

 

เด็กที่โตมามีความเชื่อมั่น มีความอบอุ่นภายใน ในวัยเด็กเล็กหรือแบเบาะมักได้รับความรัก ความใส่ใจ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ไว้ใจได้ เขาจะเกิดความไว้วางใจในสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ ว่าความต้องการของเขาจะได้รับการตอบสนอง ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่มักเลี้ยงลูกในวัยนี้ได้ดี คือดูแลทั้งความรัก ความใส่ใจ

 

ยกเว้นกรณีมีเหตุพลิกผันในชีวิต เช่น มีคนเสียชีวิต เจ็บป่วย มีผู้ป่วยเรื้อรัง พ่อหรือแม่เกิดเหตุต้องพลัดพรากจากกัน หรือหย่าร้าง หรือแม่ตั้งครรภ์แล้วไม่มีพ่อ ทั้งหมดนี้ก็จะกลายเป็นช่วงวัยเด็กที่เจอสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดความกลัว ความไม่มั่นคงภายใน กลายเป็นแผลในใจ โหยหาความรัก และไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง

 

หลังจากขวบปีแรกเป็นต้นไป มักเป็นจุดที่พ่อแม่ส่วนใหญ่เริ่มมีปัญหา วิธีการเลี้ยงดูในช่วงนี้จะเริ่มมีความแตกต่างกันไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการความภูมิใจในตัวเองของลูกได้

 

 

เปรียบเทียบการเลี้ยงลูก 2 แบบ

 

แบบที่ 1 เลี้ยงลูกให้มีความภูมิใจในตัวเองต่ำ

 

-  เลี้ยงแบบเปรียบเทียบ เทียบเด็กกับพี่น้อง กับบ้านอื่น กับคนที่อยู่ในข่าว กับลุงป้าน้าอาสมัยเด็ก การถูกเปรียบเทียบเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกด้อยคุณค่า

 

-  เลี้ยงแบบบังคับให้ทำตามคำสั่ง เพราะพ่อแม่เชื่อว่าคำสั่งจะช่วยให้ลูกเรียนรู้สิ่งที่ถูกต้อง และช่วยให้อยู่รอดปลอดภัย ประสบความสำเร็จ แต่คำสั่งนี้มักเป็นสูตรสำเร็จ คือมีการสรุปว่าอะไรดีไม่ดี อะไรถูกผิดตั้งแต่ต้น โดยเด็กต้องทำตาม ซึ่งทำให้เขาต้องทิ้งความเป็นตัวเอง สูญเสียความเป็นตัวตน เพื่อจะได้ไปลงในกล่องความคาดหวังของคนเลี้ยงดู

 

-  การเลี้ยงดูที่เข้มงวด ขาดความยืดหยุ่น วิพากษ์วิจารณ์ เวลาทำผิดถูกทำโทษ แล้วพ่อแม่ไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีของความรับผิดชอบได้ เด็กจะโตมาขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งจะตามไปสู่การยอมตามเพื่อนเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ค่อยได้ เป็นปมที่เกิดขึ้นในตอนที่เริ่มโตขึ้น

 

 

แบบที่ 2 เลี้ยงลูกให้มีความภูมิใจในตัวเอง

 

การเลี้ยงลูกให้มีความภูมิใจในตัวเอง คือ พ่อแม่ยอมรับว่าไม่มีใครเหมือนกัน ดังนั้น ก็จะยอมรับลูกที่เขามีลักษณะเฉพาะตัว มีความแตกต่าง ชื่นชมในความเฉพาะตัวของเขา พ่อแม่สามารถแสดงอารมณ์ความรักได้อย่างเปิดเผย สื่อสารเปิดกว้าง กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในบ้านมีความยืดหยุ่น

 

ถ้าเกิดเหตุผิดพลาด เช่น เด็กทำผิด พ่อแม่จะใช้เป็นโอกาสในการแปลงเป็นบทเรียน และพ่อแม่ก็เป็นแบบอย่างที่ดีของการพูด และทำตามคำพูด คือมีแบบอย่างที่ดีของความรับผิดชอบ

 

เด็กที่เติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ยอมรับในความเป็นตัวเขา ให้เขาได้ลองผิดลองถูก สามารถคิดต่างได้ สามารถทำสิ่งที่ออกนอกกรอบที่พ่อแม่วางไว้ เด็กเหล่านี้จะเกิดความเชื่อมั่นภายใน รู้ว่าตัวตนของเขามีลักษณะเฉพาะตัวบางอย่าง อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ก็ต้องมีกรอบบางอย่าง ซึ่งกรอบเหล่านั้นมักเน้นเรื่องความปลอดภัย เช่น การไม่ลงไปเดินบนถนน หรือการไม่เล่นริมถนนก็เป็นกฎความปลอดภัยที่พ่อแม่จะต้องจริงจัง

 

แต่กฎข้ออื่น ๆ พ่อแม่พร้อมจะปล่อยให้ลูกไปคลุกฝุ่น หกล้ม เจ็บตัวบ้าง แต่ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้ และการเรียนรู้แบบนี้ เด็กจะค่อย ๆ พัฒนาตัวตน ผ่านการตระหนักว่า ตัวตนของเขาแม้จะไม่เหมือนใคร แต่ก็ได้รับการยอมรับ ได้รับความรักจากพ่อแม่ เด็กที่โตมาในสิ่งแวดล้อมแบบนี้จะมีความเชื่อมั่นบางส่วนอยู่ลึก ๆ พอเข้าสู่โรงเรียน ประสบการณ์ที่โรงเรียนก็จะเป็นตัวต่อยอดความรู้สึกดีกับตัวเอง

 

 

เลี้ยงลูกให้มีความรู้สึกดีและมีความภาคภูมิใจ ด้วยสัญลักษณ์ 6 อย่างที่ต้องฝึกฝน

 

1. หมวกนักสืบ หมายถึง ความสามารถในการถอยออกมาตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถาม สังเกตความเป็นไป ไม่เชื่อสิ่งที่เห็นอย่างเดียว แต่สามารถมองหาสิ่งที่ยังไม่มีอยู่ แล้วสามารถออกแบบกระบวนการค้นหาได้จากความสงสัยนั้น

 

พ่อแม่ต้องฝึกตั้งคำถามให้ลูกสังเกตความคิด ความรู้สึกของตัวเอง เช่น ลูกทำการบ้านแล้วลืมเอาไปโรงเรียน ถูกคุณครูทำโทษ ถ้าเราจะให้เด็กสังเกตความนึกคิดตัวเอง เราก็ต้องถามลูกว่า ตอนที่รู้ตัวว่าไม่ได้เอาการบ้านไปตอนนั้นคิดอะไร รู้สึกอย่างไร แล้วคุณครูทำโทษ คุณครูต้องการอะไร ถ้าเขาลืมจริง ๆ เขามีวิธีจะบอกคุณครูได้ไหม ต่อรองได้ไหม ตรงนี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ พัฒนา

 

 

2. เหรียญสองด้าน หมายถึง ความสามารถที่จะรู้ความต้องการของตัวเองและปฏิเสธเป็น ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกให้รู้จักถามความต้องการของตัวเอง แล้วปฏิเสธเป็น ตอบรับเป็น ตัวนี้จะกลายเป็นเครื่องมือภายในที่จะทำให้เขามีความภูมิใจในตัวเอง

 

 

3. ไม้เท้ากล้าหาญ คือ ความกล้าที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ในสิ่งที่ให้ความสำคัญ ไม้เท้ากล้าหาญจะเป็นตัวช่วยให้ลูกกล้าที่จะค้นหา กล้าที่จะทำในสิ่งที่เป็นความต้องการของเขา

 

ความกล้านี้จะเกิดขึ้นเมื่อเขาได้รับการให้กำลังใจ สนับสนุนให้ได้ลองทำสิ่งที่เขากลัว ฝ่าฟันลงมือทำแม้จะกลัว แต่ถ้าสิ่งนั้นสำคัญ เราก็ต้องกล้า เช่น กล้าที่จะฝึกการว่ายน้ำ กล้าที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำให้เขาไปสู่จุดหมายที่เขาต้องการ เพราะถ้าคนเราหนีความกลัวไปเรื่อย ๆ ความภูมิใจก็จะยิ่งหดตัวมากขึ้น จะรู้สึกแย่กับตัวเองแทน

 

 

4. กุญแจวิเศษ คือ มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ด้วยการรู้จักมองอะไรที่ยังไม่มีอยู่ตรงนั้น แล้วก็กล้าสำรวจ กล้าค้นหา เราต้องการสอนลูกให้มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ มองเห็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ที่เขาคุ้นเคย เพื่อให้เขาอยากรู้แล้วออกไปนอกพื้นที่ที่เขาคุ้นเคย

 

 

5. กล่องปัญญา คือ ความสามารถที่จะเชื่อในคำตอบของชีวิตที่มีอยู่ข้างในลึก ๆ คำตอบของชีวิตมาจากการรู้ตัว และตระหนักรู้ภายใน ซึ่งเราจะตระหนักรู้ภายในและรู้ตัวได้ ก็ต่อเมื่อเรามีความสามารถในการเชื่อมโยงถึงภายในใจของเรา ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราฝึกการกลับมาอยู่กับตัวเอง อยู่กับร่างกาย และจิตใจ เคลียร์ความคิดที่วิ่งวุ่นออกไปชั่วคราว แล้วลงไปถึงคำตอบบางอย่าง ซึ่งบางครั้งมันไม่มีเหตุผลชัดเจน แต่มันเป็นความรู้สึกบางอย่างถึงทิศทางของชีวิต เมื่อมาประกอบกับตัวอื่น ๆ ก็จะช่วยในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ

 

 

6. หัวใจ เป็นสัญลักษณ์ที่เพิ่มมาในภายหลัง ซึ่งหมายถึง ความรัก

 

** อ้างอิงข้อมูลจาก เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ นักจิตบำบัด

 

 

กระบวนการเลี้ยงดูที่เราเปิดโอกาสให้ลูกมีประสบการณ์เรียนรู้ซ้ำแล้วซ้ำอีกผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ จะทำให้เขามีเครื่องมือในการที่จะมีความภาคภูมิใจในตัวเอง

 

ความภูมิใจของคนเราสัมพันธ์กับการเลี้ยงลูกมาก เด็กโตมามีประสบการณ์อย่างไร ก็จะกำหนดความภูมิใจของเขามาก ซึ่งพ่อแม่มีวิธีที่จะช่วยลูกได้ 2 ช่วง ช่วงแรก คือ เปิดรับ ยอมรับเขา และช่วงที่ 2 คือ ให้เขารู้จักเครื่องมือ 6 ตัว ถ้าเขาเรียนรู้ก็จะช่วยให้เขามีความภูมิใจในตัวเอง

 

 

****************

 

ตัวอย่างการใช้สัญลักษณ์ทั้ง 6 เพื่อเป็นแนวทางในการสอนลูก

 

จากชั้นเรียนที่คุณหมอจัดกิจกรรมขึ้น ได้มีการนำหมวก เหรียญ ไม้เท้า กุญแจ กล่อง และหัวใจ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทั้ง 6 มาตั้งวางไว้ให้ผู้ร่วมกิจกรรมเห็นเพื่อเป็นตัวช่วยให้นึกออกว่าต้องการตัวช่วยอะไร

 

ในกระบวนการเรียนรู้มีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าว่า ตั้งแต่เด็ก คุณแม่ตำหนิต่อว่าเธอเป็นประจำ ซึ่งเธอไม่ชอบเลย เพราะทำให้รู้สึกแย่ ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง พอโตมา เธอก็มีนิสัยตำหนิต่อว่าตัวเอง เวลาทำอะไรผิด เธอจะรู้สึกแย่มาก เวลาอยู่ใกล้แม่ก็จะถูกแม่กระตุ้นให้รู้สึกแย่ซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

จากนั้นทีมงานได้ถามเธอว่า เป้าหมายที่เธอต้องการทำให้สำเร็จใน 3 เดือนข้างหน้าคืออะไร แล้วเธอติดขัดตรงไหน จากนั้นก็มาถึงขั้นเลือกเครื่องมือมาช่วย

 

 

เครื่องมือตัวแรกที่เธอเลือก คือ เหรียญสองด้าน เธอเอาไปเรียนรู้การปฏิเสธที่จะรับฟังเสียงในใจตัวเอง เธอไม่จำเป็นต้องเชื่อเสียงที่ต่อว่าตัวเอง เพราะเวลาเธอไม่เชื่อ มันทำให้เสียงนั้นมีอิทธิพลน้อยลง

 

ต่อมาเธอเลือกหยิบหัวใจ เพื่อทำความเข้าใจว่าเสียงนั้นต้องการอะไร เธอตระหนักว่า เสียงนั้นมีเจตนาดีที่ต่อว่าตัวเธอ เพื่อให้เธอได้ดี เพียงแต่เป็นคำต่อว่าที่ทิ่มแทงความรู้สึก เจตนาดีแต่วิธีการทำให้เธอเจ็บปวด เธอจึงขอบคุณเสียงนั้นที่ช่วยให้ก้าวมาถึงจุดนี้ แต่ไม่ต้องว่าหนักมากก็ได้ เสียงนั้นก็ยอมรับว่าจะพยายาม แต่ยังไม่รู้วิธีว่าจะทำอย่างไร เพราะเธอเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ใช้วิธีต่อว่า

 

จากนั้นเธอก็เลือกกุญแจทองคำและกล่องปัญญา เพื่อเปิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เธอฉุกคิดขึ้นได้ว่า อาจจำเป็นที่เธอจะต้องถอยห่างจากคุณแม่ระยะหนึ่ง เพื่อเยียวยาจิตใจ และค้นหาชีวิตของเธอ

 

จากนั้นก็มาถึงไม้เท้ากล้าหาญ เพราะต้องอาศัยความกล้าน่าดูที่จะแยกออกไปอาศัยตัวเอง และกล้าที่จะบอกแม่ว่าจะแยกบ้านอยู่ชั่วคราว

 

และทั้งหมดเริ่มต้นเป็นไปได้ เพราะเธอใส่หมวกนักสืบ คือ หันมาดูกระบวนการภายในใจ โดยไม่จมไปกับมัน

 

เครื่องมือเหล่านี้ คือ เครื่องมือที่เราต้องการดึงศักยภาพภายในใจของเราออกมา เมื่อนำมาใช้กับการเลี้ยงลูก พ่อแม่สามารถเลี้ยงได้ 2 แบบ คือ ถ้าเป็นเด็กเล็ก แล้วคุณไม่อยากหยิบเครื่องมือไปสาธิต คุณก็ค่อย ๆ สอนเขาทีละเรื่อง

 

แต่ถ้าคุณอยากเล่นกับลูก คุณอาจมีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ในบ้าน แล้วชวนลูกสำรวจดูว่า ตอนนี้เขาต้องการตัวช่วยอะไรบ้าง ถ้าเด็กจำสัญลักษณ์เหล่านี้ได้ เขาก็จะสามารถหยิบมาช่วยเพื่อที่จะดูแลความภูมิใจในตัวเอง

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นพ.ประเวช  ตันติพิวัฒนสกุล

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

OTHER