เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.43 5 ข้อที่พ่อแม่ไทยมองข้าม ทำให้ลูกเติบโตอย่างไม่เต็มศักยภาพ

31 ธันวาคม 2020 215 ครั้ง

เรื่องลับเจ้าตัวเล็ก EP.43 5 ข้อที่พ่อแม่ไทยมองข้าม ทำให้ลูกเติบโตอย่างไม่เต็มศักยภาพ

5 ข้อที่พ่อแม่ไทยมองข้าม ทำให้ลูกเติบโตอย่างไม่เต็มศักยภาพ

 

องค์ความรู้ในการดูแลลูกทุกช่วงวัยเพื่อให้เราเป็นพ่อแม่ที่มีความสุข เลี้ยงลูกเพื่อให้ลูกมีความสุขและเติบโตไปอย่างเต็มศักยภาพ เป็นการสรุปรวบรวมองค์ความรู้เพื่อพ่อแม่คนไทยโดยเฉพาะ ฉะนั้นในตำราต่างประเทศจะไม่มีเรื่องต่อไปนี้ เพราะประเทศอื่นก็ไม่ได้มีเรื่องแบบที่เรามี ตำราต่างประเทศเป็นตำราพื้นฐานของการเลี้ยงลูกทั่วโลก แต่เราก็ต้องมาดูตัวเองด้วยว่า เรามีข้อจำกัดตรงไหนและเอามาเน้น และเสริมข้อจำกัดตรงนั้นให้ดีขึ้น เพื่อให้เราดูแลลูกให้เติบโตไปได้ดี ซึ่งมีทั้งหมด 5 เรื่องที่สำคัญมาก แต่เป็น 5 เรื่องที่คนไทยมองข้ามไป ทำให้การสร้างคนของเรามีข้อจำกัด

 

 

5 ข้อที่พ่อแม่ไทยมองข้าม ทำให้ลูกเติบโตอย่างไม่เต็มศักยภาพ

 

1. ความสุขของคนเลี้ยงดู เราจะเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ คนสำคัญคือ “คนเลี้ยงดู” ถ้าคนเลี้ยงดูไม่มีความสุข ไม่มีความมั่นคง ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน ก็เลี้ยงลูกไม่เต็มศักยภาพ ฉะนั้นเราต้องดูแลคนเลี้ยงลูกให้มีความสุข ความมั่นคง เขาจะได้เลี้ยงลูก หรือเด็ก ๆ ได้ดี

 

2. การไวต่อความรู้สึก คนไทยให้ความสำคัญกับความรู้สึกและอารมณ์น้อย แต่กลับมีคำศัพท์เกี่ยวกับความคิดเยอะ ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์ขับเคลื่อนตัวเองด้วยความรู้สึกมากกว่า แต่เรามักไม่ค่อยดูแลความรู้สึก เช่น เห็นเด็กอาละวาดอยู่ ผู้ใหญ่มักควบคุมเพื่อให้หยุดอาละวาด แต่ไม่ให้ความสำคัญกับอารมณ์ที่เขารู้สึกอยู่ ฉะนั้น เราต้องไวต่อความรู้สึกให้มากขึ้น และสอนเด็กให้ไวต่อความรู้สึกตัวเองด้วยเช่นกัน

 

แล้วเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกดี เป็นตัวกำหนดว่าจะสามารถใช้สมองส่วนคิดได้ดีหรือเปล่า คำตอบคือ ถ้าอารมณ์เสีย ความคิดก็ไม่มา ฉะนั้น ถ้าเราอยากให้ลูกคิดได้ มีเหตุผล ต้องไวต่อความรู้สึกก่อน สอนให้ลูกเรียนรู้และพร้อมจะรับมือ

 

3. การฟัง เป็นเรื่องที่คนไทยขาดเยอะ เพราะเราไม่ค่อยฟัง ผู้ใหญ่จะเน้นการสั่งสอน การรับฟังสำคัญ เพราะ เราจะได้เข้าใจเหตุผลของเขา และมีคนฟังเขาอย่างตั้งใจ เขาจะรู้สึกว่าเขามีคุณค่า ภูมิใจ และการฟังให้มาก เพื่อให้ลูกได้พูด เป็นการฝึกสมองส่วนคิดของลูกที่ดีมาก และต่อไปเขาจะเป็นคนภาคภูมิใจในตัวเอง ฟังคนอื่นเป็น และยอมรับความเห็นต่างได้ แต่ถ้าพ่อแม่สั่งอย่างเดียว จะทำให้สมองส่วนคิดไม่ทำงาน 

 

4. การเปิดโอกาสในลงมือทำ การที่เด็กไม่ค่อยได้ทำอะไรเป็นการปิดโอกาสหลายเรื่อง ๆ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกาย การฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก การตัดสินใจอะไรบางอย่าง การที่เด็กได้ทำสิ่งต่าง ๆ ใหม่ ๆ อยู่เสมอ เขาจะต้องเคลื่อนไหว ต้องคิด ต้องตัดสินใจ เพราะต้องใช้มือ ตา และจะเข้าไปสู่สมอง จากนั้นก็จะไปเชื่อมโยงสู่สิ่งต่าง ๆ ฉะนั้น ต้องเปิดโอกาสตามวัยให้ทำสิ่งใหม่ ๆ เสมอ ให้ดูแลตัวเอง ให้ทำงานบ้าน ให้ได้ทำสิ่งใหม่ ๆ 

 

พ่อแม่ต้องลดความเร็วของตัวพ่อแม่เอง เพื่อให้ลูกได้ทำเอง เมื่อลูกทำได้ เขาก็จะได้ความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานต่อยอดในการได้ทำสิ่งต่าง ๆ เมื่อเติบโตขึ้น ถ้าลูกได้ทำแล้วล้มเหลว หรือทำไม่ได้ เขาก็จะได้ทักษะในการดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นเมื่อล้มเหลวหรือผิดหวัง และยังเป็นการเสริมความพยายามด้วย พ่อแม่เป็นผู้สนับสนุน ให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องนี้ เมื่อลูกได้ทำตามศักยภาพตามวัย ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว จะเป็นการวางพื้นฐานลูกทั้งในเรื่องความภาคภูมิใจ ความพยายาม และเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองเมื่อล้มเหลว

 

5. การไม่ผิดหวังในตัวลูก ไม่ใช่เรื่องพฤติกรรม แต่เป็นเรื่องที่เราลุ้นอยากให้ลูกทำให้ได้ เช่น ลูกเป็นเด็ก LD ที่เรียนไม่ได้ แต่เราอยากให้เรียนได้ หรืออยากให้ลูกเรียนตามที่เราอยากเรียน คนไทยมักคาดหวัง ผลักดัน และอยากให้ลูกประสบความสำเร็จในเส้นทางที่พ่อแม่วางไว้หรือคาดหวังไว้ 

 

พ่อแม่คาดหวังได้ ผลักดันได้ เสริมได้ แต่ถ้าลูกทำไม่ได้ พ่อแม่อย่ารู้สึกผิดหวังในตัวลูก เพราะถ้าเราผิดหวัง คือ เราไม่คาดหวังในตัวตนหรือศักยภาพที่ไม่ตรงกับตัวลูกตั้งแต่แรก แทนที่พ่อแม่จะทำให้ลูกภาคภูมิใจ เดินไปได้อย่างมั่นคง แต่ผลจะกลายเป็นว่า เราทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เรื่อง เป็นลูกที่ไม่ดีพอของพ่อแม่ ลูกจะติดกับความผิดหวังในตัวเองที่คนที่เขารักที่สุดส่งมา ทำให้ลูกอาจจะไม่สามารถภาคภูมิใจในตัวเองได้

 

ความคาดหวังของพ่อแม่ อาจจะเป็นในแนวทางการนำเด็กเข้าสู่ประสบการณ์ จากนั้นก็ยอมรับตัวลูกตามประสบการณ์ที่ลูกเป็น ไม่ว่าจะได้เท่าไร บอกลูกว่า “ถ้าเป็นลูกแม่โอเค ถึงแม้จะไม่สำเร็จ ยังไงก็แม่ก็รักลูก” การไม่ผิดหวังในตัวลูกจะทำให้เขามั่นใจในความรักที่พ่อแม่ส่งมาให้ ทำให้ลูกเติบโตไปในทิศทางที่เป็นตัวเองได้อย่างมั่นคง

 

สรุปคาถา 5 ข้อที่พ่อแม่ห้ามมองข้าม 1. มีความสุข 2. ไวต่อความรู้สึก 3. รับฟังความคิด  4. เปิดโอกาสให้ได้ทำ 5. ไม่ผิดหวังในตัวลูก

 

เรามาทบทวนส่งท้ายปี และต้อนรับปีใหม่ด้วยแนวการเลี้ยงลูกที่จะช่วยส่งเสริมให้ครอบครัวมีความสุขกันค่ะ

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ และ นันทิญา จิตตโสภาวดี

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย

นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER