Save teen EP.09 รักวัวให้ผูก รักพ่อแม่ให้เรียนตามที่บอก

22 ตุลาคม 2021 29 ครั้ง

Save teen EP.09 รักวัวให้ผูก รักพ่อแม่ให้เรียนตามที่บอก

เมื่อสิ่งที่พ่อแม่เลือกอยากให้ลูกเรียน เพื่อให้มีอนาคตที่ดี กลับเป็นสิ่งที่ลูกไม่อยากเรียน เพราะมีสิ่งที่อยากเรียนแล้ว ปัญหานี้จะแก้ได้อย่างไร มาฟังคำแนะนำจาก คุณสุพัตรา เตชะฤทธิ์ นักจิตวิทยา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ในรายการ Save teen EP.09 รักวัวให้ผูก รักพ่อแม่ให้เรียนตามที่บอก

 

Q : พ่อแม่ผมขายหมูปิ้ง ลูกชิ้นปิ้ง เขาเลยอยากให้ผมเรียนเก่ง ๆ เลือกคณะที่มีงานทำแน่นอน แต่สิ่งที่ผมอยากเรียน พ่อบอกว่ามันหางานยาก แล้วก็จะลำบากในอนาคต พ่อขายของเจอคนมาเยอะ พ่อก็เลยช่วยวางแผนการเรียนไว้ให้ผมเรียบร้อย แต่ผมไม่อยากเรียนตามที่พ่อวางไว้ให้ ผมอยากเรียนจบไปทำงานให้ได้เงินเยอะ ๆ เหมือนกันนะ จะได้ทำให้พ่อแม่สบาย แต่ผมก็อยากเรียนในสิ่งที่ผมรักแล้วก็อยากเรียนด้วย ผมจะบอกพ่อยังไงดีครับ

 

 

A :  วัยรุ่นที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากมัธยมไปมหาวิทยาลัย เป็นปัญหาที่วิกฤติจริง ๆ สำหรับเด็กบางคน แล้วก็นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตได้ด้วย

 

 

ต้องอธิบายก่อนว่า พ่อแม่จะมีเบ้าหลอมในการใช้ชีวิตของตัวเองมาอย่างโชกโชน เขาจะมองว่า ลูกควรต้องเลือกเรียนสายนี้สิ เช่น สายการแพทย์ที่จบมาแล้วมีงานทำ หรือสายสาธารณสุขที่จบมา แล้วก็ทำงานในด้านสาธารณสุข หรืองานอนามัย พยาบาล เขาจะมีชุดความคิดว่า มีเพียงแค่ไม่กี่อาชีพเท่านั้นที่จะทำให้อยู่รอด เช่น ข้าราชการ ซึ่งเป็นความเชื่อมาตั้งแต่ไหนแต่ไรในเรื่องของสวัสดิการ

 

 

พ่อแม่อาจจะเห็นตัวเองว่าลำบาก ก็อยากส่งต่อความปรารถนาดีนี้ไปให้กับคนที่รัก ลูกที่ฟูมฟักมา เขาคงไม่ได้อยากเห็นลูกมายืนอยู่หน้าเตาร้อน ๆ เหงื่อออก หรือไม่มีโอกาสได้เจอใครที่เป็นสังคมที่กว้างกว่านี้

 

 

มันเป็นประสบการณ์ที่ถูกฝังมาอีกที ถูกส่งต่อเหมือนส่งมอบมรดกทางความคิด แล้วก็ประสบการณ์ชีวิต

 

 

อย่างน้องที่ส่งเรื่องราวเข้ามา เราก็จะเห็นได้ว่า จริง ๆ แล้ว พ่อแม่ก็รักเขา แล้วคงไม่อยากให้เขามาลำบากเหมือนกับที่พ่อแม่เป็น จึงเลือกที่จะวางแผนชีวิตให้ลูกว่า ควรจะต้องเดินตามบล็อกที่วางให้แล้วจะประสบความสำเร็จ

 

 

คุณพ่อคุณแม่อาจต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ยุคเรากับยุคลูกมีความต่างในเรื่องเทคโนโลยี เด็กสมัยใหม่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย เขามีกิจกรรม Open House ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ทำให้เด็กได้เปิดใจหรือเรียนรู้ในสาขาวิชาอื่น ๆ ที่แปลกใหม่สำหรับพ่อแม่อย่างเรา

 

 

จริง ๆ มันเป็นเรื่องของการสื่อสารในครอบครัวที่พอลูกพยายามจะสื่อสารว่า เขาอยากเรียนแบบนี้นะ แล้วมันก็จะกลายเป็นเรื่องของทำไมพ่อแม่พูดแล้วถึงไม่ฟัง สิ่งที่พ่อแม่หวังดี มันเป็นเรื่องที่ลูกไม่เห็นดีเห็นงามใช่ไหม มันออกไปในเรื่องของความเข้าใจของพ่อแม่ว่า ลูกไม่ได้เดินรอยตามในความปรารถนาดีลึก ๆ ของตัวเขา บางคนอาจน้อยใจว่า ลูกไม่ได้ทำตามที่เขาคาดหวังไว้ หรือตัวลูกเองบางครั้งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาก็ไม่ได้อยากทำให้พ่อแม่เสียใจ เขาก็อาจเลือกในสิ่งที่เขาไม่ชอบ

 

 

ลึก ๆ แล้ว ลูกก็ไม่ได้อยากทำให้พ่อแม่เสียใจ การที่ลูกต้องเลือกตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อเป็นการขัดใจพ่อแม่ เราจะเห็นได้หลายครั้งว่า เด็กลำบากใจ และรู้สึกผิดกับตัวเองที่ไม่ได้เป็นลูกที่ดี

 

 

มันเข้ากับสุภาษิตไทย ที่พ่อแม่บอกว่า ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน ฉันรู้ดี แต่โลกของเรากับโลกของลูกมันห่างกัน ทุก ๆ วินาทีคือการเปลี่ยนแปลง อยากเรียนให้พ่อแม่หลาย ๆ ท่านทราบว่า เราหายใจเข้าออก 1 ที คือการเปลี่ยนแปลง เวลา 1 ปีคือการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวไกลมากที่เด็กคนหนึ่งจะเรียนรู้ว่า มันมีหลายอาชีพที่ทำได้

 

 

เด็กบางคนเรียนไม่ไหวในทางที่พ่อแม่เลือกให้ แต่ไม่กล้าบอกพ่อแม่ว่าตัวเองเรียนไม่ไหว เรียนไม่ได้ ไม่มีความสามารถ เพราะไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือ มีภาวะซึมเศร้า มีภาวะเครียด แล้วก็สมาธิไม่ดี แล้วผลกระทบที่ตามมาทีหลังคือ พ่อแม่ไม่เข้าใจว่าสุดท้ายแล้วเพราะอะไรลูกเรียนแล้วยังเกรดตกอีก

 

 

มันเป็นความกดดันที่ลูกต้องแบกไว้ พูดอะไรมากไม่ได้เพราะเดี๋ยวพ่อแม่ก็จะบอกมาว่า เพราะอะไรถึงไม่ทำ ไปทางนี้ดีที่สุดแล้ว

 

 

แต่ก็มีเด็กที่ไปในทางที่พ่อแม่เลือกให้ได้ คือพยายามอดทนฝืนเอา มันอยู่ที่การปรับตัวของแต่ละคน ณ ตอนนั้นด้วย

 

 

ในสถานการณ์แบบนี้ ลูกควรพูดอย่างไรกับพ่อแม่ และพ่อแม่ควรฟังลูก หรือต้องทำอย่างไรเพื่อให้การสื่อสารสอดคล้องไปด้วยกัน

 

 

น้องวัยรุ่น เวลาจะคุยอะไรกับใคร เขาเตรียมข้อมูลมาก ๆ เช่น อยากเรียนวิชานี้ เขามีการศึกษา ข้อมูลแน่นกว่าพวกเราแน่ ๆ ถ้าอยากจะคุยกับพ่อแม่จริง ๆ ขอให้หนักแน่นในสิ่งที่เราอยากจะทำก่อน คือเตรียมใจของตัวเองก่อนว่า วันนี้สิ่งที่เราจะคุยคืออะไร วัตถุประสงค์ของการคุยในครั้งนี้ เราคุยเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไร เช่น คณะนี้ดีอย่างไร จบแล้วไปทำอะไรได้บ้าง สามารถต่อยอดหรือพัฒนาชีวิตของตัวเองได้อย่างไรบ้าง

 

 

สำคัญคือ commitment เรียนแล้วเราจะดูแลตัวเองอย่างไรให้ดีด้วย แล้วก็มีความภาคภูมิใจกับสิ่งที่เราเลือก อันนี้สำคัญมาก เพราะมันเป็นการให้คำมั่นสัญญากับคนที่เราไปบอกด้วยว่า “หนูตั้งใจ แล้วจะทำให้เห็นว่า สิ่งที่หนูเลือกมันไม่ใช่เรื่องผิด แล้วการที่หนูไม่ได้เลือกสิ่งที่พ่อแม่เลือกให้ พ่อแม่ก็ไม่ผิด เพราะหนูรู้ว่ามันเป็นความคาดหวัง” อันนี้มันอยู่ที่การเตรียมใจ ความกล้า

 

 

ฝั่งผู้ปกครอง ทักษะที่สำคัญที่สุดคือ อย่าเพิ่งตั้งการ์ดลุกขึ้นมาบอกว่า สิ่งที่ลูกเลือกไม่ใช่สิ่งที่ดี ฟังด้วยหูใจของตัวเองก่อน ถ้าฟังด้วยหู เราจะได้ยินแค่เสียงในสิ่งที่ลูกพูด แต่ถ้าเราฟังด้วยหูใจเราจะได้ยินถึงความรู้สึกและความต้องการ

 

 

ฝากถึงคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่กำลังเลี้ยงลูกวัยรุ่น ชื่นชมทุกท่านที่รักลูก แล้วก็อยากให้ลูกได้แนวทางที่ดีในการใช้ชีวิต แต่เบ้าหลอมของเรา ไม่อาจเอาไปสวมในเบ้าหลอมของลูกได้ เพราะฉะนั้น การฟัง การเปิดใจ และการเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ลูกเลือก คือสิ่งที่เขาจะรับผิดชอบตัวเองได้ ท่านทั้งหลายอาจจะเป็นคนที่กระตุ้น ทำให้เขาฝึกรับผิดชอบตัวเอง เพราะการเลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ มันคือการรับผิดชอบตัวเองไปในระยะยาวตลอดชีวิต

 

 

ต้องเปิดใจรับฟังก่อน สิ่งที่เราไม่ชอบในวันนี้ในสิ่งที่ลูกเลือก มันอาจเป็นสิ่งที่ดีมากในอนาคต และเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการก็ได้ ฟังลูกให้มากขึ้น การฟังเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แล้วเคารพเขาเหมือนกัน การเคารพกันและกันเป็นสิ่งที่ดี

 

 

บทบาทของพ่อแม่ คือการอุปการะและสนับสนุนให้ลูกไปในทิศทางที่เขาควรจะเป็น ดีหรือไม่ดี เราแค่เตือนเขาว่า ท้ายที่สุดแล้ว ลูกเองจะเป็นคนที่รับผิดชอบชีวิตที่เหลืออยู่ของลูกได้ แต่พ่อแม่ก็จะเป็นลมใต้ปีกทำให้เขาโตไปได้ไกลกว่านี้

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ:  รัฐนันท์ ฐาปนาประเสริฐ

แขกรับเชิญ: สุพัตรา เตชะฤทธิ์ 

บรรณาธิการ:  นันทิญา จิตตโสภาวดี

กองบรรณาธิการ: นมิดา แพ่งสภา, ปัณณธร ใสแสง, รุจา สุขพัฒน์, นีรชา คัมภิรานนท์, สุสมา สุขพัฒน์

ศิลปกรรม:  ฐานิสร์  ริ้วสุวรรณ, เอกชัย เธียรสรรชัย
นักออกแบบเสียง:  ธัญธนวรัท  ชนกชัด

ฝ่ายผลิต: ชลธิศ กรดี

ที่ปรึกษา:  วันชัย  บุญประชา, ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

 

OTHER