Mom Gen 2 EP.54 ลูกวัยรุ่น วัยก้าวร้าว

11 สิงหาคม 2021 234 ครั้ง

Mom Gen 2 EP.54 ลูกวัยรุ่น วัยก้าวร้าว

เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่หลายครอบครัวมักบอกว่า ลูกไม่เหมือนเดิม ลูกก้าวร้าวขึ้น ชอบเถียงคำไม่ตกฟาก สาเหตุที่ลูกเป็นแบบนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วลูกวัยรุ่น ยิ่งโตยิ่งก้าวร้าวจริงหรือ มาหาคำตอบได้ใน Mom Gen 2 EP.54  ลูกวัยรุ่น วัยก้าวร้าว !

 

ลูกวัยรุ่น วัยก้าวร้าว จริงหรือ?

 

 

เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นแล้วมีอาการก้าวร้าว ไม่ใช่เพราะพ่อแม่เลี้ยงไม่ดี หรือลูกนิสัยไม่ดีเสมอไป แต่ส่วนหนึ่งมาจากพัฒนาการตามช่วงวัยของลูกที่เริ่มประมวลทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล เริ่มอยากรู้ อยากลอง อยากท้าทาย

 

 

เป็นช่วงที่สมองเติบโตเต็มที่บวกกับฮอร์โมน ทำให้อารมณ์และความคิดของลูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลูกรับรู้ว่าตัวเองกำลังจะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น  เพราะฉะนั้น ลูกจะมีความเชื่อ และสนใจตัวเองมากขึ้น ภาษาทางวิชาการเรียกว่า Ego Centric

 

 

ส่วนพฤติกรรมก้าวร้าว หรือการกระทำที่มุ่งให้ผู้อื่นเจ็บตัวหรือเจ็บใจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลัง คำพูด หรือการทำลายข้าวของ พฤติกรรมเหล่านี้เป็นขั้นหนึ่งของพัฒนาการ ซึ่งต้องได้รับการขัดเกลาเพื่อให้ลูกแสดงพฤติกรรมอย่างเหมาะสม จะได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักควบคุมอารมณ์และไม่ก้าวร้าว

 

 

ตามหลักจิตวิทยา ช่วงวัยรุ่น ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นเรื่องปกติที่วัยรุ่นอยากจะแสวงหา อยากรู้ อยากเห็น อยากทดลอง เลยเถิดไปถึงความคึกคะนอง เขาต้องการประสบการณ์ต่าง ๆ ด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่ประสบการณ์ที่พ่อแม่บอกว่าต้องทำอะไร

 

 

ซึ่งบางครั้งเป็นประสบการณ์ที่ต้องการต่อต้านกฎเกณฑ์เดิม ๆ บางทีลูกก็อยากแหกกฎ ตอนที่ลูกยังเล็กอยู่ พ่อแม่มีกฎกติกาแบบไหน พอโตขึ้นก็ต้องปรับเปลี่ยนกฎกติกาตามพัฒนาการช่วงวัย หรือตามยุคสมัยของลูกด้วย

 

 

วัยที่สมองของลูกทำงานเต็มที่ ถ้าเขาจะคิด อ่าน ตั้งคำถาม ต่อต้านบ้าง นั่นเป็นช่วงวัยของเขา สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ ประคับประคองให้ผ่านพ้นไป ไม่ให้คึกคะนองจนเกินเหตุ

 

 

 

ทำอย่างไรเมื่อลูกก้าวร้าว

 

 

-  ทำความเข้าใจ

 

ยิ่งเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น “ความเข้าใจ” เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรมีให้กับลูก พยายามทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นว่าเป็นวัยที่เด็กกำลังเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อาจมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่ายเป็นเรื่องปกติ เหมือนพ่อแม่ที่กำลังเข้าสู่วัยทอง หรือช่วงที่คุณแม่มีประจำเดือน เราก็ยังอยู่ในสภาพที่มีอารมณ์แปรปรวนเช่นกัน

 

 

-  จัดการอารมณ์พ่อแม่ก่อน

 

พ่อแม่ต้องพยายามจัดการอารมณ์ตัวเองก่อน เมื่อลูกแสดงอารมณ์ หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว พยายามทำให้บรรยากาศเข้าสู่ภาวะปกติให้ได้เร็วที่สุด เพื่อที่จะสื่อสารว่า ลูกต้องการอะไร ถ้าพ่อแม่สามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้เสมอ ๆ ลูกจะค่อย ๆ ซึมซับ และค่อย ๆ ลดอารมณ์ลงไปด้วย

 

 

-  ให้เวลาลูกสงบสติอารมณ์

 

การให้เวลาลูกได้สงบสติอารมณ์ในบรรยากาศที่สงบจะช่วยให้ลูกจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ พ่อแม่ต้องค่อย ๆ สื่อสารว่า อยากให้ลูกสงบสติอารมณ์ก่อน เมื่อลูกสามารถควบคุมอารมณ์ได้ก็ค่อยสอบถามความรู้สึกของลูก การพูดคุยในสภาพอารมณ์ปกติ จะหาทางออกร่วมกันที่ดีกว่า แล้วค่อยมาหาข้อตกลงร่วมกัน เช่น แม่ไม่อยากให้ลูกมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ฉะนั้นต่อไปนี้พ่อแม่ควรทำอย่างไร แล้วลูกควรทำอย่างไร ที่จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมนั้น ๆ ทำอย่างไรจึงจะสามารถพูดคุยกันได้ โดยไม่มีการตำหนิหรือใช้อารมณ์

 

 

เมื่อเคลียกันแล้วควรจะต้องมีใครขอโทษใครไหม การขอโทษสามารถทำได้ทั้งสองฝ่าย แม่ก็อาจเริ่มต้นก่อนเช่น ขอโทษที่แม่ขึ้นเสียงดังมากเกินไป แม่ไม่ใช้เหตุผลมากเกินไป ลูกก็อาจขอโทษแม่ที่ทำเกินไป ที่ขึ้นเสียงกับแม่ การเริ่มต้นของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ได้ทำให้เกิดการเสียหน้า แต่การเริ่มต้นของใครคนใดคนหนึ่ง คือการโน้มตัวลงเพื่อจะทำให้เกิดความเข้าใจ และสื่อสารกันด้วยดี

 

 

ครอบครัวและคนใกล้ชิดมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อสภาวะจิตใจของเด็กวัยรุ่น ความรัก ความเข้าใจเยียวยาได้ทุกอย่าง เน้นย้ำว่า อย่าเหมารวมว่า ลูกวัยรุ่นต้องเป็นวัยก้าวร้าวเท่านั้น ทุกช่วงวัยมีช่วงของการเปลี่ยนผ่าน มีฮอร์โมนของร่างกายที่พลุ่งพล่าน ยิ่งลูกเข้าสู่วัยทีน เราก็กำลังเข้าสู่วัยทอง เมื่อฮอร์โมนเปลี่ยนทั้งสองช่วงวัย พ่อแม่เป็นผู้ใหญ่กว่า ก็ต้องเสียสละ เพราะสุดท้ายแล้วไม่ใช่เพื่อใคร แต่ว่าเพื่อครอบครัวของเราเอง

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER