Open house Open world EP.05 เหตุผลที่ควรสนับสนุนให้ลูกเรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก

26 พฤษภาคม 2021 137 ครั้ง

Open house Open world EP.05 เหตุผลที่ควรสนับสนุนให้ลูกเรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก

คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังคิดว่าจะให้ลูกเรียนดนตรีดีหรือเปล่า เรามีคำตอบมาฝากกันใน Open house Open world EP.05 เหตุผลที่ควรสนับสนุนให้ลูกเรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก

การให้ลูกได้เรียนดนตรีตั้งแต่เล็ก ๆ ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองของน้อง ๆ อย่างมาก ซึ่งสถาบันสมองและความคิดสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัย Southern California ในสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาเรื่องนี้ เมื่อปี 2016 และพบว่า การให้ลูกได้เรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก สามารถเร่งพัฒนาการทางสมองได้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ด้านภาษาและทักษะการอ่าน

 

 

นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า การเรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ ส่งผลให้การเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ดีขึ้น และยังส่งผลให้คะแนน SAT ที่วัดความถนัดวิชาเลขกับภาษาอังกฤษ ที่นำไปใช้ยื่นเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ มีคะแนนสูงขึ้นด้วย

 

 

การเรียนดนตรีตั้งแต่เด็ก ๆ ไมได้แค่ส่งผลต่อเรื่องการเรียนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาทักษะในทุกด้าน เพื่อให้ลูกพร้อมสำหรับการเรียนหนังสือในโรงเรียนด้วย ทั้งด้านสติปัญญา, การเข้าสังคม, การใช้ภาษา และการเสริมสร้างความจำ

 

 

ที่สำคัญ การเรียนดนตรียังช่วยให้เด็กได้ฝึกทั้งการแสดงออก และการแสดงอารมณ์ ได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ได้เพิ่มทักษะในการสื่อสาร ได้เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และฝึกการทำงานร่วมกับคนอื่นด้วย

 

 

พูดถึงเหตุผลดี ๆ ของการให้ลูกฝึกเรียนดนตรีกันตั้งแต่เล็ก ๆ ไปแล้ว มาดูประโยชน์ที่คาดไม่ถึงของการเรียนดนตรีกันบ้าง ซึ่งข้อมูลที่ Open House Open World นำมาฝากกัน อ้างอิงมาจากสถาบันสุขภาพของอเมริกา

 

 

นอกจากการเรียนดนตรีจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจของลูกได้แล้ว ประโยชน์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การฝึกเรื่องความมีวินัย และความอดทนให้กับลูก ๆ เพราะการเล่นดนตรีใช่ว่าจะเก่งกันได้แค่เวลาเพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้องการอาศัยเวลาในการฝึกฝนด้วย

 

 

การที่ลูก ๆ ต้องใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปีในการฝึกฝนก่อนจะเล่นดนตรีชิ้นใดได้อย่างชำนาญ จึงเท่ากับเป็นการฝึกเรื่องความรับผิดชอบในการฝึกซ้อม และฝึกความอดทนไปในตัว เพราะถ้าไม่มีวินัยก็ไม่มีวันสำเร็จได้

 

 

เมื่อต้องตั้งใจเรียน ตั้งใจฝึกฝนในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ต้องใช้สมาธิกับสิ่งนั้น ๆ เพื่อจะได้จดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ จึงส่งผลให้เป็นเด็กที่มีสมาธิ สามารถจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานยิ่งขึ้น ซึ่งการฝึกฝนดนตรียังช่วยเพิ่มทักษะด้านการจดจำให้ดีขึ้นด้วย

 

 

ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มการทำงานของสมอง ทำให้โครงสร้างของสมองมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และจากการอ้างอิงผลการศึกษาที่เกี่ยวกับประสาทวิทยายังพบว่า การเรียนดนตรีช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทใหม่ได้ด้วย 

 

 

นอกจากนี้ ก็ยังได้พัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ไปพร้อม ๆ กัน เพราะต้องฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีม เมื่อเรียนดนตรีด้วยกัน หรือเล่นพร้อมกันเป็นวง ทำให้ต้องมีการปรับตัว ปรับอารมณ์ให้เข้ากับคนอื่นด้วย 

 

 

ถ้าถามว่าควรจะให้ลูกเริ่มเรียนดนตรีตอนอายุเท่าไรดีถึงจะได้ผลมากที่สุด การเรียนดนตรีก็เหมือนกับการเรียนภาษาต่างประเทศ เริ่มได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดี  โดยที่ผ่านมามีผลการศึกษาหลายชิ้นที่พบว่า ในช่วงที่เด็กอยู่ในท้องของคุณแม่ พวกเขาสามารถได้ยินเสียงต่าง ๆ ตั้งแต่ยังมีอายุครรภ์แค่ 18 สัปดาห์ และจะเริ่มมีความไวต่อเสียงมากขึ้นเมื่อมีอายุครรภ์ได้ 24 สัปดาห์ หรือประมาณ 6 เดือน ซึ่งช่วงนั้นเด็กจะสามารถเอี้ยวศีรษะไปตามทิศทางของเสียงที่ได้ยินได้

 

 

โดยผลการศึกษาเมื่อปี 2013 ยังพบด้วยว่า การได้ยินเสียงเพลงตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ จะช่วยสร้างความคุ้นเคยให้กับลูกได้ จากการทดลองเปิดเพลงที่ทารกเคยได้ยินตอนที่คุณแม่ตั้งครรรภ์อยู่ ปรากฏว่า เพลงเดิม ๆ ที่คุ้นเคยช่วยให้ทารกน้อยมีอาการสงบขึ้นด้วย

 

 

เช่นเดียวกับการที่คุณแม่ร้องเพลงในขณะที่ฟังดนตรี ลูกน้อยในครรภ์ก็จะคุ้นเคยกับเสียงเพลงและท่วงทำนองดนตรีที่คุณแม่ร้องด้วย ซึ่งคุณหมอแนะนำว่า เสียงของแม่จะส่งผ่านไปถึงลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการใส่หูฟังหรือครอบหูฟังไว้ที่หน้าท้อง ซึ่งอาจจะมีเสียงที่ดังเกินไปจึงควรหลีกเลี่ยงมากกว่า  และถ้าจะเปิดเพลงให้ลูกฟังผ่านลำโพง เสียงก็ไม่ควรดังเกิน 50-60 เดซิเบลด้วย

 

 

หากจะให้ลูกเริ่มเรียนดนตรีก็สามารถเริ่มได้เลยตั้งแต่อายุแค่ 6-8 เดือน แต่ต้องมีคุณแม่ร่วมเรียนไปด้วยกันด้วย ซึ่งคลาสเรียนส่วนใหญ่ก็จะใช้เวลาในการเรียนแต่ละครั้งไม่นานนัก แค่ประมาณ 30-40 นาที แต่ส่วนใหญ่บ้านเรามักจะรอให้โตกว่านี้อีกหน่อย ซึ่งอายุ 3-4 ขวบ ถือเป็นวัยที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มเรียนดนตรี โดยสามารถปล่อยลูกให้อยู่กับคุณครูแบบตัวต่อตัวได้ ไม่ต้องมีคุณพ่อหรือคุณแม่นั่งเรียนอยู่ด้วย

 

 

ส่วนอายุ 5 ขวบขึ้นไป เป็นวัยที่สามารถเรียนดนตรีเป็นกลุ่ม หรืออยู่ในห้องเรียนที่มีเด็ก ๆ หลายคนได้ โดยเครื่องดนตรีที่ดีที่สุดสำหรับการเริ่มต้นคือ เปียโนหรือคีย์บอร์ด ที่สามารถปรับให้เข้ากับการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนได้

 

 

เหตุผลสำคัญที่ควรให้เริ่มจากเปียโนหรือคีย์บอร์ดก่อน เพราะว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ไม่ต้องถือหรือต้องใช้ร่างกายในการประคองเอาไว้ ทำให้ไม่มีอุปสรรคในการเรียนสำหรับเด็กที่ยังตัวเล็ก ๆ อยู่ และเพียงแค่กดแป้นเปียโนก็มีเสียงเพราะ ๆ ออกมาแล้ว จึงเป็นการดึงดูดความสนใจของเด็กได้ และทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้เมโลดี้และท่วงทำนองของเพลงได้ง่ายขึ้น

 

 

แต่ถ้าอยากให้ลูกเรียนเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ เช่น กีตาร์ กลอง หรือแซ็กโซโฟน อายุที่เหมาะสมคือ 7 ขวบขึ้นไป  ซึ่งการได้เริ่มพื้นฐานจากการเรียนเปียโนก่อนอย่างน้อย 6 เดือน-1 ปี จะพบว่าการเรียนรู้เครื่องดนตรีใหม่ ๆ สามารถทำได้ง่ายและเร็วขึ้นมาก

 

 

ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้ลูกเรียนร้องเพลง อาจจะต้องรอสักอายุ 11-12 ปี เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะที่กำลังโตเป็นวัยรุ่นก็จะส่งผลต่อเสียงของเด็ก ๆ ที่เปลี่ยนไปด้วย และการเรียนรู้เทคนิคการร้องเพลงตั้งแต่อายุน้อย ๆ อาจจะเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับพวกเขาด้วย

 

 

ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องดูความสนใจของลูกด้วยว่า เครื่องดนตรีอะไรที่ลูกชอบมากที่สุด  ถ้าลูกต้องเรียนเพราะถูกบังคับให้เรียนก็จะทำให้ไม่สนุกกับการเรียน จึงต้องให้พวกเขาได้มีสิทธิ์เลือกเองด้วยว่าอยากเรียนอะไร เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความสนใจที่แตกต่างกันไป  สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือให้ลูกได้ลองเครื่องดนตรีที่หลากหลาย และดูว่าอะไรดึงดูดความสนใจของพวกเขาได้มากที่สุด เพื่อจะได้ส่งเสริมลูก ๆ ให้เล่นดนตรีนั้น ๆ อย่างเต็มที่

 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  นรกมล ดิษยบุตร

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ถอดเทปเสียง: นรกมล ดิษยบุตร

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER