Money and the Family EP.08 ตั้งสติ จัดการหนี้ จากมาตรการเยียวยาต่างๆ

28 เมษายน 2020 95 ครั้ง

Money and the Family EP.08 ตั้งสติ จัดการหนี้ จากมาตรการเยียวยาต่างๆ

ในช่วงวิกฤติโควิด หลายคนน่าจะกำลังประสบปัญหาเรื่องหนี้สิน ใครมีหนี้ในช่วงเวลาแบบนี้ก็จะเหนื่อยเป็นพิเศษ วันนี้จึงมาแนะนำช่องทางในการจัดการหนี้

การบริหารเงินในภาวะวิกฤติหัวใจสำคัญที่สุด คือ สภาพคล่อง พูดง่าย ๆ คือ พยายามจัดการให้เรามีเงินอยู่เสมอ อย่าใช้จ่ายหรือจ่ายเงินออกไปแบบที่ไม่ได้วางแผน รายจ่ายตัวไหนสามารถพักไว้ก่อนได้ก็อย่าเพิ่งจ่ายออกไป ถ้าอะไรที่พอเจรจาได้ก็อยากให้ลองเจรจาดู

 

สำหรับคนที่เป็นหนี้ในสถาบันการเงิน ช่วงเวลาที่ผ่านมา น่าจะได้ยินเรื่องของมาตรการเยียวยา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยออกเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำในการช่วยบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในการลดค่าใช้จ่ายจากหนี้ ลดภาระผ่อนจากหนี้รายเดือนเพื่อเติมสภาพคล่อง 

 

สมมติ ถ้าเราต้องผ่อนบ้านเดือนละ 20,000 บาท แล้วเราเลือกหยุดพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไปก่อน เก็บ 20,000 บาทไว้กินไว้ใช้ ก็จะพอที่จะประทังหรือรักษาสภาพคล่องของเราในช่วงเวลาแบบนี้ได้เป็นอย่างดี

 

หลายท่านอาจทราบอยู่แล้วว่า การที่ธนาคารให้พักเงินต้นแล้วก็พักชำระดอกบี้ย ไม่ได้หมายความว่าดอกเบี้ยจะหยุด ดอกเบี้ยยังคงเดินไปต่อ แต่การคิดดอกเบี้ยในช่วงเวลาแบบนี้ ซึ่งเรายังไม่ได้จ่ายนั้น จะนำไปต่อท้ายในช่วงสุดท้าย สัญญากู้ยืมจะยาวแค่ไหน ไปจัดการกันในช่วงนั้น หรือพ้นช่วงผ่อนผันก็อาจมีการเจรจาอีกที เราสามารถเจรจาได้ทุกจังหวะ

 

เรื่องทางการเงิน สามารถเจรจาได้ตลอดเวลา ทางที่ดีควรเจรจาในช่วงที่เรายังมีอำนาจต่อรอง หรือมีความสามารถในการเจรจา ความหมายคือ ควรจะเจรจาเมื่อเราเห็นแล้วว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเกิดปัญหาทางการเงิน หรืออย่างน้อยสั้น ๆ เดือนข้างหน้าก็ยังดี แล้วคุยในตอนที่เครดิตด้านการเงินยังไม่มีปัญหา เพราะถ้าไปคุยตอนเครดิตการเงินมีปัญหา อะไรก็เจรจายากทั้งสิ้น พอผิดนัดชำระ เป็นหนี้เสีย เราก็จะลำบาก

 

ตอนนี้ถ้าพอจะบริหารจัดการเงินได้ สามารถจ่ายไหว ไม่ติดปัญหาใด ๆ แนะนำให้เลือกจ่ายแบบปกติไปก่อน แต่ถ้าไม่ไหว การจ่ายปกติไปกระทบกับสภาพคล่อง ตัวเลือกที่ดีเป็นอันดับ 2 คือ จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย เพราะการจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยจะเป็นการพักเงินต้นแต่ว่าจะไม่มีภาระดอกเบี้ยที่ต้องมาเคลียกันภายหลัง ทีนี้บางคนอาจมีปัญหาในการพักเงินต้นแล้วจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย เพราะว่าบางคนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนใกล้เคียงกับค่างวดมาก การพักในส่วนเงินต้นแล้วจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย จึงไม่ทำให้สภาพคล่องดีขึ้นเท่าไหร่ แบบนี้ควรจะปรับ แล้วเลือกพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยด้วยเลย เพื่อรักษาสภาพคล่อง

 

**จำไว้เลยว่า การรักษาสภาวะทางการเงิน หรือการบริหารจัดการเงินในช่วงโควิดหรือช่วงวิกฤติใด ๆ ก็ตาม หัวใจสำคัญคือการมีสภาพคล่อง เก็บเงินไว้กับมือให้ได้นานที่สุด แล้วจ่ายตามความจำเป็นเท่านั้น**

 

ในช่วงที่ผ่านมามีการบ่นกันพอสมควรเรื่องการติดต่อสถาบันการเงิน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเลยดำเนินการสร้างช่องทางในการติดต่อระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ซึ่งช่องทางนี้ไม่ใช่เฉพาะผู้ใช้สินเชื่อที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ผู้ใช้สินเชื่อหรือลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลหรือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ก็ใช้ได้ด้วย เรียกช่องทางนี้ว่า “ทางด่วนแก้หนี้” ดำเนินงานโดย ศคง. หรือ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินแห่งธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นคนดูแลและประสานกับผู้ที่เป็นหนี้ทุกท่าน สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 1213 หรือติดต่อทางเว็บไซต์ โดยเข้าไปที่ google แล้วพิมพ์คำว่า ทางด่วนแก้หนี้ ก็จะเจอเว็บไซต์ แล้วก็จะมีช่องทางให้ติดต่อ 

 

เมื่อไปที่หน้าแรก กดคำว่าตกลง ข้างในนั้นจะมีข้อมูลให้กรอก ขอติดต่อในนามบุคคลธรรมดา นามบริษัท กรอกเลขประจำตัวประชาชน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคล เบอร์โทร กรอกให้เรียบร้อย แล้วก็อยากจะประสานเรื่องหนี้กับธนาคารใดมีทุกธนาคาร ไม่เพียงแต่ธนาคารเท่านั้น ยังมีสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารด้วย มีการให้ระบุชัดเจนว่า ค้างในส่วนรายการใด บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เช่าซื้อ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ อันนี้ได้หมดเลย รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ใช้บริการของสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นขนาดกลางและขนาดย่อม sme ต่าง ๆ รวมไปถึงหนี้สินประเภทอื่น ๆ ถ้านอกเหนือจากที่ระบุไว้ก็สามารถกรอกรายละเอียดได้เลย

 

ช่องทางหรือแนวทางในการเจรจามีเยอะแยะมาก เกณฑ์ที่เรารู้กันส่วนใหญ่ก็เป็นพักเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ย พักทั้งต้นทั้งดอกเบี้ย หรือจะเป็นขอยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ พักชำระเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย ยกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ย ผิดนัดชำระหนี้ ต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม ตรงนี้ก็เป็นประโยชน์สำหรับใครที่ทำธุรกิจ เปลี่ยนประเภทหนี้เพื่อให้ดอกเบี้ยถูกลง ปิดชำระหนี้เร็วขึ้น แล้วก็รีไฟแนนซ์เพื่อปิดสินเชื่อเดิม ช่องทางมีอยู่เยอะมาก กรอกข้อมูลเสร็จก็กดส่งข้อมูลไป เดี๋ยวทางทีมงานของทางด่วนแก้หนี้จะติดต่อและประสานระหว่างเรากับเจ้าหนี้ของเราให้ ทั้งนี้ การเจรจาต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการทางการเงินหรือสถาบันการเงินที่เราติดต่อ โดยหนึ่งสถาบันการเงินที่ใช้บริการสินเชื่อก็กรอกหนึ่งแบบฟอร์ม แต่ถ้ามีหลายรายการในหนึ่งสถาบันการเงิน เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ก็กรอกฟอร์มเดียว จบในฟอร์มเดียว 

 

สำหรับกรณีที่กลายเป็นหนี้เสียไปแล้ว คือ ไม่ชำระเงินมาแล้วอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป แบบนี้ควรติดต่ออีกที่หนึ่ง คือ “คลินิกแก้หนี้” เข้าไปที่ google พิมพ์คำว่า คลินิกแก้หนี้ ตรงนี้จะรับติตด่อและปรับโครงสร้างการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คลินิกแก้หนี้ จะช่วยในเรื่องของบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ถ้าไม่ได้ชำระตามเงื่อนไขไปแล้ว 3 เดือน ก็สามารถติดต่อให้คลินิกแก้หนี้เป็นคนประสาน เป็นตัวกลางได้ 

 

การชำระถือว่าค่อนข้างเบามาก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด มีวงหนี้อยู่ประมาณ 100,000 บาท ถ้าเข้ามาทำที่คลินิกแก้หนี้ คลินิกจะเป็นตัวกลางเจรจากับบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ของคุณ วงหนี้ 100,000 บาท ส่ง 1,200 บาทต่อเดือน ถือว่าเบามาก ช่วยผ่อนคลายเรื่องสภาพคล่องได้ดี 1,200 บาท ตัดทั้งต้นและดอกเบี้ย ตอนที่ยังไม่เข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ ดอกเบี้ยบัตรเครดิตอาจจะ 18 % สินเชื่อส่วนบุคคล 24 %  บัตรกดเงินสด 24-28 % มาอยู่ตรงนี้จะเหลือแค่ 4-7 % ต่อปี และให้ผ่อนยาวได้ 10 ปี จะปิดโปะก่อนก็ได้ แล้วถ้าส่งครบตามสัญญาไม่มีผิดเงื่อนไขก็จะได้รับการยกในส่วนของดอกเบี้ยปรับทั้งหมดให้เลย

 

คลินิกแก้หนี้ สามารถช่วยในกรณีที่ บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด แล้วก็สินเชื่อส่วนบุคคลผิดนัดชำระ ไปจนถึงมีหมายศาลบังคับเป็นคดีก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้

 

นี่ก็เป็นแนวทางที่หยิบมาฝากกัน เพื่อให้จัดการกับเรื่องหนี้สิน วันนี้ถ้าเกิดคุณได้รับผลกระทบทางการเงินจากวิกฤติโควิด แล้วชำระหนี้ไม่ไหว หรือการชำระหนี้จะเป็นการดึงเงินสดออกจากมือเร็วและทำให้มีความเสี่ยงต่อสถานะทางการเงินในอนาคต แนะนำ ถ้าเครดิตทางการเงินยังพอได้ เข้าไปที่ google พิมพ์คำว่า “ทางด่วนแก้หนี้” แต่ถ้าการเงินของคุณมีปัญหาแล้วเป็นหนี้เสียตั้งแต่ก่อน 1 ม.ค. 2563 (ใครที่เป็นหนี้เสียหลังจากนั้นรออีกนิดนึง) ไม่ว่าจะเพิ่งเสียไป 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือนไม่ได้จ่าย ไปจนถึงมีหมายศาลมาที่บ้านหรือไปถึงบังคับคดีแล้ว ให้พิมพ์คำว่า “คลินิกแก้หนี้” ใน google ทั้ง 2 ช่องทางนี้เชื่อว่าน่าจะเป็นช่องทางที่ช่วยให้คุณสามารถแก้ปัญหาแล้วก็ผ่านพ้นปัญหาไปได้

 

ย้ำและจำไว้เลยว่า ปัญหาทางการเงินทุกปัญหาแก้ได้เสมอ เพราะฉะนั้นอย่าคิด หรืออย่าตัดสินใจทำอะไรที่ไม่ดีกับตัวเอง ไม่มีปัญหาทางการเงินใดแก้ไม่ได้ ถ้าเรายังสู้อยู่ หวังว่าช่องทางที่นำมาเล่าในวันนี้จะสามารถช่วยเหลือทุก ๆ คนได้ เป็นกำลังใจให้ทุกคนเข้มแข็ง แล้วก็ผ่านปัญหาทางการเงินในช่วงวิกฤติโควิดไปได้ด้วยดี

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  จักรพงษ์ เมษพันธุ์

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER