Save teen EP.04 บอกว่าฉันน้อยใจได้ยินไหม

13 สิงหาคม 2021 20 ครั้ง

Save teen EP.04 บอกว่าฉันน้อยใจได้ยินไหม

Q : ทำไมพ่อแม่รักพี่มากกว่า ชอบตามใจพี่ยังไม่เท่าไร แต่ทำไมชอบเอาตัวเราไปเปรียบเทียบกับพี่เหลือเกิน ? มีเรื่องที่ทำให้น้อยใจขนาดนี้ จะมีทางออกอย่างไรให้ได้บ้าง มาฟังคำแนะนำดี ๆ จาก คุณกุ้ง ชลธิชา แย้มมา นักจิตวิทยา จากกรมสุขภาพจิต ได้ใน Save teen EP.04 บอกว่าฉันน้อยใจได้ยินไหม

 

A : อยากให้เข้าใจก่อนว่า อิทธิพลที่มีผลต่อความสัมพันธ์ของพี่น้อง คือ วิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ นอกจากนี้ ลำดับการเกิด บุคลิกภาพของพ่อแม่ บุคลิกภาพของลูก สิ่งแวดล้อมภายนอก ก็มีผลต่อเรื่องความสัมพันธ์ค่อนข้างมากเหมือนกัน

 

 

จากกรณีนี้ น้องมองว่า แม่รักพี่ ดูแลเอาใจพี่มากกว่าตัวเขาเอง ในบางเคส ถ้าน้องมีสัมพันธภาพดีกับแม่ น้องก็จะถามเลยว่า “อยากให้เป็นแบบไหน” “แล้วหนูเป็นแบบไหนล่ะ” “แม่ชอบแบบไหนเหรอ” แต่น้องบางคนไม่ค่อยพูด เป็นคนเงียบ ๆ เขาจะรู้สึกว่า สิ่งที่แม่พูดเหมือนตำหนิเขาเลย พี่ดีกว่าเขาเหรอ เขาไม่เคยรู้เลยว่าพี่ดีกว่าเขาอย่างไร ก็อาจเป็นไปได้ที่ทำให้น้องรู้สึกน้อยใจ โกรธ เศร้า

 

 

ถ้าเป็นไปได้อยากให้ลองถามแม่ดูว่า “พี่ทำแบบไหน” “แม่ชอบแบบไหน” “พี่ทำแบบไหนแล้วแม่รู้สึกดี” หรือจริง ๆ แล้วสิ่งที่แม่พูดจริงหรือเปล่านะ น้องทำไม่ดีเท่าพี่เหรอ

 

 

การสื่อสารที่ตรงไปตรงมา บอกความรู้สึก เป็นการสื่อสารที่ดีที่สุด และชัดเจนที่สุด เมื่อไรก็ตามที่เราไม่พูด ไม่บอกความต้องการ ไม่บอกความรู้สึกที่แท้จริง บางครั้งก็จะเกิดความรู้สึกน้อยใจ รู้สึกไม่ชัดเจน

 

 

การสื่อสารออกไปโดยตรง อยากให้ใช้ I message คือ การพูดความรู้สึกออกไปก่อน เช่น “หนูรู้สึกน้อยใจที่แม่มักเปรียบเทียบหนูกับพี่ หนูต้องทำยังไง หนูต้องเป็นแบบไหน” ซึ่งจะไม่เหมือนกับการไปตำหนิแม่ว่า “อย่าว่าหนูสิ หนูก็ทำดีที่สุดแล้ว” แต่มันเป็นการบอกความรู้สึกตรง ๆ ไปเลยว่า “หนูรู้สึกน้อยใจนะ”

 

 

จริง ๆ อาจเป็นความเคยชินของวัฒนธรรมครอบครัวเหมือนกัน ถ้ามองในมุมมองของพ่อแม่ เขาอาจไม่ได้อยากลำเอียง หรืออยากเลือกปฏิบัติ แต่เหมือนกับว่า นี่คือสิ่งที่เขาถูกใจ เขาชอบ ไม่ชอบอะไร แล้วก็สื่อสารออกไป แต่พอเอาไปขยาย เอาไปเปรียบเทียบก็อาจทำให้คนที่ถูกเปรียบเทียบน้อยใจได้ แต่มันไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่ลำเอียงหรือรักพี่มากกว่า

 

 

อาจจะลองกลับมาดูว่า มีบางอย่างที่พ่อแม่เคยชมเราไหม ถ้าลองกลับมาคิดในอีกมุมมองหนึ่ง เขาอาจชมเราน้อยก็จริง แต่อาจจะไม่มีที่ไม่เคยชมเลย

 

 

สำหรับพ่อแม่อยากให้ลดเรื่องการตำหนิ การสื่อสารที่ทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องหรือกับพ่อแม่ ส่วนใหญ่เพราะเราอยากบอกสิ่งที่เราอยากได้ เป็นคำตำหนิ หรือเป็นคำโกรธออกไป พออีกฝ่ายได้ฟัง ก็ยิ่งกระตุ้นให้รู้สึกโกรธเพิ่มขึ้น

 

 

วิธีการที่จะให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น คือ ไม่ตำหนิกัน ไม่มีอคติต่อกัน พูดความรู้สึกที่รู้สึกจริง ๆ

 

 

ถ้าลูกพูดความรู้สึกออกไปแล้ว พ่อแม่จะรับมืออย่างไร

 

 

บางครั้งการยอมลูกหรือการรับผิดตรง ๆ พ่อแม่จะรู้สึกว่า ฉันมีบทบาทที่เหนือกว่า ฉันเป็นพ่อแม่นะ แต่จริง ๆ แล้วอยากให้พ่อแม่เข้าใจว่า การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูก การเป็นเพื่อนกับลูก มันได้ผลดีที่สุด ถ้าพ่อแม่ยังมองว่า ตัวเองมีบทบาทที่เหนือกว่าลูกเมื่อไร พ่อแม่จะยิ่งรู้สึกเหนื่อย ลองปรับตัวเองดู เมื่อลูกบอกว่าอยากได้อะไร ถ้าสามารถให้ได้ หรือทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้น ลดความน้อยใจได้ พ่อแม่ก็ทำให้เขาไป

 

 

อย่างที่บอกว่า การสื่อสารที่ตรงไปตรงมา บอกทั้งความต้องการและความรู้สึกนั้นดีที่สุด ชัดเจนที่สุด พ่อแม่อาจบอกลูกไปเลยว่า “ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีนะ ลูกชอบอะไรนะ” “เมื่อสักครู่ลูกบอกว่ายังไง” แล้วก็เริ่มบทสนทนาใหม่เลยก็ได้

 

 

แต่ถ้าลูกมาแบบอารมณ์พลุ่งพล่าน ตำหนิเรา สิ่งแรกที่จะเพิ่มความโกรธมากขึ้น คือการมีอารมณ์โกรธใส่กัน ดังนั้น อยากให้พ่อแม่หายใจลึก ๆ มองหน้าลูกนิ่ง ๆ ยิ้มอ่อน ๆ เมื่อไม่มีการตอบโต้หรือตอบกลับในเรื่องที่ไปกระตุ้นอารมณ์ ลูกก็จะรู้สึกเหนื่อย ก็จะค่อย ๆ สงบลง นิ่งลง

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัฐนันท์ ฐาปนาประเสริฐ

แขกรับเชิญ: ชลธิชา แย้มมา

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

 

OTHER