โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.06 สร้างเวลาคุณภาพในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

13 กันยายน 2021 75 ครั้ง

โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย EP.06 สร้างเวลาคุณภาพในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

ได้ยินอยู่บ่อย ๆ กับคำว่า “เวลาคุณภาพ” แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าช่วงเวลาที่เราใช้อยู่กับลูกนั้นคือเวลาคุณภาพ ตัดสินจากอะไร มีเกณฑ์อะไรมาวัด โดดเดี่ยวไม่เดียวดาย อีพี 6 มีคำตอบจากคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว 2 ท่านมาแบ่งปันให้ได้ทราบกันค่ะ

 

คุณใหม่ – วันนี้จะมาพบกับคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว 2 ท่าน พ่อเบียร์ และ แม่ตู่ ในหัวข้อ เวลาคุณภาพสร้างได้ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

 

 

พ่อเบียร์ - พอเราต้อง work from home ในช่วงโควิด เวลาที่อยู่กับลูก ๆ เยอะขึ้นมาก แทบจะ 24 ชั่วโมง เราเลยไม่รู้ว่า เราจะจัดการกับเวลาไหน ยังไงดี เพื่อที่จะให้เวลาที่อยู่กับเขามันมีคุณภาพ แล้วเวลาคุณภาพมันคืออะไร เราจะต้องแบ่งสรรปันส่วนขนาดไหน

 

 

พอเราอยู่ด้วยกันเยอะ ๆ แล้วเครียด ทะเลาะกันบ้าง มีปัญหากันบ้าง บางทีเรารู้สึกว่า เราอยากมีเวลาส่วนตัวบ้าง เราอยากออกมาบ้าง แต่มันไปไหนไม่ได้ มันอยู่บ้านหลังเดียวกัน มองหน้ากันทุกวัน กินข้าวก็เจอกัน นอนก็เจอกัน แล้วสรุปเวลาคุณภาพจริง ๆ มันคือเวลายังไง

 

 

แม่ตู่ - ช่วงนี้ด้วยสถานการณ์โควิด เราต้องอยู่กับลูกตลอดเวลา เพราะเราก็ต้อง work from home ลูกก็ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน เราต้องแบ่งประเด็นกันนิดหนึ่งว่า เราต้องมีเวลาส่วนตัวของเรา และเวลาที่มีกิจกรรมร่วมกันกับลูก ๆ

 

 

เราคงต้องคุยกับลูก ตกลงกันว่า เวลาที่เราจะมีกิจกรรมร่วมกันเป็นช่วงไหน เพราะว่า เวลาช่วงที่ลูกเรียนออนไลน์ เขาก็จ้องอยู่หน้าจอ ส่วนเรา work from home ก็ต้องอยู่หน้าจอเหมือนกัน แต่เราต้องปลีกเวลาออกไปเพื่อจะดูแลลูกในส่วนที่เรียนออนไลน์ด้วยนะ อันนี้สำคัญมากเลย ในเวลาที่ลูกเรียน บางทีเขาอาจไม่ทันคุณครู เราก็จะได้เรียนรู้กับลูก แล้วก็ได้เรียนรู้ถึงคุณครูประจำวิชาด้วย

 

 

คุณใหม่ – แล้วอย่างนี้ได้ไหมคะ ถ้าสมมติเราช่วยสังเกตลูกว่าไม่ไหว ลูกน่าจะเครียด เรียนเยอะเกินไป เราจะเป็นฝ่ายสนับสนุนให้ลูกได้ผ่อนคลายได้ไหม

 

 

แม่ตู่ – เราต้องจัดเวลาที่จะทำกิจกรรมร่วมกัน อาจเป็นเสาร์อาทิตย์ เพราะลูกจะไม่ได้เรียนออนไลน์ เราอาจมีกิจกรรมร่วมกันเป็นงานอดิเรก หรือว่างานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ร่วมกันทำได้ เช่น ทำอาหารกินกัน หรืออาจไปเล่นกีฬาที่ลูกชอบ

 

 

พ่อเบียร์ - แบบไหนที่เรียกว่าเวลาส่วนตัวของเรา คือด้วยความที่เป็นลูกชาย เราก็จะอยู่ด้วยกันตลอด นอนห้องเดียวกัน ไปไหนก็ไปด้วยกัน แม้กระทั่งเวลาที่เราไปนัดเจอเพื่อน ๆ กินข้าว เราก็จะเอาเขาไปด้วย เพราะเรารู้สึกว่า เราอยากให้เขาสนิทกับเรา อยู่กับเราในทุก ๆ เวลา แล้วสรุปเวลาส่วนตัวของเรามันต้องส่วนตัวขนาดไหน หรือว่าเป็นเวลาไหนก็ได้ที่ทำให้เรารู้สึกได้ผ่อนคลายในส่วนของเรา

 

 

แม่ตู่ - เวลาที่เราไปเจอกับเพื่อน ไปทานข้าวกับเพื่อน เราก็อยากเอาลูกไปนะ เห็นด้วย แต่เราต้องถามลูกก่อนว่า เขาอยากไปไหม เขาจะสนุกกับเราไหมที่เราไปทำกิจกรรมแบบนั้น เราต้องดูว่า เขามีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้น ๆ หรือเปล่า

 

 

เพราะอย่างแม่ตู่ก็จะพาลูกไปเหมือนคุณพ่อเบียร์ แต่เราก็จะเลือกเพื่อน เพื่อนจะต้องมีลูกและเอาลูกมาด้วย คือเราต้องมองตรงนี้ด้วยว่า ลูกเราก็จะได้รู้จักกับลูกเพื่อน เขาก็มีเพื่อนเพิ่มขึ้น อาจได้คุยเรื่องการเรียน เรื่องอะไรที่เด็ก ๆ คุยกัน เขาก็จะมีเพื่อนต่างโรงเรียน ต่างเพศเพิ่มขึ้น แล้วเขาก็จะรู้สึกว่า เขามีกิจกรรม พ่อก็คุยกับเพื่อนไป เขาก็ได้มีเพื่อนใหม่ ได้รู้จัก มีปฏิสัมพันธ์ เหมือนเขามีกิจกรรมไม่ใช่ไปนั่งรอพ่อกินข้าว รอพ่อคุยกับเพื่อน หรือพาลูกไปแล้วมีกิจกรรมอะไรให้เขาร่วมทำกับเราไหม มันก็อาจจะเป็นเวลาคุณภาพที่เราให้กับลูกได้อีกรูปแบบหนึ่ง

 

 

พ่อเบียร์ - แล้วขนาดไหนถึงจะเรียกว่าคุณภาพ

 

 

แม่ตู่ - เกณฑ์ที่เราจะมาวัด หรือตัวชี้วัดคุณภาพ มันอาจจะขึ้นอยู่กับ “ความสุขของลูกเราและตัวเรา” จากประสบการณ์ เรารู้สึกว่า พอเราพาลูกไปเจอกับลูกของเพื่อนเรา ซึ่งเป็นครอบครัวเต็ม เขาก็รู้สึกดี หรือเราพาเขาไปทำกิจกรรมจิตอาสา เขาก็รู้สึกว่าตัวเขามีคุณค่า รู้สึกว่าโชคดีนะที่เขาได้เกิดมาถึงจะอยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว แต่เขาก็สามารถที่จะทำความดี ทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้บ้าง ตรงนี้น่าจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่า อันนี้คือคุณภาพในส่วนที่ลูกเรารู้สึกว่า เขาสนุก มีความสุข แล้วเขาก็จะคอยถามว่า แม่เมื่อไรจะไปทำจิตอาสาอีก หรือแม่เมื่อไรจะพาไปเจอกับลูกเพื่อนแม่อีก เขาคงมีความสุข เราก็สังเกตจากในส่วนที่เขาสอบถามกลับมา

 

 

พ่อเบียร์ - อันนี้ดีมาก เพราะว่า เราเองก็คิดว่า เราให้เวลาลูกแล้ว เราให้เวลากับครอบครัว เราให้เวลากับที่บ้านแล้ว เรามีเวลาให้แล้ว แต่เราไม่ได้รู้เลยว่า เวลาที่เราให้ไป เขาหรือเรามีความสุขหรือเปล่า อาจจะให้ไปแล้วเราก็คิดว่าเขามีความสุข แต่จริง ๆ ตัวเองก็ไม่ได้มีความสุข เพราะเราเหมือนแค่ให้เวลาไปเพราะต้องให้ แต่พอได้ยินแม่ตู่พูดแบบนี้ก็เข้าใจ ชัดเจนมากว่า จริง ๆ คุณภาพหรือไม่คุณภาพ มันวัดที่ความสุขของลูกและของเรา

 

 

แม่ตู่ - ใช่ค่ะ เพราะว่าเราต้องมุ่งประเด็นไปที่ลูกเราก่อนว่า ลูกเรามีความสุขมากน้อยแค่ไหน แล้วเราก็มีความสุขด้วยในกิจกรรมที่ลูกมีความสุข เรารู้สึกว่า เราสร้างได้ แต่เราต้องดูว่า ลูกเราชอบกิจกรรมแบบไหน ประเภทไหนบ้าง เราถึงจะดูแลในส่วนนี้ได้

 

 

พ่อเบียร์ - อันนี้จริง ๆ ไม่ได้แค่ใช้กับเรื่องของเวลา มันน่าจะใช้ได้กับหลาย ๆ เรื่อง เพราะว่าตอนนี้ พอพูดถึงเรื่องความสุขของเราและความสุขของลูก มันกลายเป็นทำให้เราได้เห็นภาพหลาย ๆ อย่างเข้ามาในหัวเลยว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องของเวลาอย่างเดียว แต่มันรวมไปถึงเรื่องอื่นด้วย อันนี้ถือว่าเป็นอะไรที่ดีมาก ๆ

 

 

คุณใหม่ - จริง ๆ วันนี้เราพูดถึงเวลาคุณภาพสร้างได้ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว เท่าที่จับได้เราพูดถึงเรื่องของเวลาส่วนตัวกับเวลาของลูก แม่ตู่บอกว่า ลองหากิจกรรมที่ตัวเองชอบทำ ถ้าพี่ใหม่มอง จริง ๆ เวลาส่วนตัว เราก็ลองเลือกว่า ตอนนี้ถ้าเราเครียดแล้ว เราไม่สามารถที่จะเอาลูกไปได้ เราขอเวลาส่วนตัว คล้าย Time Out ตัวเองบางอย่างที่จะออกไปจากสถานการณ์นั้นให้เรารู้สึกผ่อนคลายและรับมือกับความเครียดโดยที่ไม่มีผลกระทบกับคนอื่น แล้วก็หาเวลาผ่อนคลาย พ่อเบียร์อาจต้องไปลองดูว่าเวลาไหนที่เรารู้สึกว่า เวลานี้อยากผ่อนคลายโดยที่ไม่มีลูก ยกเว้นว่า เวลาส่วนตัวแล้วมีลูกอยู่ แล้วมีความสุข นี่ก็อีกหนึ่งประเด็น

 

 

อันที่สอง เวลากับลูก จะรู้ได้ยังไงว่าเป็นเวลาคุณภาพ แม่ตู่บอกว่า 1. เวลาคุณภาพสร้างได้ โดยให้ความสำคัญกับลูก ให้ลูกรู้สึกว่าเขามีคุณค่า 2. เป็นกิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุข 3. มันน่าจะมีบรรยากาศที่ดีระหว่างเรากับลูก

 

 

จริง ๆ ลองถามทั้งสองท่านว่า เวลาคุณภาพมันควรจะนานไหม จำเป็นต้องทั้งวันไหม หรือว่าไม่จำเป็น

 

 

แม่ตู่ - เวลาจะมากน้อยไม่สำคัญนะ แต่ว่าความสุขของเรากับลูกมันมีมากน้อยแค่ไหน

 

 

พ่อเบียร์ - น่าจะคล้าย ๆ กัน เพราะบางช่วงเวลาที่มีความสุขกับตรงนั้นมันอาจจะเป็นแค่ช่วงสั้น ๆ แต่ความรู้สึกของความสุขมันยังอยู่อีกนานเลย ก็เลยคิดว่า จริง ๆ เวลามันไม่ได้สำคัญว่าจะมากหรือน้อย แต่มันไปสำคัญที่ว่า ความสุขที่เราสร้างให้มันเกิดขึ้นมันมีมากแค่ไหนมากกว่า

 

 

คุณใหม่ – วันนี้เราพอจะสรุปได้เลยว่า เวลาคุณภาพจริง ๆ ตามหลักมันก็เป็นอย่างนั้น คือ ไม่ต้องใช้เวลานาน บางบ้านอาจจะใช้เวลา 5-10 นาที เราก็ทำให้มีคุณภาพได้ เช่น ให้ความสำคัญกับคนตรงหน้าเรา คือลูก เป็นเวลาที่มีความสุข ในบรรยากาศที่ดี แต่ถ้าสมมติเราต้องพาเขาไปเจอคนข้างนอก แล้วก็ทำให้เขามีความสุขได้ คือ เขามีเพื่อนวัยไล่เลี่ยกัน ไปทำกิจกรรมด้วยกัน แล้วกิจกรรมนั้นลูกน่าจะชอบด้วย

 

 

สุดท้ายแล้ว อยากถามพ่อเบียร์กับแม่ตู่ว่าวันนี้ได้เรียนรู้อะไร แล้วอยากฝากอะไรถึงคุณผู้ฟัง

 

 

พ่อเบียร์ – สุดท้ายแล้วเวลาของเราจะมีมากหรือมีน้อย การให้เวลากับลูกมันคือการให้สิ่งที่มีค่าอีกสิ่งหนึ่ง แล้วยิ่งเป็นเวลาที่มีความสุขของเรากับลูกมันก็ยิ่งมีค่ามาก ๆ เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็อยากมีเวลากับลูก เพียงแต่ว่า เราเองอาจยังไม่รู้ว่า เวลาที่เราควรให้เขา มันควรเป็นแบบไหน พอได้ฟังจากที่เราคุยกัน หลายคนอาจเห็นภาพแล้วว่า เราจะสร้างเวลาคุณภาพที่มีความสุขให้เรากับลูกได้ยังไง เป็นกำลังใจให้กับทุกคน ให้กับทุกครอบครัวมีเวลาที่มีคุณภาพนะครับ

 

 

แม่ตู่ - เวลาคุณภาพสำคัญเพราะคนตรงหน้าเราคือลูกเรา ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกครอบครัว ให้มีความสุขกับเวลาคุณภาพที่เรามีให้กับลูกค่ะ

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ฐาณิชชา ลิ้มพานิช

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

 

 

OTHER